กาฬสินธุ์ : ระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน 2565 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ คณะทำงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขบวนองค์กรชุมชน 5 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคีวิชาการ จัดเวทีสัมมนาสรุปบทเรียนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ก้าวไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของคนอีสาน” เพื่อนำเสนอรูปธรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปผลการดำเนินงาน และสังเคราะห์บทเรียน พร้อมวางแนวทางและข้อเสนอ ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ของเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เข้าร่วม กว่า 100 คน ณ ศูนย์ศึกษาลำปาว (เขื่อนลำปาว) ตำบลลำคลอง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
นายสุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือไมค์กลางภาพ
นายสุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า เวทีสรุปบทเรียนครั้งนี้ เป็นการบอกเล่าและแลกเปลี่ยนถึงเรื่องความสำเร็จร่วมกัน เราจะได้องค์ความรู้สำคัญที่ใช้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทเป็นเครื่องมือ และความรู้ดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังการพัฒนาคุณภาพชีวิตในปีถัดไป ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีต้นทุน มีสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกในการเชื่อมโยงความเข้มแข็งและคุณภาพชีวิตของชุมชน ซึ่งตัววัดคุณภาพชีวิตนั้นเรายังไม่สามารถวัดความลึกของคุณภาพชีวิตได้มากนัก โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำเรื่องคุณภาพชีวิตโดยตรง รวมไปถึงการจัดสวัสดิการชุมชนที่ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนรายครัวเรือน เพราะดูแลกันตั้งแต่เกิดจนตาย ชุมชนร่วมจัดการกันเอง และขยับสู่การพัฒนาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย รวมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชน ใช้ทุนและทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ถือเป็นมิติของการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นตัวบ่งชี้ถึงความมั่นคงในชีวิตของพี่น้องประชาชน
“โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ที่ไปสนับสนุนองค์กรชุมชนนั้นมีความสำคัญ ที่สามารถเชื่อมโยงงานพัฒนาที่ขับเคลื่อนอยู่ในพื้นที่ เป็นตัวชี้ทิศทางที่ส่งเสริมให้ขบวนองค์กรชุมชนนั้นมีกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้อง ในขณะที่เราได้ขับเคลื่อนจนเกิดรูปธรรม จะนำไปสู่การผลักดันและสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมและสร้างตำบลเข้มแข็ง ที่เป็นการเชื่อมโยงงานพัฒนาในการสร้างระบบต่างๆ ในพื้นที่ในมิติของตำบล และคิดว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตนี้เป็นการเชื่อมโยงการพัฒนาศักยภาพของขบวนองค์กรชุมชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่และนโยบาย”
ด้านนายชูชาติ ผิวสว่าง คณะทำงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทบทวนหลักคิด การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีนิยาม “การพัฒนาคุณภาพชีวิต” “ผู้มีรายได้น้อย” “โควิด-19” ซึ่งมีความสำคัญใน 3 ประเด็น ที่มองถึงเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน ๔ มิติของคนอีสาน ประกอบด้วย ๑) กินอิ่ม มีอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย พออยู่พอกิน ๒) นอนอุ่น ที่อยู่อาศัยต้องมั่นคง ที่ดินทำกินมั่นคง สิ่งแวดล้อมในชุมชนหมู่บ้านดี ๓) ทุนมี คนในชุมชนมีรายได้ มีความมั่นคงด้านอาชีพ ๔) หนี้ลด จากเป้าหมายดังกล่าว นำมาสู่นิยามที่คนอีสานอยากให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี คือ ความอยู่ดีมีสุข เป็นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคน ชุมชน การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูล โดยใช้ทุนภายในของชุมชนท้องถิ่นให้เกิดความมั่นคงต่อการดำรงชีพ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนในทุกมิติ โดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการวางกระบวนการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดความยั่งยืน เช่น การศึกษาสังคม การวิเคราะห์พื้นที่ นำไปสู่การกำหนดทิศทางของชุมชนร่วมกัน จนเกิดการประสานความร่วมมือ และนำมาสู่การวางเป้าหมายผลลัพธ์ร่วมกัน ประกอบด้วย ๑) เกิดยุทธศาสตร์ ๒)เ กิดรูปธรรม ๓) เกิดการเชื่อมโยง ๔) เกิดนวัตกรรมใหม่ในการเชื่อมโยง และ ๕) มีการวางจังหวะก้าวร่วมกัน
“โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบ ต้องเป็นกระบวนการพัฒนาและวางแผนเพื่อช่วยเหลือกันทั้งตำบล เป็นการดำเนินงานเชิงพื้นที่ และถือว่าโครงการนี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาศักยภาพคนทำงาน ได้ฝึกคิด ฝึกทำ บทเรียนจากปี 2565 นี้ จะทำให้เกิดความเข้าใจ และนำมาสู่การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต มีการผลักดันเข้าสู่แผนด้านที่ 6 ของแผนพัฒนาภาคอีสาน เพื่อจะสามารถพัฒนาสนับสนุนต่อไปได้”
นายสุเมธ ปานจำลอง คณะทำงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ถือเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการบูรณาการทำงานกับหลายภาคส่วน เพื่อให้เกิด “ความอยู่ดีมีสุข” ที่สามารถยกระดับเป็นรูปธรรมการดำเนินงาน ซึ่งสภาองค์กรชุมชน เป็นกลไกหลักในการช่วยขับเคลื่อนการทำงานของคนในพื้นที่ จัดความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน บูรณาการทรัพยากรที่มีจัดการตนเองในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องอาชีพ ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน นำไปสู่การอยู่ดีมีสุข
“สภาองค์กรชุมชน ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจกลุ่มเป้าหมาย ที่จะนำมาสู่การสังเคราะห์และพัฒนาให้ตรงจุด”
นายสังคม เจริญทรัพย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน และสิ่งที่พวกเราจะทำเพื่อให้หลุดพ้นความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำนั้น ต้องทำมองถึงกระบวนการที่จะนำไปสู่ “ความอยู่ดีมีสุขของคนอีสาน” จะต้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ไม่ใช่แค่วิถีทำอยู่ทำกิน แต่เป็นการวางระบบทางการเมืองต้องมีการเคลื่อนไหว ต้องจับมือกัน เพื่อให้เกิดการช่วงชิงทางวัฒนธรรม และต้องตุ้มโฮมกัน
ในปีงบประมาณ 2565 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสิ้นจำนวน 207 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 19,064,000 บาท แบ่งเป็นงบประมาณสนับสนุนพื้นที่ตำบล/เมือง จำนวน 201 พื้นที่ ตำบล/เมือง งบประมาณ 15,984,000 บาท และสนับสนุนงบประมาณสนับสนุนกระบวนการในระดับภาค จำนวน 1 โครงการ งบประมาณ 480,000 บาท และสนับสนุนงบประมาณ 5 กลุ่มจังหวัด กลุ่มจังหวัดสบายดีวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง 650,000 บาท กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 2 กลุ่มสนุก 390,000 บาท กลุ่มจังหวัดอีสานกลาง กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ 520,000 บาท กลุ่มจังหวัดเจริญราชธานีศรีโสธร 520,000 บาท กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ 520,000 บาท เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท มุ่งไปสู่การพัฒนา “ความอยู่ดีมีสุข” โดยเครือข่ายองค์กรชุมชนอีสาน และหน่วยงานภาคี
บทเรียนสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่า การดำเนินงานภายใต้โครงการนี้ทำให้เกิดประเด็นสำคัญหลากหลายมิติ อาทิ 1) ความมั่นคงทางด้านอาหาร มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายข้าว 2) การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน มีการพัฒนาอาชีพ การยกระดับฐานการผลิต การแปรรูปการตลาด หัตถกรรม ฯลฯ 3) สิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะ การพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ นอกจากบทเรียนที่ได้จากโครงการดังกล่าว ยังทำให้เกิดผลลัพธ์ในพื้นที่ที่ทำให้เห็นถึงองค์ประกอบในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย กลไกระดับตำบล จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค โดยมีทีมที่ลงไปร่วมพัฒนาโครงการ เป็นทีมพี่เลี้ยง มีการเตรียมความพร้อม รวมถึงการมีเครื่องมือและจัดกระบวนการเพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายและการเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่การวิเคราะห์ มีการเชื่อมโยงกลุ่มเพื่อให้เห็นมิติที่นำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งมีหลายโครงการที่พัฒนาจากคนรุ่นใหม่ เช่น พื้นที่จากอีสานกลาง ที่เข้ามาร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการ เกิดการเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาเชิงพื้นที่ มีระบบเศรษฐกิจเกื้อกูล โดยการเชื่อมโยง คน กลุ่ม ภูมิปัญญา บนฐานทรัพยากรของชุมชน ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง มียุทธศาสตร์ร่วมกัน การสร้างความอยู่ดีมีสุข โดยใช้ทุนภายในของชุมชนท้องถิ่นให้เกิดความมั่นคงต่อการดำรงชีพ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนในทุกมิติ
อย่างไรก็ดีเวทีดังกล่าวได้ระบุข้อเสนอร่วมกันในการดำเนินโครงการปี 2566 อาทิ 1) มีคู่มือกลางและกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับตั้งแต่ส่วนกลางถึงพื้นที่ที่ชัดเจนและต่อเนื่อง 2) กลไกการพิจารณาควรพิจารณาในระดับภาค 3) พิจารณางบประมาณให้มีความเหมาะสมกับปัญหาและความต้องการของพื้นที่ 4) ควรมีการออกแบบแบบฟอร์มการรายงานที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการดำเนินโครงการและตัวชี้วัดขององค์กร 5) ให้มีกระบวนการเตรียมความพร้อมของขบวนองค์กรชุมชนและส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนการพัฒนาโครงการ เป็นต้น ในการนี้เป้าหมายโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต คือ สร้างการเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชน ในการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมาแต่ละพื้นที่ ก็มีการขับเคลื่อนตามศักยภาพและบริบทของพื้นที่ ใช้เครื่องมือตามพื้นที่ถนัด มีการกำหนดเป้าหมายกำหนดพื้นที่กำหนดกรอบในการพัฒนา มีกระบวนการกลั่นกรองโครงการร่วมกันตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ