สระบุรี (วันที่ 26 กันยายน 2565) : จากขับเคลื่อนงานของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี ภายใต้การหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้แก่ การป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท การแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย กองทุนสวัสดิการชุมชน ฯลฯ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกลไกความร่วมมือทุกระดับ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการหนุนเสริมและกิจกรรมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน จึงได้มีการจัดสมัชชาขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี ภายใต้แนวคิด “การต่อต้านการทุจริตอย่างมีส่วนร่วม : โปร่งใส เป็นธรรม มีความเท่าเทียม” โดยมีสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองและชนบท และภาคีพัฒนาในพื้นที่เข้าร่วมงานกว่า 200 คน
ภายในงานสมัชชาฯ มีการจัดกิจกรรมร่วมเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ผ่าน Ted Talk รูปธรรม “องค์กรชุมชนกับการขับเคลื่อนการป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างมีส่วนร่วม” โดยบอกเล่าเรื่องราวภายใต้ประเด็นการขับเคลื่อนงานสำคัญ ได้แก่ การป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างมีส่วนร่วมของสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองสรวง, การพัฒนาคุณภาพชีวิต “ไพหญ้าคา พลิกชีวิต” ของสภาองค์กรชุมชนตำบลเจริญธรรม, การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย (บ้านพอเพียง) ของสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าคล้อ, สร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแสลงพัน และต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน “การทำพริกแกงปลาดุก” ของสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุด และการป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างมีส่วนร่วมของชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต
นางกมลปฐมพร กัณหา ประธานคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า “การทุจริตถือเป็นประเด็นปัญหาระดับชาติที่พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนและเครือข่ายภาคีพัฒนาของจังหวัดสระบุรีให้ความสำคัญ เห็นได้จากการสานพลังของสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และเครือข่ายที่อยู่อาศัยที่ร่วมมือกันต่อต้านการทุจริตในการสอดส่อง ดูแล และแจ้งเบาะแสโครงการที่ส่อแววจะทุจริต ซึ่งถือเป็นบันไดอีกขั้นที่ทำให้การทุจริตในพื้นที่จังหวัดสระบุรีลดน้อยลง ประกอบกับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้อยู่ดีมีสุขร่วมผ่านการสนับสนุนงบประมาณและโครงการจากหน่วยงานภาครัฐที่ถือเป็นภาคีที่สำคัญ ในการหนุนเสริมการพัฒนาชุมชนให้ขยายวงกว้างในทุกประเด็นงานต่อไป”
เวลาต่อมา ได้มีเวทีเสวนา “บทบาทในการหนุนเสริมองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี ในการขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริต” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระบุรี (นางสาวน้ำค้าง คันธรักษ์) ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสระบุรี (นายยอดชาย ภูแก้ว) สำนักงานแรงงานจังหวัดสระบุรี (นายเฉลิมพล เนียมสกุล) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (นายธนวัฒน์ สนิทศักดิ์ศรี) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดสระบุรี (นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ยิ่ง) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่อบุญ)
นางสาวน้ำค้าง คันธรักษ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาการทำงานร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี ได้ผนึกกำลังในการทำหน้าที่แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่ ผ่านการใช้จ่ายงบประมาณโครงการที่เป็นอย่างโปร่งใส ดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งถือเป็นบทพิสูจน์การขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรมระดับพื้นที่”
ภายใต้ภารกิจงานของส่วนราชการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม ศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตของกระทรวงแรงงาน การก่อตั้งชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต ที่คอยเสริมสร้างการป้องกันและต่อต้านการทุจริต เช่น อบรมสร้างความตระหนักรู้ ตรวจสอบสิทธิ์ การลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการที่ส่อแววการทุจริต เป็นต้น โดยสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนผ่านอาสาสมัคร จิตอาสา และพี่น้องประชาชนทั้งจังหวัดสระบุรี
นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก กล่าวว่า “ตามการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ในการสนับสนุนพี่น้ององค์กรชุมชนให้ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของงานพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง โดยหยิบเอางานพัฒนาเป็นเครื่องมือในการสร้างพลังองค์กรชุมชนเข้มแข็งผ่านการสนับสนุนงบประมาณ เช่น การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สวัสดิการชุมชน แก้ไขและพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นต้น แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน จึงได้มีการเชื่อมประสานภาคีหุ้นส่วนทั้งภาครัฐหรือภาคเอกชน เพื่อร่วมหนุนเสริมองค์กรชุมชนในฐานะเจ้าของงานพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม”
ปิดท้ายงานสมัชชาด้วยการมอบป้ายบ้านพอเพียงจังหวัดสระบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 50 ตำบล 360 ครัวเรือน งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 6,867,500 บาท (หกล้านแปดแสนหกหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยบาทถ้วน) ถือเป็นการตอกย้ำความร่วมมือในการแก้ไขและพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกันของเครือข่ายพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี
รายงาน : ศรสวรรค์ เฉลียว