ด้วยสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 ซึ่งผลกระทบทำให้ผู้คนในตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำมากมากยิ่งขึ้น ชุมชนต้องดิ้นรนเอาตัวรอด บางคนก็ไม่มีทางออกต้องทนอยู่ในสภาพอันแร้นแค้น แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออก เนื่องจาก “สังคมไทยยังไม่สิ้นคนดี ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” นี่คือหลักคิดของคนตำบลหัวเขา ที่สภาองค์กรชุมชนตำบลหัวเขาซึ่งนำโดยนางสาวพยอม น้ำแก้ว ได้กล่าวเอาไว้
เชื่อมโยงแผนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต ปี 2565 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีนโยบายการสนับสนุนฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19 และกลุ่มผู้เปราะบางต่างๆ ทั้งผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และผู้ยากจน ซึ่งตำบลหัวเขาก็เป็นตำบลหนึ่งที่ได้รับโอกาสนี้ ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท จึงเป็นที่มาของการฟื้นฟูเยียวยา แก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ศักยภาพตำบล และการจัดทำแผนพัฒนาตำบลทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเมื่อผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกชุมชนในการจัดทำโครงการและเป็นที่มาของกิจกรรมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจซึ่งทุกคนมองว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของชุมชนในยามนี้ สภาองค์กรชุมชนตำบลหัวเขาจึงได้ทำบทบาทเป็นพื้นที่กลางในการขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่
การขับเคลื่อนงานในครั้งนี้ มีการเชื่อมโยงกับสถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรีในการจัดทำปุ๋ยน้ำ และดินพร้อมปลูกจากมูลไส้เดือน เกษตรอำเภอ เพื่อมาให้ความรู้กับเกษตรกรในการปลูกผัก การเชื่อมโยงกับ กศน. ในการจัดทำเครื่องใช้ในครัวเรือน น้ำยาล้างจาน แชมพูสระผมสมุนไพรดอกอัญชัน เพื่อลดรายจ่าย มีการประสานงานกันพัฒนาชุมชนกิจกรรมต่อยอดโคกหนองนา สนับสนุนการเลี้ยงปลา ปลูกผัก และเชื่อมโยงกับสวนผักพื้นบ้าน ทำการเกษตรแบบผสมผสานด้วยวิถีเศรษฐกิจพอเพียง และการปลูกผักแบบปลอดสารไว้กินเอง ในแนวคิดว่าทำผักสวนครัว รั้วกินได้ โดยกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ตลอดจนความสำเร็จที่เกิดขึ้น ดังนี้
. ประชุมสร้างความความเข้าใจการขับเคลื่อนงาน การขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตตำบลหัวเขา เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่ได้มีการจัดเวทีทำความเข้าใจ ชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ มีผู้เข้าร่วมจำนวน 70 คน โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเขา พัฒนาการอำเภอ กศน. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พัฒนาที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้นำ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มอาชีพภายในชุมชนเข้าร่วม มีปลัดอำเภอเดิมบางนางบวชเป็นประธานเปิด นายเนตร ปิ่นแก้ว ประธาน คปอ.จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมจุดประกายเสริมความคิดในการแก้ปัญหา กศน.ชี้แจงการร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เวทีดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทบทวนกระบวนการการดำเนินงานที่ผ่านมาในตำบล ทบทวนแผนพัฒนาตำบล เกิดแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดทำข้อเสนอการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น
ต่อมา วันที่ 7 มิถุนายน 2565 ได้มีการประชุมคณะทำงานกำหนดแผนปฏิบัติการร่วมกับผู้นำท้องที่ หน่วยงาน และท้องถิ่นอีกครั้ง ในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารเรื่องการพัฒนาอาชีพ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน โดยได้จัดประชุมคณะทำงาน หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ผู้นำกลุ่มองค์กรในตำบล มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วม จำนวน 24 คนเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้ความรู้และทักษะในการดำเนินงาน
ส่งเสริมการลดรายจ่ายในครัวเรือนและสร้างอาชีพเสริม จากนั้นได้มีการจัดเวทีอบรม ให้ความรู้ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร พร้อมทั้งลงมือปฏิบัติ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2565 ได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แบ่งกลุ่มตามความสนใจ โดยมีผู้เข้าร่วม จำนวน 35 คน มีกิจกรรมประกอบด้วย ทำน้ำยาล้างจาน ทำแชมพูสระผมดอกอัญชัน โดยมีบุคลากรจาก กศน. อำเภอเดิมบางนางบวชมาให้ความรู้
อบรมการเลี้ยงไส้เดือน การส่งเสริมการเลี้ยงไส้เดือน โดยปราชญ์ชุมชน วันที่ 20 มิถุนายน 2565 หลังจากที่ได้รับความรู้เรื่องการเลี้ยงไส้เดือนไปแล้ว ได้มีการลงมือปฏิบัติการเลี้ยงไส้เดือนในโรงเลี้ยง ประกอบด้วยการเลี้ยงไส้เดือน การร่อนมูลไส้เดือน พร้อมทั้งเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจากการใช้มูลไส้เดือนที่สำเร็จแล้วสาธิตการบรรจุถุงปุ๋ยจากมูลไส้เดือนเพื่อจำหน่ายต่อไป
อบรมการทำปุ๋ยจากต้นกล้วย วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ได้มีการจัดอบรมการทำปุ๋ยจากต้นกล้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้มีรายได้น้อยตำบลหัวเขา มีผู้เข้าร่วมจำนวน 35 คน โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี จัดเจ้าหน้าที่มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในการทำน้ำหมักจากหยวกกล้วย ร่วมกับการใช้สารเร่งของสถานีพัฒนาที่ดิน ทำให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้สามารถนำกลับไปทำใช้ในการบำรุงดูแลพืชผักสวนครัวที่บ้านได้ โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้มีพืชผักปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือน
แจกเมล็ดพันธุ์ผัก พร้อมกันนี้หลังจากมีการอบรมการทำปุ๋ยจากต้นกล้วยเสร็จ ได้มีการแจกเมล็ดพันธุ์ผักให้กับผู้เข้ารับการอบรมด้วย เพื่อสร้างแหล่งอาหารในครัวเรือน เป็นลดรายจ่าย และหากมีมากหรือเหลือจากการบริโภคในครัวเรือนสามารถจำหน่ายในราคาต่ำเป็นช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน
อบรมทำไข่เค็มสมุนไพรดินสอพองใบเตย การทำไข่เค็มสมุนไพรดินสอพองใบเตย หมักด้วยวิธีการปั้นแล้วห่อเพื่อให้เก็บความชื้นของเนื้อแป้ง ซึ่งเป็นการแปรรูปและการถนอมอาหารชนิดหนึ่งที่สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าการทำไข่เค็มแบบดองน้ำ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งจากการใช้ใบเตยหอมมาเป็นตัวดึงดูดความสนใจจากความหอมของใบเตย ซึ่งจะเป็นจุดขายหากมีการนำไปเป็นช่องทางการประกอบอาชีพต่อไป
ส่งเสริมการเลี้ยงปลา การเลี้ยงปลาเป็นการต่อยิดมาจากโครงการโคกหนองนาโมเดล โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเดิมบางนางบวช เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 กลุ่มเป้าหมายรับพันธุ์ปลามาปล่อยลงบ่อเลี้ยง โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ในกิจกรรมนี้จำนวน 5 ราย รวมจำนวนปลาทั้งหมด 30,000 ตัวโดย แบ่งรายละ 6,000 ตัว และอาหารปลารายละ 10 กระสอบ โดยผู้รับประโยชน์ทั้ง 5 ราย เกิดจากการประชาคมเพื่อค้นหาผู้ที่มีความต้องการและเหมาะสมกับกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีผู้ต้องการอาชีพเสริมในด้านนี้ จำนวน 5 รายดังกล่าวข้างต้น
สรุปบทเรียนการดำเนินงาน จากการสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 70 คน ผลสะท้อนจากผู้เข้าร่วมทำให้พบว่าข้อดีจากโครงการว่ากลุ่มผู้เข้ารับการอบรมแต่ละกิจกรรมมีความรู้สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้ เป็นต้นแห่งทุนแห่งองค์ความรู้ที่จะสามารถช่วยเหลือตนเองได้ นอกจากนี้ ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมต่างๆ สามารถบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นและมีการแบ่งปันให้เพื่อนบ้านใกล้ชิด และยังเกิดการสร้างอาชีพได้ในอนาคต เนื่องจากมีการประเมินความเป็นไปได้ ซึ่งพบว่ามีกลุ่มผู้สนใจตั้งใจที่จะทำต่อเนื่องไม่กว่าร้อย 50 ราย และสุดท้าย คือ เกิดการลดรายจ่ายในครัวเรือน และการปลูกผักกินเองมีผลที่ดีต่อสุขภาพ สุขภาพปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งยังมีเสียงสะท้อนในเชิงที่เป็นจุดอ่อนหลังจากการจัดกิจกรรมของโครงการนี้ คือ การส่งเสริมด้านการจำหน่าย ที่ประชุมเสนอให้มีการจัดตลาดชุมชนเพื่อจำหน่ายสินค้าปลอดภัย และขยายผลการดำเนินโครงการ โดยการจัดทำแผนพัฒนาเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในตำบลหัวเขาต่อไป
น้ำยาล้างจาน แชมพูสระผม
ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้จากผลการสรุปบทเรียน การดำเนินการโครงการนี้ ทำให้คนมีความรู้ เกิดการลดรายจ่ายในครัวเรือน เกิดความมั่นคงทางอาหาร เกิดการบ่งปัน เกิดอาสชีพเสริมและแนวทางการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน และที่สำคัญ คือ เกิดศูนย์สาธิตการเลี้ยงไส้เดือนที่ตำบลหัวเขา 1 ศูนย์ มีแปลงนาสาธิตทดลองใช้ปุ๋ยไส้เดือน 1 แปลง และยังเกิดการเชื่อมโยงคนระหว่างกลุ่มอาชีพในการดูแลเอื้อเฟื้อแบ่งปันของใช้ในครัวเรือนที่ชาวบ้านทั้ง 12 หมู่ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยมีการรวมกลุ่มลงหุ้นเป็นกองทุน หุ้นละ 10 บาท เป็นทุนภายในโดยชุมชน อันเกิดจากความเกื้อกูลความมีน้ำใจและเห็นคุณค่าจากโอกาสที่ได้รับจากการขับเคลื่อนของสภาองค์กรชุมชน และการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รวมทั้งหน่วยงาน ภาคี ท้องถิ่น ที่มีต่อชุมชนนั่นเอง
ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมในระยะเวลาอันสั้น
ไข่เค็มสมุนไพร
ปุ๋ยมูลไส้เดือน
เรียบเรียง : กมรวรรณ รุ่งพันธุ์
นักสื่อสารชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี