การจักสาน คืองานหัตถกรรมอย่างหนึ่ง นับเป็นงานฝีมือที่คนไทยทำกันมาช้านาน เป็นการนำวัสดุขนาดเล็กมาขัด หรือสานกันจนเป็นชิ้นงาน เช่น เสื่อ ตะกร้า ตะกร้อ เป็นต้น อย่างทางภาคใต้ของไทยเอง มีชาวบ้านซึมซับการสานกระจูดมาแต่โบราณ
สำหรับกระจูดเป็นพันธุ์ไม้จำพวก “กก” มีลักษณะลำต้นกลมสีเขียวอ่อน สูงประมาณ 1-2 เมตร ออกดอกเป็นกระจุก นิยมนำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิทแล้วสานเป็นเสื่อกระจูด พบมากในพื้นที่ป่าพรุของตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งต้นกระจูดคุณภาพดี สวย เหนียว และทน โดยกลุ่มองค์กรชุมชนที่ตำบลเคร็ง มักนำกระจูดมาจักสานเป็นของใช้สอยในครัวเรือน เป็นวิถีการดำรงชีวิตมาตั้งแต่อดีต เป็นภูมิปัญญาของคนเคร็งที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นปู่ย่าตายาย สู่รุ่นลูกหลานจนถึงปัจจุบัน
“ดอกจูดบาน” เป็นผลผลิตของการพัฒนาอำเภอชะอวด เป็นผลผลิตของการพัฒนาของกลุ่มองค์กรชุมชนตำบลต่างๆ ในอำเภอชะอวด เป็นผลผลิตของการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชน นั่นถือเป็นผลผลิตของการพัฒนาประเทศนั่นเอง
ต้นทางของดอกจูด มาที่มาจากการที่กลุ่มองค์กรชุมชนในตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีอาชีพสานเสื่อกระจูดที่ใช้สำหรับปูนอน ทำให้เกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมการจักสารเสื่อกระจูด ตั้งแต่.. ถ่อเรือออกไปถอนในป่าพรุควนเคร็ง นำมารวมกันมัดเป็นกำ (มีหน่วยเรียกเป็นมัด) .. แล้วนำมาตัดหัว-ตัดท้าย .. นำไปคลุกกับโคลนตม ตากผึ่งแดดให้แห้ง รูปแบบแบบกับพื้นและหรือแบบกระโจม .. แห้งแล้วนำมาตำให้แบนด้วยสากบนกระจูด..แล้วนำมาจักสาน.. ลายสอง..ลายสาม..ลายลูกแก้วหรือลายประดิษฐ์อื่นๆ ตามความถนัด เม้มขอบ..ตัดหนวด..จนกลายเป็นผืนใช้ปูนอนได้ ตามลำดับ.. เมื่อได้จำนวนมากพอสมควรแล้วคอยโอกาสนำไปขายหรือขายส่งต่อแม่ค้าพ่อค้าคนกลาง ถ้าขายนอกพื้นที่ก็จะขายที่ตลาดชะอวดหรือที่อำเภอเมืองนครฯ ในงานเทศกาลต่างๆ
ทั้งนี้ งานดอกจูดบานเริ่มมีแนวคิดตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ถึงปัจจุบัน โดยมีแนวคิดในการสานเสื่อกระจูดที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนเคร็ง “ดอกจูด” จึงหมายถึงสัญญลักษณ์โดยองค์รวมของผลผลิตทางด้านการเกษตรทุกชนิดและหรือทุกประเภทในอำเภอชะอวด “บาน” หมายถึง เผยออก โดยมองรูปกิริยา (แช่มชื่น)
คำว่า “ดอกจูดบาน” จึงหมายถึง ผลผลิตทางด้านการเกษตรในอำเภอชะอวดเพิ่มมากขึ้น หรือแช่มชื่นขึ้น หรือเผยออกให้เห็นผลผลิตทางด้านการเกษตรในอำเภอชะอวด
ปัจจุบันสภาองค์กรชุมชนตำบลเคร็ง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากลุ่มอาชีพการสานเสื่อกระจูด (สานสาดจูด) โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนการเกษตร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
ยึดโยงการพัฒนาท้องถิ่นคือการพัฒนาประเทศทางวัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
- วัฒนธรรมโลก คือ สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
- วัฒนธรรมชาติ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจการเมือง
- วัฒนธรรมท้องถิ่น คือ ปัจจัย 5 องค์ประกอบวิถีชีวิต
โดยสภาองค์กรชุมชน ยึดโยงเอาวัฒนธรรมท้องถิ่น องค์ประกอบ ปัจจัย 5 องค์ประกอบวิถีชีวิต ซึ่งประกอบด้วย การดำรงชีพ ภาษาและวรรณกรรม ศาสนา ศิลปะการละเล่น สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งองค์ประกอบนี้ มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับการส่งเสริม/การสนับสนุนการเกษตรกรรมตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของงานดอกจูดบาน แต่ 5 องค์ประกอบนี้จะพัฒนามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมระดับชาติ ที่กำหนดนโยบาย และดำเนินจัดทำแผนพัฒนาขึ้นให้สอดคล้องและตอบสนองต่อนโยบายทุกข้อ ระดับท้องถิ่นเป็นระดับปฏิบัติตามแผนพัฒนาดังกล่าวแล้ว ถ้าพูดให้ง่ายก็คือ ประชาชนปฏิบัติ หน่วยงานรัฐสนับสนุนและส่งเสริม “งานดอกจูดบาน” กำเนิดขึ้นโดยเหตุนี้ในรูปแบบของการนำเสนอต่อสาธารณชน นำไปสู่วัตถุประสงค์ คือ ส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอชะอวดด้วยประการหนึ่ง
สภาองค์กรชุมชนตำบลเคร็ง ได้รับความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลเคร็ง ได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น 4 ปี (พ.ศ.2561 – 2564) ได้แก่ (1) ส่งเสริมอาชีพและอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มต่างๆในตำบลเคร็ง จำนวน 30,000 บาท เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพ และอบรมให้ความรู้เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มต่างๆในตำบลเคร็ง (2) ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลเคร็ง จำนวน 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุตำบลเคร็งมีคุณภาพชีวิตและอาชีพที่ดีขึ้น และ (3) พัฒนาการเรียนรู้ตามแนวปรัชณาเสรษฐกิจพอเพียง จำนวน 35,000 บาท เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักชีวิตที่พอเพียง เห้นคุณค่าทรัพยากรที่มีอยู่
สภาองค์กรชุมชนตำบลเคร็ง ใช้กลยุทธ์สำคัญด้านการจัดการทรัพยากรผนวกรวมด้านการท่องเที่ยว ในการการกระจายรายได้จากประชาชนที่ร่ำรวย ไปสู่ประชาชนที่ยากแค้นกว่า การแสวงหาอากาศที่บริสุทธิ์ในชนบท หรือชายทะเลเพื่อการมีชีวิตที่ดีขึ้น การแสวงหาความรู้ใหม่ ข้อมูลใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาและดูงานเพื่อนำประสบการณ์มาใช้ในการพัฒนาความรู้ ฯลฯ รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนวัฒนธรรม เพราะชุมชนมีทรัพยากรพื้นฐานในการท่องเที่ยว ประกอบด้วย
- ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ซึ่งสร้างสมมาเป็นพันเป็นหมื่นปี เช่น ภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ ทะเล และความงามตามธรรมชาติ
- ความมหัศจรรย์ทางวัฒนธรรม ซึ่งมนุษย์ได้สร้างขึ้น สืบทอดและรักษาสืบต่อกันมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเผ่าชน เช่น ความงามของบ้านเมือง ศิลปะ การดำรงชีพ ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวิถีชีวิต ฯลฯ
- วัฒนธรรม เป็นจิตวิญญาณหรือรูปแบบของการดำรงชีพของคน ของเผ่าพันธุ์ซึ่งแตกต่างกันไป ตามสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม และประเพณี
สภาองค์กรชุมชน มีข้อตกลงสำคัญ คือ ถ้าจะพัฒนาการท่องเที่ยว ต้องทำนุบำรุงรักษาทรัพยากร และจัดการต้อนรับผู้มาเยือนที่มีรสนิยมและความต้องการที่แตกต่างกัน โดยได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนจากผู้เดินทาง มีความรัก ความเข้าใจ ผูกพันเพื่อนมนุษย์และสถานที่ไปเที่ยวพักผ่อน
ปัจจุบันสภาองค์กรชุมชนตำบลเคร็ง เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน โดยยึดโยงเอาการนำเอาวิถีชีวิตชุมชน มาส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้ชุมชนรักษาอัตลักษณ์ที่ตนเองมีอย่างยั่งยืน และมีข้อตกลงร่วมในการใช้ประโยชน์ กล่าวคือ
1) การประมง เป็นการทำประมงเพื่อการยังชีพและการค้าของชุมชน
2) ป่าไม้ ประชาชนในพื้นที่ใช้ไม้เสม็ดเพื่อการดำรงชีพเชิงเกษตร
3) วัตถุดิบ เป็นแหล่งกระจูดซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับทำหัตถกรรมเสื่อของชุมชน
4) คมนาคม การใช้เส้นทางน้ำระหว่างชุมชนที่อยู่ตอนเหนือทะเลสาบกับชุมชนทะเลน้อย
5) หาของป่า พื้นที่พรุเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของครัวเรือนในพื้นที่ เนื่องจากเป็นแหล่งพืชผักและสมุนไพร
6) น้ำ มีการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทคูคลองเพื่อการเกษตรในพื้นที่
7) ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ พื้นที่พรุที่เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และการปกป้องร่วมกันของชุมชนตามวิถีธรรมชาติ
การมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการอนุรักษ์ ในพื้นที่นี้ชาวบ้านมีความต้องการอนุรักษ์ไว้ เนื่องจากพื้นที่เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ชุมชนมีส่วนอนุรักษ์พื้นที่พรุ ได้แก่ การจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเชื่อมโยงการพัฒนากับ อปท. เป็นต้น
ผู้ประสานงาน นาย มนตรี คำสงค์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเคร็ง
โทร. 089-4811086