อ่างทองและพระนครศรีอยุธยา : วันที่ 28 กันยายน 2565 ทีมบริหารขบวนองค์กรชุมชนและเจ้าหน้าที่ภาคกลางและตะวันตก ลงพื้นที่สร้างกำลังใจให้กับพี่น้องเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลโคกพุทรา อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง และตำบลเกาะเรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีสภาองค์กรชุมชนตำบลและหน่วยงานภาคีในพื้นที่ให้การต้อนรับ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ถือเป็นการเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจพี่น้องเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมต่อเนื่องเป็นวันที่ 2
การลงพื้นที่ในวันนี้เริ่มต้นที่เทศบาลตำบลโคกพุทรา อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี และลพบุรี ซึ่งมีปริมาณน้ำสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่ด้วยศักยภาพแกนนำสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกพุทรา ผู้ประสบอุทกภัยจึงได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาทิ การจัดหาเรือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น เทศบาลตำบลโคกพุทราและพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอ่างทอง สนับสนุนถุงยังชีพและน้ำดื่ม ภาคเอกชนให้การสนับสนุนอาหารแห้งและยากันยุง ประกอบกับ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่จังหวัดอ่างทองที่ไม่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ต่างมีความเอื้อเฟื้อเผื่อและให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการระดมทุนเงินบริจาคหรือสิ่งของจำเป็น ในการนี้สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลโคกพุทราได้ประสานความร่วมมือกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอ่างทอง เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มผู้เปราะบางในตำบลจำนวน 8 ครัวเรือนต่อไป
ในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ตำบลเกาะเรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งปีนี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเผชิญสภาวะวิกฤตน้ำท่วมทั้งหมด 6 อำเภอ 209 ตำบล 80,000 กว่าครัวเรือน ในขณะเดียวกันสภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะเรียนได้ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเบื้องต้น ได้แก่ การจัดตั้งครัวกลางชุมชน การจัดหาวัสดุ/ อุปกรณ์เพื่อสร้างเพิงพักที่อยู่อาศัยชั่วคราว การประสานความร่วมมือกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในการสนับสนุนถุงยังชีพและวางแผนการสนับสนุนบ้านพักชั่วคราวให้กลุ่มเปราะบางในอนาคต
ทีมบริหารขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก กล่าวให้กำลังพี่น้องและแกนนำชุมชน โดยตอกย้ำแนวคิดการบริหารจัดการภัยพิบัติต้องเริ่มต้นจากชุมชนเป็นแกนหลัก ที่มากกว่าการติดตามและเตรียมตั้งรับกับสถานการณ์ที่กำลังจะเผชิญ ซึ่งขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตกจะต้องหาแนวทาง กลไก และระบบบริหารจัดการที่สอดคล้องกับบริบทชุมชนผ่านความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการความร่วมมือในทุกภาคส่วนได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นำโดยนายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาค ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนทั้ง 2 จังหวัด ส่งผลต่อการสะสมองค์ความรู้ผ่านประสบการณ์ของขบวนองค์กรชุมชนสู่เจ้าหน้าที่และขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่อื่น ทำให้เห็นศักยภาพของผู้นำขบวนองค์กรชุมชนซึ่งเป็นทุนภายในชุมชนในการจัดการปัญหาและรับมือภัยพิบัติ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพลังให้เกิดการจัดการตนเองอย่างเต็มภาคภูมิ โดยมีทุนภายนอกหรือภาคีพัฒนาคอยเสริมพลังให้เข้มแข็งและเพิ่มพูนการทำงานให้เต็มศักยภาพมากขึ้น เกิดเฉลี่ยทุกข์ บำรุงสุข วางแนวทางในการต่อยอดและวางแผนจัดการสถานการณ์ผ่านการมีส่วนร่วมในอนาคต
รายงาน : ศรสวรรค์ เฉลียว