เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566 ณ ที่ทำการสภาองค์กรชุมชนเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร ร่วมกับ สำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง และสำนักงานภาคกรุงเทพปริมณฑลและตะวันออก ลงพื้นที่สภาองค์กรชุมชนเขตธนบุรี จัดเวทีสรุปบทเรียนการพัฒนาตำบลต้นแบบมิติคนมีคุณภาพ ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลเข้มแข็ง ประจำปี 2566 โดยภาคีวิชาการวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วยอึ๊งกาภรณ์ ได้ร่วมจัดกระบวนการประชุมกลุ่มย่อย Focus Group ระดมสมองจากแกนนำสำคัญในพื้นที่ มีผู้เข้าร่วมจำนวน 25 คน
ข้อมูลที่ได้แลกเปลี่ยนกันในเวที แบ่งออกเป็น 5 ส่วนดังนี้ 1) ข้อมูลทั่วไปของชุมชน ประวัติของชุมชน ประเพณี วัฒนธรรม ความโดดเด่นของชุมชน ภูมิปัญญา 2) รูปแบบโครงการและกิจกรรมการดำเนินงานของพื้นที่ ปัญหาที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในชุมชน 3) กลไกและการขับเคลื่อนการดำเนินงานชุมชนเข้มแข็ง ปัจจัยที่ก่อนให้เกิดความสำเร็จ อุปสรรคและวิธีการแก้ไขปัญหา 4) เครือข่ายการทำงานของพื้นที่ เครือข่าย หน่วยงาน สถาบัน หรือบุคคลที่เข้ามาสนับสนุน ช่วยเหลือ 5) ศักยภาพของชุมชนและภาพฝันในอนาคต จุดเด่นของชุมชน ชุมชนมีจุดอ่อนอะไร การจัดทำแผนพัฒนาชุมชนร่วมกัน
คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนเขตธนบุรี ช่วยกันให้ข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจคือ สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ช่วงปี 2563 จากวิกฤตกลายเป็นโอกาส ทำให้การทำงานของชุมชนซึ่งมีลักษณะกึ่งเมืองมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น เกิดความร่วมมือ 43 ชุมชน การบูรณาการงานร่วมกับ 30 เครือข่าย กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรีสามารถช่วยเหลือสมาชิกกองทุนได้ทันที แม้จำนวนเงินไม่มากแต่ช่วยชาวบ้านได้เยอะ มีการจัดธรรมนูญเฝ้าระวังป้องกัน Covid-19 รายการที่นี่ประเทศไทย Thai PBSมาถ่ายทำรายการ WHO ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ทีมงานสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นหน่วยกล้าตายช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน ที่สำคัญ ทีมงานไม่ใครติด Covid-19 เลย แม้สถานการณ์นี้จะคลี่คลายไปแล้วแต่ทุกคนถ่ายทอดเรื่องราวนี้ได้เป็นอย่างดี
เมื่อถามถึงคุณลักษณะของแกนนำสำคัญของพื้นที่ คำตอบที่ได้คือ มีลักษณะการทำงานเป็นทีม มีการทำงานตามแผนงาน มีแผนงานสถานการณ์ฉุกเฉิน การสร้างความเชื่อมั่น ความมีน้ำใจ การเสียสละ แกนนำทำงานด้วยความตั้งมั่น ไม่ท้อถอย จากนั้นชวนกันวิเคราะห์ชุมชนSWOT ของแต่ละชุมชน ได้แก่ ชุมชนบางไส้ไก่ ชุมชนสะพานยาว ชุมชนเกื้อวิทยา มีบางคนเป็นวิทยากรทำกิจกรรมสัมพันธ์ในชุมชน จึงชวนกันทำกิจกรรมในเวทีสามารถสร้างรอยยิ้ม สนุกสนานแก่ผู้เข้าร่วม
ทั้งนี้ โครงการศึกษาเพื่อถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลเข้มแข็ง ประจำปี 2566 กำหนดจัดเวที เวทีสรุปบทเรียนการพัฒนาตำบลต้นแบบมิติคนมีคุณภาพ 10 ตำบล ได้แก่ 1) เขตธนบุรี กรุงเทพฯ 2) ตำบลพระแท่น จ.กาญจนบุรี 3) ตำบลหนองบัว จ.กาญจนบุรี 4) ตำบลท้อแท้ จ.พิษณุโลก 5) ตำบลท่าหมื่นราม จ.พิษณุโลก 6) ต.ดงใหญ่ จ.มหาสารคาม 7) ต.เขื่อน จ.มหาสารคาม 8) ต.คลองหินปูน จ.สระแก้ว 9) ต.นาทอน จ.สตูล 10) ต.ตะลุบัน จ.ปัตตานี และจะมีเวทีคืนข้อมูลแก่ชุมชนต่อไป
สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร