กาญจนบุรี : วันที่ 10 – 11 มกราคม 2566 คณะประสานงานเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน (คปอ.) จังหวัดกาญจนบุรี และสำนักงานภาคกลางและตะวันตก กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 จัดประชุมพิจารณาโครงการระดับตำบลและจังหวัดเพื่อเสนอขอรับงบประมาณ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เน้นพัฒนาโครงการที่เชื่อมโยงทุกประเด็นงานที่ขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยเฉพาะงาน พอช. ทำ 1 ตำบล 1 โครงการแต่มีหลายประเด็นงานเพื่อรวมคนและทรัพยากรมาทำงานร่วมกัน
นางดวงเดือน พร้าวตะคุ หัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 กล่าวเน้นย้ำกับ คปอ. และผู้แทนตำบลที่เข้าร่วมนำเสนอโครงการว่า จังหวัดมีบทบาทในการพิจารณาโครงการ 70 % ก่อนที่จะไปพิจารณาที่กลุ่มจังหวัดซึ่งให้น้ำหนักเพียง 30 % ของการกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการ ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับสองวันนี้เป็นอย่างมาก ในการนำเสนอโครงการบางตำบลเสนอโครงการเดียว บางตำบลเสนอ 2 – 3 โครงการ เนื่องจากแนวทางการทำงานของภาคกลางและตะวันตกที่เน้นใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง
“ในการนำเสนอต้องรู้ว่ามีโครงการอะไรลงมาที่ตำบลบ้าง โดยเฉพาะที่มาจาก พอช. เราไม่ใช้ประเด็นงานเป็นตัวตั้ง แต่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งซึ่งสัมพันธ์กับการเสนอโครงการในครั้งนี้ด้วย การจัดทำโครงการของ พอช.ต้องมองไปในทิศทางข้างหน้า ไม่ใช่ของบประมาณแต่ละปีแล้วจบ พอช.พยายามใช้โครงการเป็นเครื่องมือการพัฒนาทั้งคนและพื้นที่ ทำอย่างไรที่จะให้พื้นที่มีการเชื่อมโยงกันเอง และเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ดังนั้น การพิจารณาในครั้งนี้จะดูจากการทำโครงการพื้นที่เป็นตัวตั้ง 1 ตำบลต้องเห็นภาพว่าได้รับงบประมาณอะไรบ้าง ใช้โครงการเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทุกมิติ ทุกองค์กร ทุกเครือข่าย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาของพื้นที่ และต้องมีระบบติดตามประเมินผลที่แสดงให้เห็นทั้งระดับตำบลและจังหวัด” นางดวงเดือนกล่าว
ในปี 2566 นี้ จังหวัดกาญจนบุรีได้มีการจัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. 5 โครงการหลัก งบประมาณรวม 25,153,241 บาท ดังนี้
- โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน ซึ่งได้มีการสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จำนวน 21 ตำบล และการพัฒนาคุณภาพสภาองค์กรชุมชนเกรด C และ D จำนวน 10 ตำบล งบประมาณ รวม 358,881 บาท
- โครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน จำนวน 24 ตำบล จำนวน 823,200 บาท และงบสนับสนุนการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนของเครือข่ายในการต่อต้านการทุจริตภาคประชาชนระดับจังหวัด จำนวน 103,300 บาท งบประมาณ รวม 926,500 บาท
- โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท 5 ตำบล จำนวน 230,000 บาท และงบระดับกลุ่มจังหวัด3จังหวัด จำนวน 90,000 บาท
- โครงการบ้านพอเพียง จำนวน 55 ตำบล 1071 ครัวเรือน รวมงบประมาณทั้งระดับตำบลและระดับจังหวัด งบประมาณรวม 22,381,200 บาท
- โครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน งบสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวน 9 กองทุน งบสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนจำนวน 7 กองทุน งบประมาณรวม 1,256,660 บาท
ในครั้งนี้ที่ประชุม คปอ.ได้มีความเห็นชอบต่อโครงการทั้งหมดแบบมีเงื่อนไข โดยให้องค์กรที่เสนอโครงการปรับแก้เอกสารให้มีความถูกต้องและสมบูรณ์ส่งให้กับคณะทำงานในวันที่ 17-18 มกราคม 2566 เพื่อตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของเนื้อหาอีกครั้ง ก่อนจัดเตรียมนำเสนอคณะทำงานพิจารณาโครงการระดับกลุ่มจังหวัดต่อไป
รายงาน : เรวดี อุลิต / วศัลย์ศยา บุญเกิน