นายธนภณ เมืองเฉลิม ผู้อำนวยการภาคใต้
พัทลุง : สำนักงาน พอช. ภาคใต้ ร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชน และสำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง จัดเวทีสรุปบทเรียนผลการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตในเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคใต้ เมื่อวันที่ 15-16 กันยายน 2566 ณ ศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทอง ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
เศรษฐกิจและทุนชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วยต้นทุนของพื้นที่
นายธนภณ เมืองเฉลิม ผู้อำนวยการภาคใต้ ได้กล่าวเปิดงาน และพูดถึงความสำคัญของการดำเนินงานเศรษฐกิจและทุนชุมชน เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วยต้นทุนของพื้นที่ เนื่องจากบริบทพื้นที่ของภาคใต้ล้วนมีความแตกต่าง และมีจุดแข็ง จุดอ่อน มีโอกาสต่าง ๆ ที่หลากหลาย นั่นหมายความว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่จึงไม่ใช่การให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาบอกว่า พื้นที่หรือชุมชนต้องทำแบบนี้ ทำอย่างนี้ เพราะการที่จะพัฒนาไปได้ดีนั้น คนในพื้นที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง มองศักยภาพของคนเองให้ออก ต้องการพัฒนา ต้องการต่อยอดในเรื่องอะไร อะไรที่ทำไม่ได้จึงไปชวนภาคีเข้ามาร่วม
“ในส่วนของการขับเคลื่อนในประเด็นงานเศรษฐกิจและทุนชุมชน พอช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเข้ามาช่วยในการมองเชิงนโยบาย และเชื่อมโยงทางนโยบายให้เกิดหนุนเสริมในพื้นที่ นอกจากนั้นก็ยังมีการแต่งตั้ง คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชนขึ้นมาเพื่อร่วมเป็นทีมกลไกสำคัญ ขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจและทุนชุมชนในระดับพื้นที่ให้เห็นผลสเร็จด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งคนในชุมชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ และหน่วยงานภาคี โดย พอช. เองก็จะร่วมเป็นทีมร่วมกับพี่น้องด้วย” นายธนภณ เมืองเฉลิม ผู้อำนวยการภาคใต้กล่าว
แนวทางการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชน ปี 2567
นางเสาวลักษณ์ ปรปักษ์พ่าย หัวหน้างานปฏิบัติการชุมชน สำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง ได้เล่าถึงแนวทางของ พอช. ในปีงบประมาณ 2567 ในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนในระดับพื้นที่ว่า เมื่อการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 1/2566 วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการฯ ได้มีข้อคิดเห็นต่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1) การค้นหา “คนมีใจ” จากทุกภาคส่วน ที่ต้องการสนับสนุนช่วยงานของชุมชน 2) ค้นหา “คนกลาง” ที่เป็นคนของชุมชน เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างชุมชนกับภาคี โดยเฉพาะด้านการตลาด 3) การสร้างระบบการขนส่ง (Logistics) ของชุมชน ทั้งการประสานกับหน่วยงาน และสร้างระบบขนส่งของชุมชนเอง 4) การสร้างและพัฒนาผู้นำคนรุ่นใหม่ สนับสนุนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชุมชนในด้านต่าง ๆ โดยต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้หลักสูตรเศรษฐกิจฐานราก ที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนาผู้นำ/ โรงเรียนผู้นำ และ 5) ดำเนินการในลักษณะโครงการ/ พื้นที่นำร่อง ไม่ต้องมาก ลงมือทำทันที สำเร็จแล้วจึงขยายผล โดยต้องค้นหาประเด็นที่ต้องการต่อยอดให้เจอ และวิเคราะห์ภาคีที่จะเข้ามาช่วยหนุนเสริมให้พบ
สำหรับการหนุนเสริมในฝั่งของ พอช. โดยสำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขากลางในเรื่องนี้ ได้นำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชนระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่ผ่านกระบวนการคิดร่วมกันของพี่น้องเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชน 5 ภาค และคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้เห็นชอบ มาพิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการสนับสนุนใน 4 แผนงาน คือ 1) การเพิ่มโอกาส และขีดความสามารถของคนในขบวนองค์กรชุมชน ด้วยการสนับสนุนให้มีกลไกสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายขบวนเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชนทั้งระดับพื้นที่/จังหวัด อย่างน้อย 20 จังหวัดทั่วประเทศ 2) การพัฒนาระบบฐานข้อมูล และองค์ความรู้ชุมชน เพื่อให้ศูนย์บ่มเพาะฯ มีระบบฐานข้อมูลที่ใช้เป็นเครื่องมือวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน และมีองค์ความรู้ที่ใช้สื่อสารในทุกรูปแบบ เพื่อสร้างการรับรู้ การถ่ายทอด ต่อยอด ขยายผลในพื้นที่ และสาธารณะ 3) การสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนกับหน่วยงานภาคี (ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ) เข้ามาหนุนเสริมพัฒนา ต่อยอดงานเศรษฐกิจของชุมชน และพัฒนาเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพได้ และ 4) การสร้างและพัฒนาพื้นที่รูปธรรมศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชน ให้เป็นพื้นที่กลางในการสร้างการเรียนรู้แนวราบให้กับคนในพื้นที่/นอกพื้นที่ และมีแผนธุรกิจเพื่อชุมชน/แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชนในระดับพื้นที่ในจังหวัดที่ยังไม่มีศูนย์บ่มเพาะฯ
ทั้งหมดเพื่อเป็นการหนุนเสริมงานของเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนให้ต่อเนื่อง และขยายพื้นที่ใหม่ ๆ ออกไปให้กว้างขวาง นไปสู่ชุมชนท้องถิ่นมีระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่มั่นคง สามารถพึ่งตนเองได้ และจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชน กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่
ผู้แทนจากศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชนทั้ง 5 ศูนย์บ่มเพาะฯ ได้นำเสนอรูปธรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ ซึ่งมีกิจกรรมและรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันไป ดังนี้
ตำบลนางหลง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช : ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกในการทำกิจกรรมเลี้ยงผึ้งโพรงครบวงจร แปรรูปปลาดุกร้า นำพืชผักสมุนไพรแปรรูปเป็นเครื่องแกง ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน มากกว่าการสร้างมูลค่าทางด้านการขาย และมีการจดทะเบียนเป็นกลุ่มเกษตรกร
ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง : นำทรัพยากรธรรมชาติที่แวดล้อมชุมชนมาแปรรูปเป็นกิจกรรมสร้างอาชีพให้กับสมาชิกในชุมชน ได้แก่ กลุ่มประปาภูเขา สมาชิก 12 ครัวเรือน บริหารในรูปแบบกองทุน สามารถลดค่าไฟฟ้ามอเตอร์ได้ 150 บาทต่อครัวเรือน รวม 1,800 บาท ลดค่าน้ำดื่มได้ 270 บาท ต่อเดือน รวม 3,240 บาท สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ต่อปี ได้เป็นเงิน 60,480 บาท ชุมชนมีความมั่นคงด้านน้ำดื่ม กลุ่มเลี้ยงผึ้ง มีคณะทำงานกลุ่มรวบรวมน้ำผึ้งขายปลีก-ส่ง มีการจดแจ้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรก้าวหน้าเทือกเขาบรรทัด ทำน้ำผึ้งขายราคาขวดละ 400-500 บาท กลุ่มเครื่องแกง สมาชิกลงหุ้น หุ้นละ 500 บาท ปัจจุบันมีเงินทุนของกลุ่ม 7,050 บาท และกลุ่มข้าวสาร มีการจัดตั้งกองทุนเงินหมุนเวียนประมาณ 100,000 บาท เพื่อให้คนในชุมชนได้ซื้อข้าวสารราคาถูก โดยการสั่งซื้อข้าวจากตลาดพ่อค้าคนกลางมาจำหน่ายให้สมาชิกในชุมชน โดยกลุ่มคิดค่าบริการกระสอบละ 20 บาท
ชุมชนบ้านละหา ตำบลแว้ง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส : ดำเนินการภายใต้ “โรงเรียนชาวนา” เพื่อฟื้นวิถีชีวิต และฟื้นแหล่งอาหารของชุมชน ต่อยอดศักยภาพทุนชุมชน “การผลิตข้าวของชาวนาในพื้นที่” เชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน ทำให้สมาชิกมีรายได้จากการทำอาชีพของตนเอง แล้วนำผลผลิตมาขายให้กับนักท่องเที่ยวในโรงเรียนชาวนา เช่น การขายปุ๋ย สารไล่แมลง พืชผักสวนครัว ขนม เป็นต้น นอกจากนั้นยังใช้ “กระบวนการผลิตข้าว” เป็นเครื่องมือการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่คนในชุมชนมีความคุ้นเคย lifelong learning ชวนเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ให้เข้าถึงการสร้างอาชีพและรายได้ เช่น เยาวชนที่ชอบเรื่องการถ่ายภาพ ตัดต่อวีดีทัศน์นอกจากถ่ายภาพให้กับโรงเรียนชาวนาแล้ว ยังสามารถรับงานถ่ายรูปรับปริญญา งานแต่งงาน งานละ 3,500-4,000 บาท ฯลฯ ถือเป็นการสร้างพื้นที่และสร้างโอกาสให้กับคนในชุมชน
ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา : เริ่มรวมตัวกันทำกิจกรรมจากประสบปัญหาราคาสินค้า “ยาง” ตกต่ำ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชุมชนลดน้อยลง จึงหันกลับมาดูทุนในชุมชนของตนเอง ด้วยเริ่มจากการผลิตอาหารปลอดภัย “การปลูกผัก” นำผลผลิตไปขายสินค้าในตลาดนัดของชุมชน สร้างการท่องเที่ยวจากทรัพยากรที่มีในพื้นที่ เช่น น้ำตก บ่อน้ำร้อน สวนทุเรียน 100 ปี (สวนวาเระ) ที่นำไปสู่การสำรวจต้นทุเรียน เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมพืชท้องถิ่น นอกจากนั้น สนับสนุนให้สมาชิกในชุมชนปลูกพืชสมุนไพร นำไปใช้กับกลุ่มแพทย์แผนไทย นวดแผนไทย ที่ทำงานร่วมกัย รพ.สต. และการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานในชุมชน ผ่านการใช้โซล่าเซล โดยความร่วมมือกับกรมอนุรักษ์พลังงาน
ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง : จดแจ้งจัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชน เริ่มทำกิจกรรมการจัดการขยะทางทะเล ภายใต้กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เพื่อจัดการขยะและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลไปพร้อมด้วย เพราะเมื่อขยะลดลง สัตว์น้ำต่าง ๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีการต่อยอดการดำเนินงานกับภาคี เช่น มูลนิธิแจสด้า สนับสนุนโรงเรือนคัดแยะขยะ บริษัทไดด์ โอเชี่ยน จำกัด สนับสนุนการต่อเติมลานกิจกรรมของชุมชน ที่ให้คน 3 วัยมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การทำกล้วยฉาบงาช้าง พริกแกง กะปิกุ้ง 2 น้ำ เป็นต้น เพื่อต่อยอดจากงานขยะ ให้สมาชิกได้มีอาชีพมีรายได้
เรียนรู้พื้นที่รูปธรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยเศรษฐกิจและทุนชุมชน
นายอุทัย บุญดำ ผู้นำศูนย์เรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพทอง ได้เล่าถึงกระบวนการทำงานของเครือข่ายสินธุ์แพรทอง ที่ใช้ 1 ตำบล 1 แผน 1 ศูนย์ประสานงาน โดยการจดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์กับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ปี 2555 ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งการเรียนรู้ ที่ใช้ทุนทรัพยากรและอาชีพของคนในชุมชนเป็นทุนดำเนินการ ให้ 1 ผู้นำมี 1 ผลิตภัณฑ์ ที่สร้างประโยชน์ให้ชุมชน ซึ่งพบว่า ในชุมชนของลำสินธุ์มีผลิตภัณฑ์กว่า 40 ผลิตภัณฑ์ ที่ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และใช้ภูมิปัญญาใส่เข้าไปในการผลิตภัณฑ์ และยกระดับไปสู่มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำพริกครก หรือน้ำพริกกะลา ข้าวสังข์หยด จำปาดะทอด ฯลฯ
ในปี 2563 ไม้ผลประสบปัญหาราคาตกต่ำ เลยชวนสมาชิกมาปลูกผักเหลียงพันธุ์อินโด อย่างน้อนครัวเรือนละ 30 ต้น แล้วร่วมกันจดทะเบียนเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุน ผลผลิตผักเหลียงที่เกิดขึ้นสามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกได้กิโลกรัมละ 60 บาท หนึ่งครัวเรือนจะเก็บได้ประมาณ 30 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ ซึ่งกับตลาดที่มีอยู่ยังไม่สามารถผลิตได้ตามที่ตลาดต้องการ จึงยังต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้ของลำสินธุ์เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีองค์ความรู้ สมาชิกมีที่อยู่อาศัย และมีอาหารการกินที่ดี
นายนันทพงศ์ นาคฤทธิ์ ผู้นำจากศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชนธุรกิจไมซ์บ้านถ้ำเสือ ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ได้แลกเปลี่ยนบทเรียนจากการทำงานที่เป็นหลักคิดสำคัญว่า “ศูนย์การเรียนรู้ คือ การออกแบบการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่เราสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ในทุกจุด และเมื่อเรามีการสร้างเรียนรู้ในการเรื่องการพัฒนาเศราฐกิจและทุนชุมชน เราต้องคิดถึงการพัฒนาผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจชุมชน ไปพร้อมกับการพัฒนาการประกอบการ หรือธุรกิจชุมชนไปพร้อมกัน เพราะชุมชนจำเป็นต้องมีการทำคุณค่าให้มีมูลค่า หากเราต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชน”
การทำธุรกิจของชุมชน ต้องมีการคิดต่าง เมื่อคิดต่างจะได้สิ่งที่ต่าง เมื่อสร้างสรรค์จึงจะได้สิ่งที่สร้างสรรค์ ซี่งจะต้องเริ่มต้นที่การคิดร่วมกันของผู้คนในชุมชน ทำเป็นข้อมูล เวลาจะไปพูดคุยกับใครจำเป็นต้องมีข้อมูลไปคุย เริ่มกระบวนการตั้งแต่หมู่บ้านธุรกิจ โดยไปสู่ตำบลธุรกิจ อำเภอธุรกิจ และจังหวัดธุรกิจ ไปด้วยกันไม่แข่งกันแต่เป็นเครือข่ายกันและกัน
นางมาลี พันธ์วงค์ ผู้นำพื้นที่เรียนรู้สภาองค์กรชุมชนตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า ตำบลพนางตุงรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มขึ้นเมื่อปี 2542 ทำเรื่องแก้ปัญหาหนี้สินของชาวบ้านทั้งในและนอกระบบ กับกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร จนสามารถจัดการหนี้สินของสมาชิกได้ และได้มีมหาวิทยาลัยทักษิณเข้ามาสนับสนุนความรู้
เมื่อได้จดแจ้งจัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชน ได้ใช้ความเป็นสภาองค์กรชุมชน ปรึกษาหารือกันเรื่องการทำบ้านพอเพียง และการส่งเสริมการทำอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาส โดยกิจกรรส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ ร่วมกันคิดขึ้นมาจากทุนในชุมชนที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการสานกระจูดที่ขึ้นอยู่ทั่วไป แต่เนื่องจากกระจูดขึ้นอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ฯ ซึ่งห้ามลงไปเก็บกระจูด จึงใช้สภาองค์กรชุมชนเข้าไปหารือ โดยใช้เหตุผลว่า การสานกระจูด และการปลูกกระจูดเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว เก็บมาแล้วก็ส่งเสริมให้ปลูกทดแทน มีการจดลิขสิทธิ์กระจูด จดลิขสิทธิ์นาริมเล จดลิขสิทธิ์โนราห์ เพื่อให้รักษาไว้เป็นภูฒิปัญญาของชุมชน และกำลังจะไปจดเป็นวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายกระจูดพนางตุง
มีการทำนาข้าวอินทรีย์ ได้ใบรับรองออแกนนิกส์ โดยมีศูนย์วิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตรมาช่วยตรวจแปลง แรกเริ่มมีสมาชิก 20 ราย ปัจจุบันขยายเป็น 100 ราย “พอมีรสมาชิกเพิ่มมากขึ้นก็เริ่มมองด้านการตลาด จะไปขายที่ไหน ??? เพราะคนชอบซื้อของถูก เริ่มแรกขายกลุ่มขายกิโลกรัมละ 100 บาท ขายยากมากเพราะแพง จึงเริ่มคิดใหม่ให้การตลาดนำการผลิต หาผู้ซื้อก่อนแล้วค่อยผลิตส่ง” นางมาลี บอกเล่า
จากนั้นจึงโยงมาทำเรื่อง “ท่องเที่ยววิถีนา” โดยไม่ปรุงแต่ง ยังรักษาวิถีการทำนาแบบคนพนางตุงไว้ “ใครชอบก็มา นักท่องเที่ยวจะมาช่วงไหนก็จะได้เรียนรู้ช่วงนั้น เช่น ช่วงปักดำ ช่วงเก็บเกี่ยว สำหรับกลุ่มที่มาเรียนรู้ มีทั้งกลุ่มที่อยากลงมือทำ จะมาเรียนรู้ต่อเนื่องในทุกช่วง กับบางกลุ่มมาดู ก็จะมาดูเฉย ๆ แล้วก็กลับ”
มีการทำเรื่องสมุนไพรในชุมชน และขยายไปกว่า 11 กลุ่มองค์กร สมาชิกรวมประมาณ 50 คน ปลูกสมุนไพรต่าง ๆ ที่เป็นพืชที่ขึ้นได้ตามพื้นที่ เช่น ปลูกขมิ้น ฯลฯ นอกจากนั้นในการทำกิจกรรมในแต่ละกิจกรรม จะให้เด็กเยาวชนอยู่ทำงานในชุมชน อยู่ได้มีรายได้ โดยการเริ่มที่พาลูกของตนเองพาออกตลาด พาทำกิจกรรมเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ และเมื่อลูก ๆ เห็นพ่อแม่ทำก็เริ่มสนใจมาทำด้วย ซึ่งถือเป็นผลผลิตอีกแบบหนึ่ง
ในเรื่องเทคนิคในการทำงาน นางมาลี ได้เล่าให้ฟังว่า ทำอะไรต้องให้คนรับรู้ ด้วยการทำเป็นลายลักษณ์อักษร ทำด้วยความซื่อสัตย์ ใจต้องมาก่อนเพื่อน เมื่อเจอปัญหาจะได้ไม่ท้อ เพราะปัญหาทำให้เราเข้มแข็ง เรียนรู้ทำความรู้จักกับภาคีเครือข่าย หน่วยงานให้มาก ๆ เพื่อให้มาช่วยสนับสนุน ในส่วนของเทคนิคการทำงานกับกลุ่มนั้น ทุกคนเป็นวิทยากร ทุกคนต้องได้เท่ากัน ทั้งคนพูดและทำความสะอาด และจะตัด 10% เข้ากลุ่มเป็นกองทุน กลุ่มต้องมีการพูดคุยกันสม่ำเสมอ สรุปงานร่วมกันบ่อย ๆ เช่น เมื่อรับแขกในแต่ละกลุ่มเสร็จ สมาชิกจะต้องมานั่งคุยสรุปงานร่วมกัน เป็นต้น และในการทำงานทุกเรื่องต้องรักษาขนบประเพณี วัฒนธรรมพื้นถิ่นของชุมชน ทำเรื่องอะไรอย่าทิ้งเรื่องคุณภาพชีวิต
จากรูปธรรมความสำเร็จ ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคใต้ โดยมีศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชนเป็นพื้นที่ปฏิบัติการนั้น สามารถเห็นรูปธรรมของการพัฒนาทักษะอาชีพให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างหลากหลาย ที่ล้วนเป็นต้นทุนมาจากทุนในชุมชนของแต่ละพื้นที่ ซึ่งได้สร้างความสุข ความภูมิใจ และทำให้มีอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้นมาด้วย.
สำนักงาน พอช. ภาคใต้ และสำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง.