อยุธยา/วันนี้(22กันยายน2565)ขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางตอนบน ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือ พอช. สำนักงานภาคกลางและตะวันตก จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปบทเรียนรูปธรรม “การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตําบล” เพื่อเป็นการสรุปผลการทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตําบล/ จังหวัด/ กลุ่มจังหวัด สร้างการมีส่วนร่วมและบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกระดับ และเกิดแนวทาง/ ข้อเสนอแนะเพื่อต่อยอดการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มจังหวัดภาคกลางบน โดยมี นางสาวสม สุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน นายธีรพงษ์ พร้อมพอชื่นบุญผู้อํานวยการสำนักงานภาคกลางและตะวันตก พอช. และผู้นำชุมชนภาคกลางตอนบน จาก 40 ตำบล เข้าร่วมเวที ประมาณ 150 คน ณ ห้องประชุมพุทธอุทยานมหาราช หลวงปู่ทวด อําเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ปรึกษาคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน ได้กล่าวถึง โครงการนี้เดิมเราได้รับงบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 30 ล้าน โดยใช้งบประมาณผนวกรวมกับโครงการบ้านมั่นคงในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำเป็นโครงการขนาดใหญ่ขึ้นมา โดยให้กลุ่มจังหวัดเป็นแม่งาน มี 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อต้องการจะกระจายการทำงานออกไป เป็นการออกแบบใหม่ไม่ให้ยึดติดกับกรอบเดิมโดยการกระจายลงไปที่กลุ่มจังหวัด เนื่องจากกลุ่มจังหวัดไม่มีโครงสร้างการทำงานที่ซับซ้อนมาก มีการเชื่อมโยงเรื่องราวในพื้นที่ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นงบประมาณที่จะมาช่วยชุมชน ช่วงหลังโควิดที่ต้องฟื้นฟูหลายด้าน และผสมกับโจทย์ปัญหาของพื้นที่เป็นตัวตั้ง เชื่อมโยงมาที่กลุ่มจังหวัดและขบวนภาค ทำให้กลุ่มจังหวัดเป็นคล้ายๆกลไกที่จะช่วยทำให้กระบวนการทำงานของชุมชนในจังหวัดเข้มแข็งขึ้น ระบบของรัฐทุกหน่วยงานก็ลงมาอยู่ที่จังหวัด เพราะฉะนั้นขบวนองค์กรชุมชนในระดับจังหวัดจึงจะต้องเข้มแข็งช่วยกันทำงานและมีการเชื่อมโยงกันเป็นกลุ่มจังหวัด
สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านมาแล้ว 1 ปี เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมเป็นอย่างมาก น่าเหลือเชื่องบประมาณทำงานทั้งปีเพียงกลุ่มจังหวัดละ 3 ล้านบาท เชื่อมโยงขบวนเครือข่ายชุมชน 40 ตำบล ใน 6 จังหวัด ภาคกลางตอนบน มาคุยกันตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับภาค ออกแบบการทำงานกันเอง จะบริหารจัดการกันอย่างไร หลังดำเนินการมาแล้วก็นำมาแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงกัน ทำให้เห็นภาพรวมในการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน จากจุดเล็กๆทำให้เห็นเป็นภาพใหญ่ของงานขบวนชุมชน เป็นงานของขบวนองค์กรชุมชนเรียกว่าเกาถูกที่คันแก้ปัญหาได้ตรงจุด โครงการนี้เรียกว่าสร้างพื้นที่รูปธรรมแล้วก็มาดูภาพรวมด้วยกัน งบประมาณที่มีอันน้อยนิดทำให้พวกเราต้องแบ่งปันในทรัพยากรที่มีจำกัดแต่ทำให้ทุกจุดสามารถดำเนินโครงการไปได้ ได้ลองทำอะไรใหม่ๆเพิ่มเติมจากสิ่งที่เคยทำได้ แต่เป็นการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ ให้อำนาจการทำงานมาอยู่กับขบวนชุมชนหรือกลุ่มจังหวัด ดำเนินการได้ตรงจุดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขและพัฒนาในแต่ละพื้นที่แล้วมาเชื่อมโยงกัน ทำให้เกิดพลังแห่งความเชื่อมั่น หลังจากทำโครงการนี้ทำให้ขบวนชุมชนมีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำหนักเราในการที่จะไปคุยกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดในเรื่องราวของการแก้ไขหรือพัฒนาของชุมชนและมีพลังมากกว่าเดิม เรียนรู้การทำงานของพื้นที่รูปธรรมนำไปปรับใช้หรือเพิ่มเติมในพื้นที่ของตนเอง ทำให้เกิดวาระของงานนั้นๆ เชื่อมโยงขึ้นมาเป็นเรื่องร่วมกันนำเสนอแนะนำจังหวัดหรือระดับต่างๆ ขบวนชุมชนเป็นเจ้าภาพในการทำงานร่วมกัน ทำให้ฐานงานการพัฒนาเกิดขึ้นมากมายในหลายพื้นที่ นางสาวสมสุข กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้าย
นอกจากนั้นยังมีกิจกรรม “Shopping ฐานเรียนรู้ตําบลเข้มข้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” จํานวน 6 ฐานเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยน กระบวนการทํางาน ผลสัมฤทธิ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตําบล การเชื่อมโยงและบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต แนวทางการพัฒนาและข้อเสนอแนะเพื่อต่อยอดการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตําบล พร้อมระดมความคิดเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรค การต่อยอดงานพัฒนา สิ่งดีที่ต้องดําเนินการให้เกิดความต่อเนื่อง