กรุงเทพมหานคร : วันที่ 26 – 27 กันยายน 2565 สำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 13 จังหวัด จัดเวทีสรุปบทเรียนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ ห้องไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมประมาณ 60 คน ประกอบด้วยคณะทำงานโครงการฯ ผู้แทนคณะทำงานกลุ่มจังหวัด ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน ภาคีวิชาการ หน่วยงานราชการ และผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ พอช.
เวทีดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ปี 2565 การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับกลุ่มจังหวัดและบทเรียนการเชื่อมโยงแผนฯ ระดับกลุ่มจังหวัดและภาค อภิปรายข้อมูลการวิจัยชุมชน และทบทวนเป้าหมายแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับภาคโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ปี 2566 โดยในช่วง 2 วันนี้มีกิจกรรมสำคัญ คือ การตอกย้ำเป้าหมายโครงการฯ ภาคกลางและตะวันตก ปี 2565 นำเสนอและแลกเปลี่ยนบทเรียนการดำเนินงานโครงการฯ ของแต่ละกลุ่มจังหวัด การนำเสนอและการอภิปรายร่างงานวิจัยโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตภาคกลางและตะวันตก เวทีเสวนาบทเรียนพื้นที่รูปธรรมการขับเคลื่อนงาน การทบทวน/จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มจังหวัด การยื่นข้อเสนอแนวทางการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทของขบวนองค์กรชุมชนต่อผู้แทนสถาบันฯ และสุดท้ายเป็นการเติมเต็มและปิดเวทีสรุปบทเรียนโครงการฯ โดยผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก
ภาคกลางและตะวันตก ได้มีการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ ใน 3 กลุ่มจังหวัด รวม 102 ตำบล/เมือง งบประมาณรวม 8,688,849 บาท ได้มีการขับเคลื่อนปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับพื้นที่มาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม – กันยายน 2565 รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือนเศษ พบว่ามีประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนงาน อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ได้มีการส่งเสริมเรื่องอาชีพ การลดรายจ่ายสร้างรายได้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการตลาด การจัดจำหน่ายสินค้า และแก้หนี้สินครัวเรือน ด้านการเกษตร มีการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการปลูกพืชปลอดภัย การแปรรูปผลผลิต ศูนย์เรียนรู้การเกษตร ด้านวัฒนธรรม มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การอนุรักษ์มรดกโลก/ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านสุขภาวะชุมชน เช่น การป้องกันโรคติดต่อและไม่ติดต่อ การรักษาสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมด้านการจัดการขยะ และด้านอื่นๆ เช่นการพัฒนาปรับปรุงที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้สร้างการตื่นตัวตื่นรู้ให้กับชุมชนในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และสร้างแรงสะเทือนให้ชุมชนกลับสู่สังคมเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ผู้เดือดร้อนหรือคนในพื้นที่ได้รับรู้ปัญหาและความต้องการของตนเอง สามารถออกแบบแนวทางการพัฒนาพื้นที่ได้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยใช้ทุนเดิมที่มีอยู่ในชุมชนเป็นเครื่องมือในการต่อยอดการพัฒนา มีคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในงานพัฒนาตำบล มีกองทุนหมุนเวียนต่อยอดงานพัฒนาในพื้นที่ เกิดการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างพื้นที่ตำบลกับหน่วยงาน/องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง เกิดการยอมรับและการสนับสนุนจากหน่วยงาน เกิดแผนพัฒนาพื้นที่ระดับต่างๆ ที่มาจากความต้องการของชุมชนทุกมิติ เกิดการบูรณาการแผนงานและงบประมาณร่วมกับหน่วยงานภาคี
ทั้งนี้ พบว่าปัจจัยของความสำเร็จไม่ได้มาจากการขับเคลื่อนงานของคนทำงานในพื้นที่เพียงลำพัง แต่มาด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ทุนเดิมที่มีอยู่ในตำบล ทีมทำงาน ความร่วมไม้ร่วมมือของกลุ่มเป้าหมาย การทำงานร่วม/การสนับสนุนจากภาคี องค์ความรู้ การมีธรรมาภิบาล ความโปร่งใสของคนทำงาน ฯลฯ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีอุปสรรค ข้อติดขัด เช่น งบประมาณโครงการมีน้อย ความเข้าใจของแกนนำและกลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลาการดำเนินโครงการสั้น อีกทั้งการสนับสนุนงบประมาณพัฒนาพื้นที่ของ พอช.ไม่ต่อเนื่อง (ไม่ซ้ำพื้นที่เดิม) จึงไม่สามารถทำให้เกิดรูปธรรมที่ชัดเจนได้ สถานการณ์โควิด- 19 และอุทกภัยในพื้นที่ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างต่อเนื่อง การเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีในระดับจังหวัดยังไม่เป็นไปในรูปแบบของหุ้นส่วนการพัฒนา ดังนั้น หลายกลุ่มจังหวัดจึงมีเสนอเหมือนกัน คือ ให้มีการสนับสนุนงบประมาณพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรูปธรรม ต่อยอดงานพัฒนา ยกระดับเป็นพื้นที่เรียนรู้และขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น โดย พอช.เป็นตัวกลางในการประสานงบประมาณและความร่วมมือกับรัฐ หน่วยงานภาคี และสนับสนุนการเชื่อมโยงกลไก ภาคี เครือข่ายในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกันในรูปแบบหุ้นส่วนการพัฒนา
เรวดี อุลิต รายงาน