กรุงเทพมหานคร/วันที่ 6 ตุลาคม 2565 เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดสัมมนาแผนปฏิบัติการเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ปี พ.ศ. 2566 เพื่อทำความเข้าใจเป้าหมายการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนตามแนวทางใหม่ พร้อมสรุปผลการดำเนินงานของปีที่ 2565 ผ่านมา และออกแบบกำหนดทิศทางการทำงานในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต สามารถหนุนเสริมการทำงานของเครือข่ายกองทุนสวัสดิการในทุกระดับ โดยมีนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายแก้ว สังข์ชู ประธานคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค ที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่ พอช. และกองเลขาสวัสดิการชุมชน จำนวนกว่า 40 คน เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ชั้น 1 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
นายกฤษดา สมประสงค์
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ทิศทางในการดำเนินงานสวัสดิการชุมชน เป้าหมาย 10 ล้านคน และในภายในปี 2576 จะเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนให้เต็มพื้นที่ ปัจจุบันเราสามารถเดินมาได้มากกว่าครึ่งทางแล้ว และต้องร่วมกันเดินต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมาย การขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนเราดำเนินการแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 233 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อสมทบและพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน รวมถึงกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับ และมีเป้าหมายในการการขยายพื้นที่ใหม่ (จัดตั้งกองทุน) ทั้งนี้ จากที่ได้ร่วมลงพื้นที่ทำตัวชี้วัด ทำให้ทราบข้อมูลกองทุนที่หยุดดำเนินการ เราจึงจัดสรรกรอบงบประมาณ เพื่อพัฒนาสู่ความเข้มแข็งเพื่อให้การขับเคลื่อนงานไปสู่ความเข้มแข็ง จึงอยากสนับสนุนให้ขบวนองค์กรชุมชนเกิดการทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพื้นที่ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีงบประมาณที่จะให้องค์กรชุมชนสามารถจัดทำแผนในการเสนอขอรับงบประมาณ การประสานงานให้มีการประสานงานร่วมกับกลไกสำคัญคือพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
ส่วนมิติในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน ประกอบด้วย 1.แนวทางการสนับสนุนทางนโยบายการสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนแบบถ้วนหน้า การลดหย่อนภาษี 2.พัฒนารูปแบบงานสวัสดิการชุมชน ให้มีรายได้เลี้ยงตนเองให้มีความหลากหลายมากขึ้น 3.การพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยจัดสรรกรอบงบประมาณโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน ปี 2566 เพื่อพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน 4.การแก้ไขกฎหมาย เพื่อสนับสนุนงานสวัสดิการชุมชน เช่น ค่าตอบแทนในการสนับสนุนงานสวัสดิการชุมชน ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงาน และปีงบประมาณ 2566 เป็นการวัดมาตรฐาน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอหลักเกณฑ์ไปยังสำนักงาน กพร. โดยมีเป้าหมาย 1,000 กองทุน นายกฤษดา กล่าวเพิ่มเติม
นายแก้ว สังข์ชู
นายแก้ว สังข์ชู ประธานเครือข่ายอนุการสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ พ.ศ.2565 ผ่านมา เครือข่ายสวัสดิการชุมชนได้มีการร่วมมือกันในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนอย่างเป็นระบบและเกิดพื้นที่รูปธรรมในการจัดสวัสดิการแนวใหม่หลายพื้นที่ และเครือข่ายสวัสดิการชุมชนทุกระดับ รวมไปถึงผู้บริหารพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ พอช. ยังได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหากองทุนสวัสดิการชุมชนที่หยุดดำเนินการกระตุ้นให้สามารถให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไปได้ ส่วนใน งบประมาณ ปี พ.ศ. 2566 ที่ทางเครือข่ายได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการออกแบบการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน และแบ่งปันประสบการณ์ให้กับกองเลขาสวัสดิการชุมชน 5 ภาค ซึ่งถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน จะต้องมีความเข้าใจทิศทางการดำเนินงานสวัสดิการชุมชน นำไปสู่การเผยแพร่ขยายผลต่อพื้นที่สาธารณะได้
นายสิน สื่อสวน
นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า เป้าหมายในการดำเนินงานปี 2566 การที่จะวางแผนอยากให้ทุกคนได้เห็นภาพรวมของงานทั้งส่วน 1.เป้าหมายการพัฒนาตามแผน 5 ปี 2566 – 2570 สวัสดิการชุมชนเป็นระบบหนึ่งของสวัสดิการสังคม กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นแกนกลางการจัดสวัสดิการในพื้นที่ 2. การพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง ตามยุทธศาสตร์ พอช. และขบวนองค์กรชุมชน การบูรณาการงานทุกประเด็นเพื่อชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง การสร้างความร่วมมือและประสานทรัพยากรเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมของตำบล 3. สภาพความจริงและความเสี่ยงในปัจจุบัน รวมไปถึงสัดส่วนสมาชิกกองทุนต่อประชากรในพื้นที่ สัดส่วนผู้สูงอายุกับคนทั่วไป การจัดสวัสดิการที่ต้องปรับให้สนองต่อการแก้ปัญหาและสถานการณ์ของสมาชิกและชุมชน ระบบการจัดเก็บ/การจัดรายงานข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ เป็นปัจจุบัน ใช้ได้ง่ายแต่มีประสิทธิภาพ มีพลัง เป็นฐานการแก้ปัญหาและพัฒนากองทุน และแนวทางพัฒนากองทุนต้นแบบเพื่อการขยายผลทั้งปริมาณ คุณภาพ
แนวทางการพัฒนาสวัสดิการชุมชน ปี 2566 ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายการทำงานในทุกระดับ ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการดำเนินงาน จัดทำฐานข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชน (กลาง) ประสานภาคธุรกิจ ที่จะสนับสนุนการเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัดไปจนถึงระดับชาติ (CSR) เพิ่มระบบการบริหารจัดการ การหนุนเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชน และการสร้างความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นต่องาน/กองทุนสวัสดิการชุมชนกับคนในชุมชนการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมระดับจังหวัด จัดทำแผนการสนับสนุนให้กองทุนสวัสดิการชุมชน จัดทำข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชนและการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ การสร้างคนรุ่นใหม่ (1) คนรุ่นใหม่ทางความคิดไม่ยึดติดกับอายุ (2) คนรุ่นใหม่ที่อายุน้อย มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี เช่น กองเลขาสวัสดิการชุมชน 5 ภาค ฯลฯ เพื่อสานต่องานสวัสดิการชุมชนจากคนรุ่นก่อน จัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมาหชน) และวิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสนอให้ภาคประชาชน (ขบวนองค์กรชุมชน) เนื่อเป็นแกนหลักขับเคลื่อนงาน สุดท้ายคือการพัฒนาศักยภาพ สร้างระบบทีมทำงานคนรุ่นใหม่ และออกแบบติดตามและประเมินผล