ปัญหาด้านความปลอดภัยทางอาหาร เป็นวาระหลักๆของประเทศ ปัจจุบัน การรณรงค์สาธารณะ ‘ปฏิรูปต้นธารความปลอดภัยทางอาหาร’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร (food supply chain) หรือจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร (from farm to table) และห่วงโซ่อุปทานการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (supply chain) ที่ถูกครอบงำจากบรรษัทที่ขาดความรับผิดชอบ (corporate responsibility) และจริยธรรมทางธุรกิจ (business ethics) แต่มีกลไก ช่องทาง และอำนาจกำหนดกฎหมายและนโยบาย จึงต้องปฏิบัติการกำกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรให้มีธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบนมาตรการทางกฎหมายที่เป็นรูปธรรมรองรับโดยเฉพาะเกษตรกรและผู้บริโภคที่จะเข้าไปต่อกรกับพันธมิตรสารพิษที่ขมีขมันแก้ต่างให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (pesticide defense) เพราะนั่นเท่ากับเป็นการแก้ต่างความผิดให้ตนเอง (self defense) ปรากฎการณ์เหล่านี้ขยายผลสู่คนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะส่งผลกระทบในระยะยาวกับสุขภาพอนามัยของชุมชน
จากข้อมูลการสังเคราะห์ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงของสภาองค์กรชุมชนตำบลนาท่อม อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง พบรูปธรรมการจัดการอาหารปลอดภัยโดยชุมชนแบบมีส่วนร่วม เกิดจากการระเบิดจากภายในของคนในชุมชน จนค่อย ๆ เติบโตเกิดพัฒนาการกิจกรรมเสริมพลังมาสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านสุขภาพในระดับชุมชน ที่เริ่มจากการพบสารเคมีตกค้างในร่างกาย 97 % เกิดการรับรู้ มีความตะหนักสร้างกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ครัวเรือนต้นแบบปลูกผักปลอดสารพิษบริโภคในครัวเรือน 20 ชนิด รณรงค์ลด ละ เลิกใช้ยาฆ่าหญ้า เลิกใช้ยาฆ่าแมลง ส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งจากภูมิปัญญา ผลิตปุ๋ยใช้เอง ใช้ปิ่นโตสุขภาพจากพืชผักที่ปลูกเองต้อนรับแขกผู้มาเยือน สร้างตลาดเขียวในชุมชนรองรับผลผลิตที่เหลือกิน รวมกลุ่มแปรรูปผลผลิตอาหารปลอดภัยที่มีเครื่องหมาย Q รองรับ และยังมีหน่วยงานเทศบาลตำบลนาท่อม รพ.สต.ตำบล นาท่อมเห็นสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับวิสัยทัศน์ “วัฒนธรรมเลิศล้ำ เกษตรกรรมยั่งยืนชุมชนน่าอยู่ สู่ตำบลสุขภาวะ” ได้สนับสนุนกิจกรรมหนุนเสริมเพิ่มเพื่อขยายผล ได้แก่ โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกผักปลอดสารพิษ ส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง ตลาดของดีตำบลนาท่อม ฯลฯ ซึ่งมีเป้าหมายระยะยาว เป็นตำบลที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน การสังเคราะห์กรณี กรณีชุมชนบ้านหูยาน พบว่า การผลิตอาหารปลอดภัยของชุมชนบ้านหูยานนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนตำบลนาท่อม ที่มี 8 หมู่บ้าน ประชากร 4,777 คน จำเป็นอย่างยิ่งต้องขยายผลการดำเนินงานของชุมชนต้นแบบ คือ ชุมชนบ้านหูยานนำไปปรับใช้ ขยายพื้นที่ และสร้างครอบครัวต้นแบบ ให้ครอบคลุมทั้งตำบล
ทั้งนี้ สภาองค์กรชุมชนตำบลนาท่อม มีกระบวนการสำคัญ ในการพัฒนาประเด็นดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการอาหารที่ปลอดภัยในชุมชน และขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ในตำบลนาท่อม ทั้งตำบล
โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ชุมชนเท่าทันต่อข้อมูลสถานการณ์การดำเนินงานระบบอาหาร ในประเด็นความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการสมวัย เพื่อใช้ในการหารูปแบบแนวทางการจัดการระบบอาหารปลอดภัยระดับตำบลนาท่อม ในประเด็น ความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการสมวัย อย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน กำหนดเป็นแผนงานหลักในระดับตำบล โดยมรพื้นที่ต้นแบบในระดับหมู่บ้าน เพื่อขยายผลให้ครอบคลุมทั้ง 8 หมู่บ้าน
มีเครื่องมือสำคัญ คือ ข้อมูลแผนที่ระบบอาหารทั้งตำบลนาท่อม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งคนในตำบล หน่วยงานในระดับพื้นที่ กำหนดเป็นรูปแบบความปลอดภัย วัดจากสุขภาพของคนในตำบล และการพึ่งพาอาหารจากภายนอก ขยายผลสู่ยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด
การดำเนินการ และรูปธรรมสำคัญ
สภาองค์กรชุมชนมีกิจกรรมสำคัญ ในการประชุมสร้างความเข้าใจสมาชิกสภาแกนนำฯและครัวเรือนต้นแบบ โดย
- สร้างครัวเรือนขยายผลการเลี้ยงผึ้งกับสมาชิกใหม่ 25 ครัวเรือน
- การบันทึกบัญชีครัวเครือนของครัวเรือนต้นแบบสวนผัก จำนวน 50 คนเพื่อเก็บข้อมูลวิเคราะห์นำมาสู่การแก้ปัญหา ครอบครัว ชุมชน
- พัฒนาการเลี้ยงผึ้งเป็นสูตรชุมชน 1หลักสูตร
- ครัวเรือนต้นแบบ 50 คนเรียนรู้การทำบัญชีครัวเรือนตามแบบฉบับของธนาคาร ธกส. และเชิญวิทยากรจาก ธกส เป็นผู้สอน และร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลจากบัญชีครัวเรือน 3 เดือน/ครั้ง จำนวน 4 ครั้ง เพื่อรู้ตนเองโดยใช้ทฤษฎีหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นครอบในการวิเคราะห์
และเป้าหมายสุดท้าย คือการพัฒนาตลาดเขียวพื้นที่คนรักษ์สุขภาพมีการรับรองมาตรฐานสินค้าอาหารปลอดภัย เพื่อตอบโจทย์รูปธรรมการจัดการอาหารปลอดภัย แก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน ตำบลนาท่อม อย่างยั่งยืน
กระบวนการได้มาซึ่งแผนพัฒนาและข้อเสนอเชิงนโยบายของสภาองค์กรชุมชนตำบล ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง
เพื่อการตอบโจทย์การพัฒนาตำบล และการเชื่อมโยงงบประมาณของตำบล
สภาองค์กรชุมชน เห็นว่า สืบเนื่องจากกระบวนการทำแผนชุมชนที่ผ่านมา ยุคผู้ใหญ่ลีกลองประชุม (พ.ศ. 2505-2540) ถูกแบ่งการทำงานเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก มีใช้เทคนิค/หลักการ/กระบวนการ หาเหตุแห่งทุกข์ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย
- ศึกษาประเด็นปัญหา
- แยกประเภท
- แนวทางการแก้ปัญหา
ทั้งนี้การทำงานของชุมชนกับรัฐมีความเชื่อโดยทั่วไปว่า เมื่อถึงขั้นศึกษาของประเภท และแนวทางการแก้ไขปัญหา ชุมชนจะไม่มีศักยภาพเพียงพอในการวางแผนแก้ไข หรือพัฒนาด้วยตนเองได้
ในระยะต่อมาเริ่มมีการนำเอาเทคนิคทางธุรกิจมาใช้ อาทิ กระบวนการ SWOT Analysis ซึ่งศึกษาสภาพแวดล้อมภายในชุมชนว่ามีจุดแข็ง (Strengths) และจุดอ่อน (Weaknesses) ในประเด็นใดบ้าง โดยปกติเป็นศักยภาพด้านบุคลากร งบดำเนินการ วัสดุ และอุปกรณ์ การบริหารจัดการ โครงสร้างองค์การ ประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลในการส่งมอบบริการ รวมถึงสภาพแวดล้อมภายนอกที่เอื้อ และไม่เอื้อต่อการทำงานของระบบชุมชน
นอกเหนือจากกระบวนการข้างต้น ทางสภาองค์กรชุมชนจึงมีแนวทางภายใต้การกำหนดร่วมถึงข้อเท็จจริงในชุมชนเป็นตัวตั้ง ใน 3 ระดับ ประกอบด้วย แผนในเชิงนามธรรม กึ่งรูปธรรม และรูปธรรม และได้ประเด็นออกมาผ่านกิจกรรม หนังสือแห่งความสุขแปดหน้า โดยจัดเวทีร่วมกับกลุ่มองค์กรชุมชน ประชาชนทั่วไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานในระดับพื้นที่ จำนวน 3 เวทีหลัก ดังนี้
ประเด็นแรก อยากเห็นคนในตำบลมีคุณสมบัติเป็นอย่างไร
และทำการลงคะแนน จนได้เป็นวิสัยทัศน์ของตำบล
ประเด็นต่อมา ทำอย่างไรจึงจะไปถึงภาพฝัน
และทำการลงคะแนน จนได้เป็นโครงการที่จะเสนอกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอเพื่อบูรณการแผนงานและงบประมาณ จำนวน 3 ด้านหลัก
โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ทางเลือก
การบูรณาการแผนงานและงบประมาณ
ภายหลังจากการทำแผน และข้อเสนอระดับตำบล สภาองค์กรชุมชนตำบลทุกสภาฯ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ได้บูรณาการงาน และงบประมาณจำนวน 150,000 บาท ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ในการดำเนินงานร่วมใน 2 ระดับ ประกอบด้วย
- การจัดทำแผนพัฒนาระดับตำบล เพื่อขยายผลต่อยุทธศาสตร์จังหวัดแบบบูรณาการ
- การรับรองข้อมูลของตำบล ผ่านของเสนอเชิงนโยบายทุกตำบล
เวทีบูรณาการแผนชุมชนของสภาองค์กรชุมชนทุกสภาฯ ในพื้นที่ จ.พัทลุง ร่วมกับ อบจ.พัทลุง มหาวิทยาลัยทักษิณ และหน่วยงานในระดับจังหวัด มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้กว่า 250 คน ระหว่างวันที่ 30 – 31 พ.ค. 62 โดยมีเป้าหมายหลัก 2 ประการ คือ
1) พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายระดับพื้นที่ตำบลสู่การรับรอง
2) นำฐานข้อมูลสู่การกำหนดทิศทางของยุทธศาสตร์การพัฒนา และแนวการเคลื่อนในแต่ละประเด็น ระดับจังหวัด
▪ทั้งนี้ ได้มีการจับมือร่วมกันระหว่างขบวนองค์กรชุมชน อบจ. และ พอช. ในการผลักดันสู่การประกาศเป็นนโยบายจังหวัด รวมทั้งการเสนอประเด็นที่มีความเร่งด่วนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด ภายในปีงบประมาณ 2562
ผลการบูรณาการ
สภาองค์กรชุมชนตำบลที่ดำเนินการจัดทำแผนงานการพัฒนา ได้ตกผลึกยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับจังหวัด 7 ด้านร่วมกัน และมีการเข้าไปเป็นสัดส่วนการจัดตั้งคณะทำงานร่วมแต่ละด้าน (คณะทำงานร่วมภาครัฐและภาคประชาชน) ในการกำหนดเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค และ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติภาคใต้ รวมทั้ง ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม