ตำบลปากน้ำเป็นตำบลหนึ่งใน 16 ตำบลของอำเภอเมืองชุมพร ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองชุมพร ประมาณ 13 กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ราบติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ 20.30 ตารางกิโลเมตร และมีเกาะซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบอยู่ 3 เกาะ คือ เกาะง่ามน้อย เกาะง่ามใหญ่ ซึ่งเป็นเกาะรังนกอีแอ่นตามธรรมชาติ และเกาะเสม็ด ซึ่งจะพัฒนาเป็นที่ท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต
ตำบลปากน้ำ ตั้งเป็นตำบลในรัชกาลไหนไม่แน่นอน จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสจังหวัดชุมพร ได้มีคนไทยและคนจีนที่มาค้าขายและตั้งรกรากในตำบลโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดคือนายเผดิม อังสุสิงห์ และต่อมาได้ร่วมกันสร้างโรงเรียน ชื่อโรงเรียนเผดิมจีนนาวาสงเคราะห์ ในปี 2571 ปัจจุบัน คือโรงเรียนปากน้ำชุมพร นอกจากนั้นตำบลปากน้ำยังเป็นแหล่งชุมชนดั้งเดิมที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นแหล่งอาหารทะเลแปรรูปที่มีชื่อเสียง
ตำบลปากน้ำมีพื้นที่ 20.30 ตารางกิโลเมตร (จำนวนพื้นที่ทั้งสิ้น 13,799 ไร่) และมีเกาะซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบอยู่ 3 เกาะ คือ เกาะง่ามน้อย เกาะง่ามใหญ่ ซึ่งเป็นเกาะรังนกอีแอ่นตามธรรมชาติ และเกาะเสม็ด ทิศเหนือ ติดต่อกับเทศบาลตำบลปากน้ำชุมพร ทิศใต้ติดต่อกับตำบลหาดทรายรี ทิศตะวันออกติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดต่อกับตำบลท่ายาง
ตำบลปากน้ำ ประกอบด้วยหมู่บ้าน จำนวน 10 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตเทศบาลตำบลปากน้ำจำนวน 3 หมู่บ้าน และเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำเต็มพื้นที่ จำนวน 6 หมู่บ้าน และอีก 1 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 7 จะมีพื้นที่ทั้งในเขตเทศบาลตำบลปากน้ำชุมพรและบางส่วนอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ
สภาองค์กรชุมชนตำบลปากน้ำจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 ภายใต้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 โดยมีนาย สุทธิพงษ์ สุนาพันธ์ เป็นประธาน มีกลุ่มร่วมจดแจ้งจำนวน 6 กลุ่ม มีสมาชิกสภาฯ 14 คน ซึ่งหลังจากได้จัดตั้งแล้วสภาองค์กรชุมชนได้จัดประชุมเพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่และจัดทำเป็นแผนพัฒนาตำบล โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า มีจุดแข็งอยู่หลายจุด อาทิเช่น มีพื้นที่ของตำบลที่ติดกับอ่าวไทย เอื้อต่อการพัฒนาท้องถิ่นเป็นอย่างมาก มีสถานที่ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญภายในตำบลหลายแห่ง มีสภาพพื้นที่เอื้อแก่การประกอบอาชีพทางทะเลและการเกษตร ไม่มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลาย ทั้งทางบกและทางทะเล
มีเกาะในพื้นที่ 6 เกาะ คือ เกาะง่ามน้อย และเกาะง่ามใหญ่ เกาะกะโหลก เกาะทะลุ เกาะหลักง่าม และเกาะเสม็ด มีถนนสายหลักคมนาคมไปสู่ตัวจังหวัดได้โดยสะดวก องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือในการพัฒนาท้องถิ่นเป็นอย่างดี
ส่วนจุดอ่อนของพื้นที่ได้แก่
งบประมาณที่ได้รับไม่สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ บุคลากรบางส่วนยังขาดความรู้ และทักษะที่ใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ งบประมาณมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ไม่สามารถพัฒนาท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเต็มที่ ระเบียบกฎหมายยังไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน ทำให้เกิดความล่าช้า ไม่คล่องตัวเท่าที่ควร มีการบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์ เป็นจำนวนมาก
สำหรับโอกาสที่สำคัญของพื้นที่ปาน้ำชุมพรคือ
มีการปฏิรูประบบราชการใหม่ ที่เน้นผลสัมฤทธิ์ของงานและผู้รับบริการเป็นหลัก โดยปรับปรุงระบบการจัดการบุคลากร เทคโนโลยี ระบบบริหารและงบประมาณทำให้การบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลสำเร็จในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้น
เกิดการสนับสนุนให้ทุกชุมชนในท้องถิ่น มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองเกี่ยวกับความเป็นอยู่ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การปกครอง และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมระดับรากหญ้า ให้มีความเข้มแข็ง
มีนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ มีมาตรฐานการบริการระดับสากล ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมไทย ส่งผลให้องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำมีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของธุรกิจทางทะเลของจังหวัด สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่
มีระบบการติดต่อสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง และใช้ระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง
ส่วนในเรื่องของอุปสรรคที่สำคัญคือ
ด้วยอาชีพหลักของประชาชน คือ ประกอบอาชีพทางการประมง ช่วงหน้ามรสุมมักจะเกิดปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้การพัฒนาไม่ต่อเนื่อง การประกอบอาชีพทางทะเลต้องหยุดชะงัก
การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากการหนุนของน้ำทะเล
แรงงานต่างด้าวในพื้นที่มีเป็นจำนวนมาก ทำให้แรงงานในท้องถิ่นเกิดการว่างงาน
มีปัญหาด้านยาเสพติด และปัญหาโรคเอดส์
รัฐบาลไม่สามารถประกันราคาผลผลิตทางการเกษตรและทางทะเล ตามความต้องการของประชาชนผู้ประกอบอาชีพได้
ภาวะราคาน้ำมันแพงและไม่คงที่ ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลมีราคาสูง และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
จุดเด่นของพื้นที่ ประชาชนส่วนใหญ่ในตำบลปากน้ำประกอบอาชีพประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องการประมง เกษตรกรรม และธุรกิจส่วนตัวเป็นตำบลที่ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ เหมาะสำหรับบุคคล บริษัท ห้างร้านที่จะลงทุนในภาคใต้หรือจังหวัดชุมพร ตำบลปากน้ำเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การลงทุนเป็นอย่างมาก มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย ทั้งในส่วนราชการและเอกชน อาทิเช่น สถานีตำรวจภูธร โรงพยาบาล องค์การโทรศัพท์ สำนักงานไฟฟ้า ไปรษณีย์ ท่าเทียบเรือ ประปา ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว
การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน
สภาองค์กรชุมชนได้ดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเอง ภายใต้ศักยภาพและต้นทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรที่มีอยู่ โดยในการพัฒนามีจุดมุ่งหมายคือ เพื่อพัฒนาแหล่งที่พักและแหล่งท่องเที่ยวในตำบล และเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวกับตำบลใกล้เคียงเพื่อให้สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวได้ดังนี้
เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วิถีชุมชน
เส้นทางที่ 1 ล่องเรือชมวิถีชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำท่าตะเภา (ปากแม่น้ำ – ตลาดน้ำคูขุด)
เรือออกจากบ้านริมน้ำโฮมสเตย์ตั้งแต่เช้า ล่องเรือจากปากน้ำชุมพรเพื่อชมวิถีชุมชนหมู่บ้านชาวประมง ชมการทำปลาหมึกแห้ง การแกะเนื้อปูม้า การแกะเนื้อหอยแมลงภู่ ชมกลุ่มเลี้ยงปลากระชังที่ตำบลท่ายางและหมู่บ้านคูขุดตำบลบางหมาก
เรือออกจากบ้านริมน้ำโฮมเสตย์
ล่องเรือชมวิถีชุมชน
ชมหมู่บ้านชาวประมง
แวะทานอาหารเที่ยงพื้นบ้านจิบกาแฟ Drip ที่คั่วเอง ชงเองด้วยกาแฟอาราบิกาชั้นดีของจังหวัดชุมพรที่ร้านกาแฟลุงต้ม กาแฟชุมพร ซึ่งเป็นบรรยากาศบ้านสวนริมน้ำ และบ่ายเดินทางต่อไปยังตลาดน้ำคูขุด เดินหาของกินของฝากจากตลาดแล้วเดินทางกลับบ้านริมน้ำโฮมสเตย์
แวะจิบกาแฟร้านลุงต้ม (ดริปคั่วเอง)
ตลาดริมน้ำวัดคูขุด เที่ยวชม สินค้าภูมิปัญญาไทย อาหารเลิศรส
เส้นทางที่ 2
ล่องเรือชมอุโมงค์โกงกางแลดูวิถีชุมชนคลองอีเล็ต (ปากแม่น้ำท่าตะเภา – อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร)
เรือออกจากบ้านริมน้ำโฮมสเตย์ตอนเช้า ล่องเรือขึ้นไปเลี้ยวที่แยกคลองอีเล็ต เพื่อเข้าชมวิถีชุมชนคนริมคลองอีเล็ต ชมป่าชายเลน และแวะพักที่ท่าเรือกลุ่มประมงพื้นบ้าน พักดื่มน้ำกาแฟ จากนั้นจะมีเรือเล็กลำละ 3 คน (รวมคนขับ) พาเข้าชมอุโมงค์ป่าโกงกางซึ่งยังสมบูรณ์ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที
กลับมาท่าเรือแล้วเดินทางต่อไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เดินชมความสมบูรณ์ของป่าชายเลน ชมทุ่งโป่งทองผืนใหญ่ ฯลฯ พักทานอาหารเที่ยงที่อุทยาน จากนั้นเดินทางกลับ
หมายเหตุ * ใช้เวลาโดยประมาณ 5 – 6 ชม.
ล่องเรือเลี้ยวเข้าคลองอีเล็ต
ชมวิถีชุมชนริมน้ำ
ชมป่าชายเลน
ชมป่าอุโมงค์โกงกาง (ธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์)
เส้นทางที่ 3 ปั่นจักรยานชมธรรมชาติและวิถีชุมชน (ปากน้ำชุมพร – หาดทรายรี)
ออกจากปากน้ำชุมพรตอนเช้าด้วยจักรยาน จักรยานยนต์หรือรถยนต์ ไปทางถนนเลียบชายทะเลผ่านหาดภราดร แวะเข้าหมู่บ้านชาวประมงผาแดงเพื่อชมวิถีชุมชนและทัศนียภาพที่สวยงาม จากนั้นแวะชมกลุ่มแม่บ้านผลิตผ้าบาติก ทดลองทำผ้าบาติกและสามารถหาซื้อเป็นของฝากได้ และปั่นจักรยานต่อไปที่หาดทรายรีไหว้เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และแวะเที่ยวชุมชนชาวประมงอ่าวทุ่งมะขามน้อย ซึ่งยังคงรักษาวิถีดั้งเดิมวิวทิวทัศน์ รวมถึงมีหาดทรายยาวสวยงามมาก
หาดภราดรภาพ
หมู่บ้านประมง
กลุ่มบาติกผาแดง
เดินทางต่อไปที่วัดถ้ำโพงพางมาสักการะหลวงพ่อบุญมา ชมอุโบสถหลังงามด้วยงานปฏิมากรรมอยู่ติดชายทะเล ชมถ้ำโพงพางซึ่งหลวงปู่บุญมาเคยใช้ปฏิบัติธรรม จากนั้นแวะทานอาหารเที่ยงที่ภูฟ้านาเลรีสอร์ท (รีสอร์ทเชิงเขา) เดินทางเข้าเที่ยวชมอุทยานหมู่เกาะชุมพร ชมความสมบูรณ์ของป่าชายเลน แวะชุมชนชาวประมงอีเล็ต ลงเรือชมอุโมงค์โกงกางกลับออกมาเข้าชมฟาร์มปูดำ สุดท้ายด้วยการขึ้นจุดชมวิวเขามัทรี เพื่อชมวิวเมืองปากน้ำชุมพรและท้องทะเลด้วยวิว 360 องศา และกลับที่พัก
อุโบสถหลังงามติดชายทะเล
เส้นทางที่ 4 ปั่นจักรยานชมธรรมชาติวิถีชุมชน (ปากน้ำชุมพรสายเก่า – หาดทุ่งวัวแล่น)
ออกจากปากน้ำชุมพรสายเก่าโดยจักรยานเลี้ยวขวาไปคอสน ปั่นเลียบชายทะเล ชมทัศนียภาพและอากาศที่บริสุทธิ์ แวะชมหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้านที่ชุมชนปากหาด จากนั้นออกเดินทางไปยังหาดทุ่งวัวแล่น ซึ่งสองข้างทางจะผ่านทั้งทะเล ลำน้ำลำคลอง นากุ้ง แผงขายของของชาวไร่ชาวสวนและชาวประมงที่นำผลผลิตของตนออกมาวางขายตามข้างทางซึ่งได้บรรยากาศของวิถีชุมชนดั้งเดิมแถมยังมีราคาที่แสนถูกรวมถึงปลอดสารพิษ นอกจากนี้ยังสามารถแวะพักดื่มน้ำดื่มกาแฟก็จะมีร้านค้าตั้งอยู่เป็นระยะ เมื่อสิ้นสุดระยะทางที่หาดทุ่งวัวแล่นก็จะนั่งพักผ่อนกันที่ริมหาด เล่นน้ำทะเล ซึ่งเป็นการเที่ยวใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ จากนั้นก็ค่อยเดินทางกลับเส้นทางเดิม และขากลับอาจจะแวะนั่งหาหอยที่หาดคอสนอีกสักพักก็ได้ ทั้งนี้มีรถบริการ ข้าวกล่อง น้ำดื่มและผลไม้บริการให้ตลอดเส้นทาง
เส้นทางที่ 5 ล่องเรือดำน้ำชมปะการัง (เกาะง่ามใหญ่ เกาะร้านเป็ดร้านไก่)
จากท่าเรือริมน้ำโฮมสเตย์ ล่องเรือไปยังเกาะง่ามใหญ่ เกาะร้านเป็ดร้านไก่ ชมปลาวาฬและวาฬบรูด้า (ถ้าท่านโชคดีอาจได้พบ) ดำน้ำชมปะการัง ชมปลาเล็กปลาน้อยใต้ท้องทะเลใส จะตกปลาก็ทำได้ในโซนที่ทางอุทยานอนุญาต หรือในยามค่ำคืนก็สามารถหาเรือไปตกหมึกได้หากท่านต้องการ
เส้นทางที่ 6 กางเต็นท์ แคมป์ปิ้งที่ผาแดง
เป็นโปรแกรมที่อยากแนะนำ เพื่ออยู่และสัมผัสกับวิถีชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน นั่งเรือหางยาวเที่ยวเกาะเสม็ดซึ่งไม่ไกลจากฝั่งมากและยังมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติเพราะยังไม่มีความเจริญเข้าถึง หรือจะหาหอย หาปลา หาปู หาหมึกกับชาวบ้านก็ได้ มาสัมผัสและคลุกคลีกับชาวบ้านพื้นถิ่น พอมืดค่ำก็ล้อมวงรอบกองไฟทำกิจกรรมกัน ทำอาหารที่ไปหามาเองหรือซื้อจากชาวบ้านได้ตามใจชอบ นอนชมดาวชมเดือนบนหน้าผาแดง ลมพัดเย็นสบาย
การประสานความร่วมมือ
การดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนในการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยเพื่อให้คนผู้ยากไร้ในตำบลได้มีที่อยู่ที่มั่นคง แข็งแรงปลอดภัย นั้น ได้รับความร่วมมือที่ดีจากองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนทุกหมู่บ้านเป็นอย่างดีในการร่วมมือกันลงแรงซ่อมแซมบ้านกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้ง พอช. ที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ในขณะเดียวกันคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนได้จัดทำข้อเสนอการพัฒนาตำบลเสนอต่อองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้บรรจุในแผน 3 ปี (ปี 2560 – 2562)
ซึ่งส่งผลให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบล นำเข้าบรรจุในแผนที่สำคัญได้แก่ (1) โครงการอบรมด้านอาชีพจำนวน 25,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้มีอาชีพเสริมในครัวเรือน (2) สนับสนุนการช่วยเหลือด้านสวัสดิการ สังคมจำนวน 100,000 บาทเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือด้านสวัสดิการให้ประชาชน
สิ่งที่ค้นพบจากการดำเนินงาน 1)ประชาชนได้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ของดีในพื้นที่ตำบลและเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่มีอยู่ 2)มีความร่วมมือกันดีของประชาชน ส่วนท้องถิ่นและผู้นำในการเก้บข้อมูลและร่วมวางแผนการทำงาน 3)เกิดแผนงานที่ชัดเจน
อุปสรรคในการดำเนินงาน 1) ต้องใช้ระยะเวลาทำความเข้าใจกับชุมชนนาน 2)ข้อมูลมีมากยังขาดการนำมาปรับแต่งให้สวยงามน่าชม 3)การประสานงานยาก
แผนงานในระยะต่อไป 1) ขยายผลการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามแผนงานที่วางไว้ 2)ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุน
ติดต่อ/ประสานงาน
นายไมตรี พงษ์พานิช บ้านเลขที่ 161 หมู่ 9 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
มือถือ 0967481204