พื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ต้องพบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยถ้วนหน้า ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ปัจจัยดำรงชีพ สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเขาดิน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาดินและเครือข่ายองค์กรต่างๆ ในตำบล ได้เล็งเห็นถึงความไม่พร้อมต่อการตั้งรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของปราะชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านอาหารการกินของครอบครัว ประกอบกับในพื้นที่เผชิญกับวิกฤติภัยแล้ง ประชาชนทำมาหากินยากลำบาก อาหารของครอบครัวไม่มีความมั่นคง ต้องพึ่งพาตลาดนัด ตลาดสด จากผลกาะทบที่เกิดขึ้นส่งผลในเรื่องคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ขาดรายได้ ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น การประกอบอาชีพทำได้ยาก รวมทั้งภาวะการตกงาน จึงมีความเห็นร่วมกันว่าควรมีการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
จากการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนตำบลเขาดิน สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเขาดิน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาดิน และเครือข่ายองค์กรต่างๆ ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่มีความมั่นใจว่าสถานการณ์นี้จะคงอยู่นานเพียงใด ดังนั้น จึงได้ปรึกษาหารือกันและได้ออกแบบแนวทางที่จะมุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นในครอบครัวของประชาชน เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ถึงพิบัติภัยด้านโรคระบาดใหม่ที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งเสริมศักยภาพของครอบครัวในชุมชนให้เกิดการรวมพลังทางปัญญาเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นในครอบครัว และมีการแลกเปลี่ยนช่วยเหลือกันในชุมชน สร้างการเรียนรู้เพื่อรองรับพิบัติภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย คนด้อยโอกาส คนเปราะบางทางสังคมในตำบลทุกเพศทุกวัย ให้มีโอกาสเข้าถึงระบบการช่วยเหลือทางสังคม ได้รับสวัสดิการและสวัสดิภาพอย่างทั่วถึงและพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง โดยชุมชนเป็นแกนหลักในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมทั้งให้เกิดการเชื่อมโยง บูรณาการ ประสานการจัดการปัญหาความต้องการของชุมชน ท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานและภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน เช่น การสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาศูนย์เรียนรู้การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และวางแผนพัฒนาไปสู่การปฏิบัติการจัดการปัญหาร่วมกัน
จากเป้าหมายการดำเนินงานสู่การจัด “เวทีเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ และหนุนเสริมการทำงานร่วมกัน เมื่อ 21 พฤษภาคม 2565 ณ ที่ทำการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาดิน มีผู้เข้าร่วมซึ่งประกอบด้วยคณะทำงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต สภาองค์กรชุมชน ผู้มีรายได้น้อย คนด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบางทางสังคม ภาคทีท้องถิ่น ฯลฯ รวมประมาณ 50 คน ทำให้ผู้นำในตำบลได้มาแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทบทวนแผนพัฒนาตำบลร่วมกัน และนำข้อมูลผู้เดือดร้อนที่มีในระดับตำบลมาคัดเลือกจัดลำดับและแลกเปลี่ยนกับคณะทำงานระดับจังหวัดถึงการขับเคลื่อนงานบ้านพอเพียงเทศบาลตำบลเขาดิน
เวทีเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายและเสนอแผนเชื่อมโยงภาคีที่เกี่ยวข้อง
จากการหารือร่วมกันดังกล่าว นำมาสู่การกำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตำบลเขาดินด้วยการ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมการลดรายจ่ายในครัวเรือนและสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยอบรมการผลิตสบู่สมุนไพร การผลิตน้ำยาเอนกประสงค์สมุนไพร แชมพูสมุนไพร และการลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยมีการจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 เป็นการจัดร่วมกับเทศบาลตำบลเขาดิน มีผู้เข้าร่วม 60 คน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้การผลิตแชมพูสมุนไพร สบู่สมุนไพร น้ำยาปรับผ้านุ่ม และรวมไปถึงการส่งเสริมให้มีการปลูกผักสวนครัว/ผักปลอดภัย การปลูกสมุนไพรพื้นบ้าน การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรในครัวเรือนและชุมชน การมอบพันธุ์ผัก ก้อนเชื้อเห็ดและสมุนไพร รวมถึงการร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมลดการใช้เคมีการผลิตอาหารปลอดภัย การผลิตสิ่งจำเป็นในครัวเรือนเพื่อลดซื้อจากตลาด การฝึกเด็กให้หารายได้จากสมุนไพรใกล้ตัว เป็นต้น
ผลจากการผลิตสบู่สมุนไพรใช้เอง การทำน้ำยาเอนกประสงค์สมุนไพร แชมพูสมุนไพรดอกอัญชันทำให้ผู้ที่ทดลองใช้บอกว่าดีมาก เช่น นางพยงค์ จันทนา นำไปทดลองใช้แล้วบอกว่า “ผมไม่ร่วงมีผมงอกใหม่ปลายผมเป็นสีดำ แชมพูสูตรนี้เหมาะกับคนสูงวัย” ดังนั้นจึงอยู่ในช่วงการทดลองใช้ยังไม่ได้ผลิตเพื่อจำหน่าย ส่วนน้ำยาเอนกประสงค์สมุนไพรหมัก เป็นการช่วยให้ลดรายจ่ายเพราะ 1 ชุด ราคา 250 บาท กวนผสมแล้วได้ 20 ลิตร หากทำขายลิตรละ 20 บาท เป็นเงิน 400 บาท จะลดรายจ่ายได้ 150 บาท ทำให้เห็นประโยชน์ในการผลิตใช้เองทดแทนการซื้อสิ่งที่จำเป็นในครัวเรือน และจากการปลูกผักสวนครัวทำให้ชุมชนมีผักปลอดภัยไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน เกิดการฝึกให้คนในตำบลได้เรียนรู้การเพาะขยายพันธุ์พืช
การฝึกอบรมทำแชมพูสระผม
นอกจากนี้ยังได้มีการฝึกอบรม การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในชุมชน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ผู้เข้าร่วม คือ ผู้มีรายได้น้อย ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้สูงอายุ และผู้ที่สนใจในชุมชน จำนวน 30 คน เข้าร่วมฝึกอบรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อบริโภคและจำหน่ายสร้างรายได้ จากที่ผ่านมาตำบลเขาดินมีผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิด เช่น มะม่วง มะนาว ฝรั่ง กล้วย อ้อยคั้นน้ำ ดอกอัญชัน จึงมีกิจกรรมการแปรรูปหน่อไม้ดอง มะนาว มะกรูดดอง การคั้นอ้อยสดจำหน่าย การผลิตกล้วยกวน เป็นต้น
จากการจัดกิจกรรมดังกล่าว พบว่า มีการแปรรูปมีหลายสูตร ซึ่งมีรสชาติต่างกัน เป็นการอบรมที่ให้ทั้งความรู้ ประสบการณ์และเพื่อนในเวลาเดียวกัน จากกิจกรรมนี้ทำให้สมาชิกมีผลผลิตที่แปรรูปไว้บริโภคในครัวเรือนและเริ่มแจกจ่ายแบ่งกันทดลองชิม แบ่งปันกันในชุมชนทำให้เกิดประโยชน์ เกิดการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและได้บริโภคอาหารปลอดภัยสร้างรายได้เพิ่มในครัวเรือนและชุมชน
ผลผลิตในชุมชน และการนำไปจำหน่ายสร้างรายได้
ในช่วงท้ายของการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตำบลเขาดิน ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะทำงาน ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ผู้รับประโยชน์จากโครงการ และหน่วยงานภาคี เพื่อสรุปผลการทำงาน ซึ่งพบว่า การดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการปฏิบัติการ ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้นเชิงเศรษฐกิจจึงยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน แต่เกิดการลดรายจ่าย ก่อเกิดผลในเชิงสังคมในเรื่องการแบ่งปันน้ำใจช่วยเหลือกันในช่วงภาวะวิกฤติของโรคระบาด ภัยแล้งคุกคาม และยังมีการเชื่อมโยงหน่วยงานในพื้นที่มาบูรณาการร่วมกัน เกิดแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในตำบล ตลอดจนได้ร่วมกันกำหนดทิศทางแนวทางการดำเนินงานต่อในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยืน ด้วยด้วยแนวทาง “คุณภาพชีวิตดี วิถีพอเพียง อยู่อย่างมีคุณค่า ให้อย่างมีศักดิ์ศรี ทำความดีเพื่อสังคมของคนตำบลเขาดิน”
เรียบเรียง : กมรวรรณ รุ่งพันธุ์
นักสื่อสารชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี