อุบลราชธานี/ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์แสดงสินค้าโอท็อปอุบลราชธานี เครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองธรรมเกษตรอำนาจเจริญ สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ร่วมกับแกนนำเยาวชนเมืองธรรมเกษตร สำนักงานพัฒนาสังคมจังหวัดอำนาจเจริญ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ระดมธารน้ำใจข้าวสาร 8 ตัน พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคส่งมอบแด่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี
นายวิรัตน์ สุขกุล แกนนำขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า แกนนำองค์กรชุมชนอำนาจเจริญ พร้อมแกนนำเยาวชนจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ระดมข้าวสารอาหารแห้งข้าวของเครื่องใช้น้ำดื่ม มามอบให้กับพี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการระดมธารน้ำใจจากการประกาศรับบริจาคสิ่งของผ่านไลน์ ผ่านเฟสบุ๊ค จากพี่น้อง จ.อำนาจเจริญ 3 วัน (10-11 ต.ค.) จากเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล และเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั้งจังหวัด ที่ได้ร่วมสมทบคนละเล็กละน้อย ซึ่งคนอำนาจเจริญส่วนใหญ่ทำเกษตรปลูกข้าวเป็นหลัก จึงนำข้าวสารเหนียวและข้าวสารจ้าว ผ้าห่ม เครื่องกินเครื่องใช้ เครื่องปรุงเครื่องใช้ ส่วนข้าวของเครื่องใช้ ก็ใช้เงินที่พี่น้องบริจาค และอีกบางส่วนจะนำไปมอบให้พี่น้องเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
โดยวันนี้ได้ขนข้าวสารมารถหกล้อสองคัน และรถกระบะสิบคันขนสัมภาระทั้งหมดมา เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากลำเค็ญพี่น้องยังมีความลำบากอยู่ ถ้าพี่น้องจังหวัดต่างๆ พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือทางพี่น้องอุบลยังรออยู่ เพราะคนอำนาจเจริญคนใจดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นเมืองธรรมเกษตร ที่คนมีธรรมนำชีวิต ถ้าพบกับใครที่มีความยากลำบาก ถึงแม้ตนเองจะลำบากเช่นกัน แต่พี่น้องอุบลที่พบกับน้ำท่วมมีความยากลำบากมากกว่า เลยชักชวนกันระดมข้าวสารอาหารแห้งข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อครัวเรือนมาช่วยกัน ใช้เวลาระดม 3 วัน ก็ได้ข้าวสารข้าวเหนียวและข้าวจ้าวรวม 8 ตัน น้ำดื่มประมาณ 100 โหล พวกเครื่องครัวน้ำปลา พริก กะปิ ผ้าอนามัย ยาสามัญประจำบ้าน
นับว่าเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ที่ได้ช่วยเหลือคน พี่น้องได้มีอาหารการกิน พวกเราก็มีความสุขยิ่งได้ช่วยเหลือกันยิ่งมีความสุข นายวิรัตน์ สุขกุล กล่าวในตอนท้าย
ความเดือดร้อนที่ชุมชนบ้านหาดสวนยา ไพลำ วิวรรณรัมย์ ชุมชนบ้านหาดสวนยา ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในผู้ประสบภัย เล่าให้ฟังว่า น้ำท่วมที่เทศบาลเมืองวารินชำราบส่งผลกระทบ 2,000 กว่าครัวเรือน ทั้ง 14 ชุมชน ท่วมร้อยเปอร์เซ็น เพราะเกิดจากความชะล่าใจ ชาวบ้านคิดว่าน้ำมาแค่นี้ ก็ซื้อแคร่มาตั้งวางของหนีน้ำ น้ำขึ้นอีกก็พาดไม้วางไว้ที่หน้าต่าง สุดท้ายน้ำท่วมถึงหน้าต่าง บางคนเคยเปิดเข้าไปเอาของทางหน้าต่าง เข้าไปเอาของในบ้านไม่ได้ ต้องเจาะหลังคาเข้าไปแทน ข้าวของหลายอย่าง เครื่องใช้ไฟฟ้าจำใจต้องทิ้ง ต้องบอกว่าจากปี 2562 แม้จะเคยมีบทเรียนแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่จำ มาปีนี้การคาดการณ์น้ำที่มาก็ผิดทุกอย่าง ยิ่งจะใกล้ออกพรรรษาแล้ว ก็คิดว่าน้ำคงน้อยจึงขนของย้ายกันออกมาไม่ทัน
ความเดือดร้อนที่ชุมชนวังสว่าง พัฒนพร โพธิปัตย์ และสุวรรณ รัมย์คำพา ชุมชนวังสว่าง 8/1 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี นอกจากปัญหาเรื่องน้ำท่วมบ้านแล้ว ยังกระทบปัญหาเรื่องครอบครัวขยาย ที่ทำไม่ได้สิทธิ์อะไร หน่วยงานราชการจะมองเป็นครอบครัวเดียว ปัญหาคือถุงยังชีพ ครอบครัวผมไม่เพียงพอเพราะบ้านผมเป็นบ้านสองหลัง อยู่กันสิบคน ทางการเขามองว่าหลังคากลบกันเป็นบ้านหลังเดียว ตอนกลางวันก็อาศัยเรือล่องขึ้นไปทำงาน ขออนุญาตผู้บังคับบัญชา สลับวันกันไปมา ตอนนี้อพยพเด็กๆออกไปอยู่ข้างนอกแล้ว และเสาไม้กลางบ้านเริ่มบวม บางอย่างก็ต้องทิ้ง ส่วนที่สำคัญก็เอาไว้ที่ขื่อ และใช้ไฟจากแผงโซล่าเซลล์ “ถึงแม้น้ำท่วมเราก็พยายามจะหาที่นอนหาเอาไม้พาดพอให้นอนได้ อาศัยหลับนอนชายคา หาไม้มาพาดพอได้นอน เพื่อนอนรักษาบ้านด้วยและก็ดูแลบ้านเรือนแถวๆ นี้ด้วย
ด้าน อัฐฌาวรรณ พันธุ์มี ประธานชุมชนวังสว่าง ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 น้ำมาพี่น้องเริ่มย้าย ช่วงแรกน้ำยังขึ้นไม่มาก แต่เริ่มมามากตั้งแต่ 3 ตุลาคม 2565 น้ำมาเร็วมาก ตอนแรกหมู่บ้านเสาวลักษณ์ริมมูลไม่ท่วม พี่น้องชุมชนกุดแสนตอก็สภาพคล้ายกัน แต่พอน้ำไล่ขึ้นมาก็จนท่วมบ้านไปแล้ว ไฟฟ้าถูกตัด การกลับมาดูบ้านต้องใช้เรือเครื่องเพราะกระแสน้ำไหลแรง ในส่วนพี่น้องบ้านมั่นคง ก็ขนได้บ้างไม่ได้บ้าง พี่น้องไม่ได้ขนของไปหมดก็เอาไว้ที่ขื่อที่จอมสูงๆ ตรงที่แหลมๆ ในบ้าน หลายหลังก็จมมิดข้าวของที่เหลือไว้ก็ไม่ได้ บางคนเหลือแต่เสื่อผืนหมอนใบ ไปอยู่ที่เต้นท์ศูนย์อพยพชั่วคราว
ในส่วนการรับมืออันดับแรกของที่กุดคูณคือ เราตั้งครัวกลางเมื่อช่วงปลายเดือน ไม่คิดว่าน้ำจะเยอะขนาดนี้ เริ่มแรกเราตั้งที่สำนักงานบ้านมั่นคง แต่น้ำก็ขึ้นมาครัวกลางเราเก็บหม้อไม่ทัน แค่ขึ้นไปเอาเก้าอี้กลับลงมาหม้อก็ลอยไปแล้ว พี่น้องที่ช่วยขนของอย่างน้อยก็ช่วยดูแล และมีหน่วยงานทุกภาคส่วนมาบริจาคอาหาร ข้าวกล่อง น้ำดื่มสิ่งของต่างๆ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับปี 2562 การช่วยเหลือยังนับว่าน้อยมาก ถ้าเทียบกับจำนวนผู้เดือดร้อนที่กุดคูณจุดเดียวก็ 200 กว่าแล้ว แต่ก็ต้องขอขอบคุณข้าวทุกเม็ด น้ำทุกขวดที่ผู้มีจิตศรัทธามาบริจาค
ตั้งครัวกลางจากกองทุนของชุมชนช่วยตนเองเดือนเต็ม ดวงศรี คณะทำงานครัวกลางกองทุนเมืองนครอุบลราชธานี เล่าถึงครัวกลางที่สัดกุดคูณว่า จากพี่น้องที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ และจากพี่น้องที่ทำกองทุนภัยพิบัติ และกองทุนรักษาดินรักษาบ้าน ซึ่ง ดูแลพี่น้อง 200 ครัวเรือน แต่เราก็ดูแลพี่น้องที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนด้วยเพราะประสบปัญหาเหมือนกัน พี่น้องขนของออกมาทั้งวันทั้งคืน ปีนี้เราเริ่มตั้งครัวกลางได้เร็ว มีหลายคนมาถาม พี่น้องก็ยากเรื่องข้าวเรื่องน้ำ
พอทำแล้วปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ ตรงที่สิ่งที่ทำเรานึ่งข้าวเหนียว ปิ้งไก่ ป่นปลา ตำบักหุ่ง ตอบโจทย์พี่น้อง ปีนี้ผู้ใจบุญน้อยลง เทศบาลก็ยังแจกไม่ทั่วถึง เพราะทางจังหวัดยังประกาศเขตภัยพิบัติ ท้องถิ่นจึงไม่สามารถตั้งงบได้ ครัวกลางที่นี่เราจะเริ่มนึ่งข้าวตั้งแต่ตี 4 ตี 5 นึ่งข้าวถวายพระด้วย ครัวนี้เลี้ยงคนประมาณ 300 คน เดิมตั้งใจจะทำวันละมื้อ แต่จากที่ทำสรุปเป็น 3 มื้อ เพราะที่นี่นึงข้าว เป็นความคุ้นชินที่พี่น้องเคยกิน
เดือนเต็ม กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องจัดการต่อการเรื่องปากท้องกับที่อยู่อาศัยชั่วคราว เราต้องคุยเรื่องนโยบายกับทางท้องถิ่น ในการเยียวยาของปีนี้ เกณฑ์การชดเชย ยังไม่มีการสำรวจความเสียหาย การเยียวยาจะดูแลชดเชยอย่างไร ถ้าใช้เกณฑ์เดิมในหารประเมินได้หลังละ 500 หลังละ 1,000 บาท ซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างมาก ปีนี้ต้องมีเกณฑ์ที่เหมาะสม
ในส่วนที่เราทำได้ ครัวกลางคือเรื่องสำคัญ การมีกองทุนสำคัญที่สุด ณ นาทีแรกเรานึกถึงเงินกองทุน เรามีเท่าไหร่ ต้องเอามาเป็นทุนตั้งต้น เราสามารถเรียกกรรมการมาพิจารณาและดูตัวเลขได้เลย แต่ชุมชนอื่นยังต้องระดมทุนเพื่อเริ่มต้น ทำให้ไม่ทันต่อสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม ถึงสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีในปีนี้ยังคงหนัก ชุมชนยังคงต้องเฝ้าระวังน้ำที่ไหลมาเพิ่มเติม แต่ในความทุกข์ยากลำบากยังมีธารน้ำใจมาประโลมใจให้สามารถผ่านไปได้ อย่างเช่นธารน้ำใจจากคนอำนาจเจริญ และภาคีเครือข่ายในวันนี้