สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนเจดีย์ มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 ตลอดระยะเวลา 15 ปี มีการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนด้วยความหลากหลาย ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการสร้างอาชีพและการลดรายจ่ายในครัวเรือน การพัฒนาที่อยู่อาศัยผ่านกระบวนการของโครงการบ้านพอเพียง การจัดการสิ่งแวดล้อมโดยส่งเสริมการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นในระดับครัวเรือนและบุคคล และการดูและผู้คนทุกช่วงวัยจากการขับเคลื่อนงานกองทุนสวัสดิการชุมชน
ไม้กวาดดอกหญ้า จากพืชพื้นถิ่นสู่การสร้างเศรษฐกิจในชุมชน
การส่งเสริมอาชีพการทำไม้กวาดดอกหญ้า เป็นอีกผลงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลเจดีย์ ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ปี 2565 ซึ่งได้รับโอกาสจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยกิจกรรมนี้เป็นการต่อยอดงานจากกลุ่มไม้กวาดหมู่ 6 บ้านหนองหลอด ซึ่งผู้นำและสมาชิกกลุ่มได้รับการสนับสนุนความรู้การฝึกอบรมจากสำนักงานพัฒนาชุมชนและสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอดอนเจดีย์ จนสามารถตั้งเป็นกลุ่มไม้กวาด สร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง และมีตลาดรองรับที่เพียงพอ ซึ่งข้อนี้เป็นจุดแข็งของตำบลดอนเจดีย์ ที่หยิบยกมาจากการวิเคราะห์ศักยภาพตำบล สู่การจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยสภาองค์กรชุมชนเมื่อปี 2564 และมีการทบทวนอีกครั้งในปี 2565 จึงนำเรื่องนี้มาเป็นช่องทางในการส่งเสริมอาชีพชุมชนในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อันส่วนหนึ่งเนื่องจากการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 2019
สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนเจดีย์ จึงจัดประชุมปรึกษาหารือร่วมกับผู้นำกลุ่มอาชีพไม้กวาด หมู่ 6 บ้านหนองหลอด เพื่อร่วมกันออกแบบวางแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามแผนงานกิจกรรมของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตปี 2565 ผ่านการพัฒนาอาชีพทำไม้กวาดดอกหญ้า ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะทางด้านอาชีพตามความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ที่เป็นผู้มีรายได้น้อย ผู้ตกงาน ผู้ว่างงานและสมาชิกกลุ่มสตรี การดำเนินการดังกล่าวเป็นผลมาจากการจัดเวทีวิเคราะห์ทุนชุมชนในการพัฒนาอาชีพและพัฒนาแนวคิดทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เห็นทุนในชุมชนที่ทำไม้กวาดดอกหญ้าอยู่แล้วให้ขยายผลเป็นวงกว้างมากขึ้น
ภาพ : ประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมอาชีพทำไม้กวาดดอกหญ้า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565
การอบรมทำไม้กวาดดอกหญ้า คณะทำงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้สนับสนุนด้านการประสานวิทยากรซึ่งเป็นผู้นำจากกลุ่มทำไม้กวาดดอกหญ้า และจัดหาวัสดุสำหรับใช้ในการอบรม เมื่อวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2565 มีกลุ่มเป้าหมายจากทั้ง 9 หมู่บ้าน จำนวน 20 คน จากนั้นได้มีการจัดอบรมเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 – 15 กรกฎาคม 2565 มีการฝึกสอนเพิ่มเติมเป็นการเก็บตกสำหรับคนที่พลาดโอกาสในการอบรมครั้งแรก อีกจำนวน 8 คน รวมกลุ่มเป้าหมายในการอบรม 30 คน โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรมและให้แนวคิดแนวทางการพัฒนาอาชีพของชุมชน
ภาพ : การอบรมทำไม้กวาดดอกหญ้า เมื่อวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2565
ต่อมาได้มีการอบรมเป็นครั้งที่ 3 เป็นการให้ความรู้กับกลุ่มแกนนำสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนเจดีย์ และสมาชิกในชุมชนที่พลาดโอกาสจากการอบรมครั้งก่อน ในฐานะผู้ประสานงานกลางของการส่งเสริมอาชีพทำไม้กวาดดอกหญ้า โดยมุ่งหวังใฟ้ผู้เข้ารับการอบรมครั้งนี้เป็นต้นแบบในการทำอาชีพที่สามารถสร้างรายได้จริงสำหรับคนที่ยังไม่มีความเข้าใจและเข้าไม่ถึง และมุ่งหวังในการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้การทำไม้กวาดดอกหญ้าให้กับคนที่มีความสนใจฝึกฝนที่ยังไม่มีโอกาสให้ได้รับความรู้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการจัดหาวิทยากร ถึงแม้ว่าจะสามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพัฒนาชุมชน และ กศน.ได้อยู่ แต่การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐนั้นมีขั้นตอนและต้องมีการกำหนดแผนงานล่วงหน้า ซึ่งอาจจะไม่เป็นไปตามความต้องการของชุมชนได้ทั้งหมด เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ที่เป็นไปโดยธรรมชาติ ซึ่งจะมีความต่อเนื่องมากกว่าที่เคยมีการอบรมทั่วไป
สภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลางเชื่อมโยงกลุ่มองค์กร สนับสนุนการผลิต และการการจำหน่าย
ผลจากการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมทำไม้กวาดดอกหญ้า ทำให้เกิดการส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชนทั้งสามารถต่อยอดทักษะการทำไม้กวาดให้กับสมาชิกชุมชน จากเดิมมีสมาชิกชุมชนส่วนหนึ่งซึ่งเคยได้รับการอบบรมแต่ยังไม่มีทักษะที่เพียงพอ กิจกรรมนี้จึงเป็นกิจกรรมที่มาต่อยอดส่งเสริมให้คนที่ยังมีทักษะไม่เพียงพอมีความสามารถในการทำไม้กวาดดอกหญ้าเป็นอาชีพหลักได้ และสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องทุนการจัดซื้อวัสดุ เนื่องจากสมาชิกชุมชนบางคนขาดแคลนทุนทรัพย์ สภาองค์กรชุมชนจึงเป็นแกนกลางในการเป็นแหล่งกระจายวัสดุและรับซื้อไม้กวาดจากชุมชนไปจำหน่าย
จากการดำเนินการครั้งนี้ทำให้เกิดสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 จำนวน 14 คน และยังเกิดการเชื่อมโยงกลุ่มองค์กร กลุ่มไม้กวาดดอกหญ้าในชุมชนที่มีอยู่เดิมแล้วเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน โดยสภาองค์กรชุมชนเป็นแกนกลางในการจัดหาวัสดุในการทำไม้กวาดให้กับผู้ที่สนใจได้อย่างต่อเนื่องหลังการจัดกิจกรรมอบรม โดยใช้วิธีการรับของไปทำแล้วนำมาส่งมอบให้กับสภาองค์กรชุมชนในราคาอัน 20 บาท หรือหากซื้อวัสดุไปทำสภาองค์กรชุมชนรับซื้อในราคาอันละ 50 บาท
แนวทางต่อยอดขยายผล ขยายฐานการจำหน่ายไม้กวาดดอกหญ้า
ทั้งตำบลดอนเจดีย์ เป็นแหล่งประวัติศาสตร์แห่งยุทธหัตถีจะมีการจัดงานประจำปี ในการรำลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งจะมีซุ้มประจำอำเภอในการขายสินค้าของดีประจำอำเภอหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งการขายสินค้าไม้กวาดดอกหญ้าเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่ม รวมทั้งมีเกษตรแฟร์ และมีงานสำคัญอื่นๆที่สามารถนำสินค้าชุมชนไป
รวมทั้งที่ทำการ อบต.ดอนเจดีย์ มีสถานที่ให้ชุมชนนำสินค้ามาวางขายได้ตลอดทั้งปี ทั้งเจ้าหน้าที่ อบต.ยังอำนวยความสะดวกและช่วยประชาสัมพันธ์การขายให้ด้วย และยังมีสำนักงานพัฒนาชุมชนที่เป็นแหล่งรับฝากขายสินค้าชุมชนอีกเช่น ซึ่งยังไม่รวมถึงร้านค้าในชุมชนที่เป็นลูกค้าของกลุ่มไม้กวาด ด้วยเหตุนี้สภาองค์กรชุมชนจึงทำบทบาทการเชื่อมโยงกลุ่มองค์กรให้เกิดส่งเสริมอาชีพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ซึ่งไม่เป็นเพียงแต่ช่องทางเท่านั้น แต่มีชุมชนที่เข้ารับการอบรมมีรายได้จากการทำไม้กวาดขายให้กับคนบ้านใกล้เรือนเป็นรายได้เสริม
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต : ผลกระทบและโอกาสที่เอื้อต่อการพัฒนาชุมชน
จากการจัดกิจกรรมอบรมทำไม้กวาดดอกหญ้า โดยใช้สถานที่ของ อบต.ดอนเจดีย์ ทำให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์เห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดแนวคิดในการช่วยให้ชุมชนเกิดความรู้และลดรายจ่ายในครัวเรือน ทำให้เกิดการจัดกิจกิจกรรมอบรมทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้าแจกจ่ายผู้เข้าอบรมทั้ง 9 หมู่บ้าน จำนวน 60 คน โดยให้แกนนำสภาองค์กรชุมชนเป็นวิทยากร เนื่องจากมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน ซึ่งผู้เข้าอบรมส่วนส่งเสียสะท้อนว่าเกิดความพึงพอใจมาก กิจกรรมนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนเจดีย์กับองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์มีความสัมพันธ์อันดีขึ้น ทำให้เกิดแนวทางในการประสานงานเพื่อการขยายฐานสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน และการรับสถานะการเป็นองค์กรสวัสดิการในระดับตำบล นำสู่การจดแจ้งเป็นองค์กรสวัสดิการกับพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์จังหวัดสุพรรณบุรีต่อไป
เรียบเรียง : กมรวรรณ รุ่งพันธุ์
นักสื่อสารชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี