เรียบเรียงโดย จรรยา กลัดล้อม นักสื่อสารจัดการความรู้จังหวัดชัยนาท
พื้นที่ของหมู่บ้านห้วยกรด ตำบลห้วยกรด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นที่ดอนมีลักษณะยาวจากเหนือจรดใต้ มีแม่น้ำไหลผ่านกลางของหมู่บ้าน เริ่มจากคลองส่งน้ำเชื่อมต่อจากแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่รอบๆ เป็นที่ราบเหมาะกับการทำนา เขตพื้นที่อาศัยโดยรอบมีต้นตาลขึ้นหนาแน่น เป็นเกราะป้องกันทางธรรมชาติ ส่งสัญญาณเตือนอันตรายกรณีมีลมพายุหรือฝนฟ้าคะนอง
ของดีของเด่นในตำบลห้วยกรด
เมื่อพูดถึงตำบลห้วยกรดหลายคนมักจะนึกถึงความหอมหวานของน้ำตาลโตนด จากวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ คนตำบลนี้มีการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม ดังคำกล่าวว่า “ภาษาถิ่นสืบสาน ตาลโตนดลือเลื่อง พระเครื่องอาคมขลัง ตลาดกลางข้าวและพืชไร่ มรดกไทยรำมะนา ตลาดค้าสุกร”
พื้นที่ตำบลห้วยกรดมีการอนุรักษ์การทำน้ำตาลโตนดที่ขึ้นชื่อของจังหวัดชัยนาทและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นตาลโตนดให้เป็นสินค้า OTOP ของจังหวัด ต้นตาลโตนดยังมีประโยชน์ใช้ทำเป็นอาหาร เช่น ต้มปลาร้าหัวตาล แกงหัวตาล ยำหัวตาลปลาย่าง และขนมหวาน เช่น ลอนตาลเชื่อม ลอนตาลลอยแก้ว
ประชาชนในตำบลมีอาชีพเลี้ยงสุกรกันมาก มีอาหารแปรรูปจากสุกรจำหน่ายในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง จะเห็นได้ว่ามีการนำทรัพยากรในตำบลห้วยกรด มาพัฒนาต่อยอดและขยายผลในระบบเศรษฐกิจชุมชนได้
ตำบลห้วยกรด มีต้นตาลธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ประชากรจึงยึดการทำน้ำตาลเป็นอาชีพเสริมรองจากการทำนา ซึ่งสามารถทำได้ตลอดปี
การขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจและชุมชนของตำบลห้วยกรด
ปี 2561 สภาองค์กรชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลห้วยกรด ได้มีการบูรณาการในการจัดทำแผนการขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจและชุมชนของตำบลห้วยกรด มีเป้าหมายในการพัฒนา คือ การนำผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีอยู่ในชุมชนมาทำเรื่องตลาดชุมชน และนำมาเชื่อมโยงบูรณาการกับสัมมาชีพชุมชน มาร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน การอนุรักษ์พัฒนาการทำน้ำตาลโตนดและการพัฒนายกระดับกลุ่มอาชีพให้มีมาตรฐานและต่อยอดขยายผลอาชีพ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “พอกิน พออยู่ พอประมาณ ด้วยภูมิปัญญาของชุมชน”
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำน้ำตาลโตนดให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมปลูกต้นตาลโตนดทุกปี มีศูนย์อนุรักษ์ตาลโตนด และประชาชนในพื้นที่ยังคิดว่าน่าจะจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ตาลโตนดเพื่ออนุรักษ์ต้นตาลและน้ำตาลโตนดให้คงอยู่คู่ชุมชนชาวตำบลห้วยกรดสืบต่อไป
การทำน้ำตาลโตนด
การผลิตน้ำตาลโตนดของตำบลห้วยกรดมีวิธีการที่น่าสนใจและควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เนื่องด้วยยังคงวิธีแบบโบราณ สิ่งที่คนรุ่นเก่าถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจากโคนต้นสู่ยอดตาล จนลงกระทะกลายเป็นน้ำตาลปึก มีวิธีการ ดังนี้
- ตัดพะองสำหรับพาดลำตาล ต้นตาล 1 ต้นจะใช้พะองประมาณ 2 – 3 ลำ ต่อกันตามความสูงของต้นตาล
- จักตอกไม้ไผ่สีสุกเพื่อรัดพะองกับต้นตาลให้แน่น
- ใช้มีดแต่งยอดตาล แต่งลำต้น ตัดครีบตาลเพื่อความสะดวกในการขึ้นลง
- ใช้ตะะเกียบนวดดอกตาล เพื่อให้ดอกตาลช้ำจะได้มีน้ำตาลออกมามาก
- นำน้ำใส่กระบอกรองตาลขึ้นไปสวมดอกตาล เรียกว่าดองดอกตาล (ตาลตัวผู้ใช้เวลาดองประมาณ 5 วัน ตาลตัวเมียใช้เวลาดอง 4 วัน)
- นำกระบอกกรองน้ำตาลมาทำความสะอาด โดยการลวกน้ำร้อนหรือนำไปรมควันที่มีความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- ปาดดอกตาล โดยนำกระบอกรองน้ำตาลรองรับน้ำตาลซึ่งจะไหลออกมาจากดอกตาล การรองน้ำตาลสดจะหมุนเวียนกระบอกรองตาลวันละ 2 ครั้ง คือ เช้า เย็น
- นำน้ำตาลสดจากกระบอกตาลเทใส่กระทะโดยใส่ไม้ตะเคียนเพื่อกันบูดพอประมาณ
- เคี่ยวน้ำตาลให้งวดออกปุด ดูลายไม่มีฟองจนน้ำตาลข้น
- นำน้ำตาลที่ข้นแล้วออกจากกระทงมากวนโดยใช้พายคนหรือใช้เชือกหมุน
- หยอดน้ำที่ข้นลงในถ้วยที่มีผ้าขาวบางรองรับ เพื่อไม่ให้ติดถ้วยใช้เชือกดึงเวลาประมาณ 10 นาที น้ำตาลจะแห้งแล้วลอกออก
- นำน้ำตาลปึกบรรจุภาชนะ มิให้ถูกความชื้น
การจำหน่ายน้ำตาลปึกที่ผลิตจากตำบลห้วยกรด ราคาขึ้นลงตามความต้องการของตลาดประมาณกิโลกรัมละ 25 – 35 บาท จะมีแม่ค้ามารับซื้อถึงบ้านเพื่อนำไปจำหน่าย น้ำตาลจากต้นตาล 20 ต้น เฉลี่ยแล้วจะมีรายได้ประมาณ 300 บาทต่อวัน
จากนั้น ได้มีการจัดตั้งกลุ่มการทำน้ำตาลโตนด โดยชักชวนครัวเรือนที่ทำน้ำตาลโตนด จำนวน 20 ครัวเรือน ประชุมชี้แจงการจัดตั้งกลุ่ม เพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้มีราคาและขยายตลาดให้เพิ่มขึ้น มีศูนย์อนุรักษ์ตาลโตนด เชื่อมโยงหน่วยงานภาคีมาร่วมหนุนเสริม เช่น เทศบาลตำบลห้วยกรด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสรรคบุรี สำนักงานเกษตรอำเภอสรรคบุรี ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ฯลฯ
ผลการทำงานที่เกิดขึ้น
ประชาชนที่รวมกลุ่มน้ำตาลโตนดในตำบลห้วยกรด มีตลาดรองรับในการขายผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดในหลายพื้นที่ ทั้งในตำบลพื้นที่ใกล้เคียงและต่างจังหวัดหลายจังหวัด มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม มีอาชีพเสริม รายได้เพิ่มขึ้นนำมาใช้จ่ายในครัวเรือน
การหนุนเสริมเศรษฐกิจและทุนชุมชนตำบลห้วยกรดจากหน่วยงานภาคี
เทศบาลตำบลห้วยกรด หนุนเสริมให้ใช้สถานที่ในการประชุมและฝึกอบรมให้ความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลโตนดและให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและบริการในการผลิตและขายผลิตภัณฑ์ สนับสนุนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากตาลโตนด
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสรรคบุรี ช่วยสนับสนุนให้ความรู้ในการจัดตั้งกลุ่มสัมมาชีพชุมชนและอุดหนุนงบประมาณในการอบรมให้ความรู้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และส่งเสริมให้เกิดเป็นสินค้า OTOP และอุดหนุนงบประมาณในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการฝึกอบรม
แผนการทำงานในการขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจและทุนชุมชนตำบลห้วยกรด
จากผลการดำเนินงานของตำบลห้วยกรด นำไปสู่แผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชน และแผนพัฒนาทุกมิติ เกิดการเชื่อมโยงแผนพัฒนาและแผนการดำเนินงานกับหน่วยงานภาคี ขยายจำนวนสมาชิกกลุ่มตาลโตนดเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมทั้งตำบล ขยายตลาดให้รองรับผลิตภัณฑ์ให้สมาชิกจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามสินค้าขายได้ราคาสูงขึ้น มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในตำบลห้วยกรดปลูกต้นตาลโตนดเพิ่มมากขึ้น เป็นการอนุรักษ์อาชีพน้ำตาลโตนดให้คงอยู่คู่ตำบลห้วยกรด และจะขยายผลเป็นตำบลท่องเที่ยวโดยชุมชน เนื่องจากมีประเพณีวัฒนธรรมและวัด มีเกจิอาจารย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนตำบลห้วยกรดอีกด้วย
หมายเหตุ: ผู้ประสานงาน นางปราณี สอนเปรม ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยกรด
อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เบอร์โทรศัพท์ 096-565-9351