เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2565 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ หอประชุมที่ทำการชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. ได้รับเกียรติจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมกิจการผู้สูงอายุ เชิญร่วมจัดกระบวนการเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามการขับเคลื่อนมิตสมัชชาผู้สูงอายุ พ.ศ. 2564 สืบเนื่องจากบุคลากร 2 หน่วยงานได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรวิจัยท้องถิ่น จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เวทีนี้จึงถือเป็นการปฏิบัติงานลงพื้นที่ร่วมกัน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 50 คน ประกอบด้วยคณะกรรมการชุมชน ผู้สูงอายุ หมู่บ้านร่วมเกื้อและหมู่บ้านใกล้เคียง นักวิชาการ หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
เริ่มต้นจากการทบทวนข้อมูลทะเบียนผู้สูงอายุของชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ ณ เดือนสิงหาคม 2565 จำนวนประชากร 1,044 คน ประกอบ ด้วยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 397 คน เด็กและเยาวชน จำนวน 8 คน และวัยทำงาน จำนวน 561 คน ไม่เข้าทะเบียนบ้าน 93 หลัง จากนั้น ชวนแลกเปลี่ยนเรื่องการดำเนินงานดำเนินงานของผู้สูงอายุ ผ่านกิจกรรม 4 มิติ ดังนี้
มิติด้านสุขภาพ ได้แก่ กิจกรรมตรวจสุขภาพ ออกกำลังกาย ยืดเส้น รำไทเก็ก รำกระบอง เต้นแอโรบิค เต้นลีลาส ทำบุญ นั่งสมาธิ กิจกรรมพาผู้สูงอายุไปดูภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเดินทางไปพักจังหวัดใกล้เคียง 1 คืน เช่น จ.ชลบุรี จ.ระยอง ผลของการจัดกิจกรรม ทำให้ป้องกันโรคสมองเสื่อม ผู้เข้าร่วมรู้สึกผ่อนคลาย สุขภาพกายใจและการทรงตัวดีขึ้น มองโลกในแง่ดี คิดบวก เกิดความรักใคร่สามัคคีเกื้อกูลกัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัส Covid-19 ส่งต่อ case เร่งด่วน ไปที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมและผู้สูงอายุ ศพส. 76 และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากสมาชิกในชุมชนมากขึ้น ข้อเสนอ อยากให้มีการจัดกิจกรรมออกกำลังกายที่หลากหลายเพิ่มขึ้น
มิติด้านเศรษฐกิจ มีกิจกรรมที่หลากหลาย ดังนี้
1) ตลาดนัดชุนร่วมเกื้อ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2533 โดยการเช่าพื้นที่บริเวณหน้าชุมชนบริหารจัดการตลาดนัด เปิดโอกาสให้พ่อค้า แม่ค้า ทุกวัยเข้ามาขายของในตลาดนัด รวมถึงวัยผู้สูงอายุ มีการช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดของตลาด นำรายได้กลับมาบริหารจัดการชุมชน ตลาดนัดเปิดวันอังคาร วันพฤหัสบดี เวลา 12.00 – 18.00 น. วันเสาร์ เวลา 05.00 – 09.00 น. ข้อเสนอ ขอให้สำนักงานเขตทวีวัฒนา ดูแลเรื่องการเทพื้นลาดยางบริเวณพื้นตลาดให้เต็มพื้นที่ ที่ผ่านมาชุมชนได้ดำเนินการเทพื้นลาดยางไปแล้วบางส่วน
2) กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ อาหารตามสั่ง อาหารจานด่วน 10 เมนู โดยมีเชพปรุงอาหารมาให้ความรู้ สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกเฉลี่ย 1,000-2,000 บาทต่อเดือน มีการอบรมการขายสินค้า online จากผู้เข้าร่วมอบรม 20 คน ปัจจุบันมี 7 คน ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายสินค้า online ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการสนับสนุนการประสานวิทยากรให้ความรู้ ได้แก่ กศน.เขตทวีวัฒนา พอช. เป็นต้น ข้อเสนอ อยากให้ส่งเสริมเรื่องช่องทางการตลาด เนื่องจากที่ผ่านมาผลิตสินค้า แต่ไม่มีช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น การร้อยหนังยางยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ไม่มียอดสั่งซื้อจึงต้องหยุดผลิตซึ่งผู้สูงอายุชอบทำมาก การส่งเสริมอาชีพนั้น ผู้สูงอายุพร้อมที่จะทำงานเป็นกลุ่ม ณ ที่ทำการชุมชน หรืองานที่สามารถทำที่บ้านได้ ประเภทงานที่มีทักษะ ได้แก่ งานฝีมือศิลปะสิ่งประดิษฐ์ ตัดเย็บ หรือจะเป็นงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจรับมาจากโรงงาน เช่น งานตัดขี้ด้าย งานพับถุง สิ่งที่ได้นอกเหนือจากรายได้เพิ่มขึ้น คือ ผู้สูงอายุได้พบปะ พูดคุยกัน
3) กลุ่มสัจจะออมทรัพย์วันละ 1 บาท การออมเงิน เพื่อดูแลสมาชิกช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล ฌาปนกิจ และการกู้ยืมเงิน เปิดทำการทุกวัน ใช้ที่ทำการชุมชนเป็นที่ทำการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์
4) ร้านกาแฟ ใช้วัตถุดิบกาแฟสดจากชุมพร เป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ คนพิการมีงานทำและได้ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง นักเรียนที่ยากจน ร้านกาแฟเปิดทุกวัน เริ่มต้นแก้วละ 20 บาท ข้อเสนอ อยากให้มีวิทยากรมาสอนเรื่องการชงที่เพิ่มรสชาติกาแฟ และการหาแหล่งวัตถุดิบราคาถูก และ 5) ล้างรถด้วยแชมพู ล้างเฉพาะภายนอก เคลือบเงาแก้มยาง คันละ 70 บาท เปิดบริการทุกวัน
มิติด้านสังคม จัดกิจกรรมงานสำคัญ ตามเทศกาลวันหยุดนักขฤกตษ์ต่าง ๆ เช่น เทศกาลขึ้นปีใหม่ สงกรานต์ วันครอบครัว วันผู้สูงอายุ เข้าพรรษา ทอดกฐิน ลอยกระทง เป็นต้น มีสมาชิกในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงเข้าร่วมงาน จำนวนตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ต่างช่วยกันบำเพ็ญประโยชน์ ร่วมแรงร่วมใจจัดสถานที่ มีการสมทบเงินเพื่อนำมาทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ ประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย การเดินประชาสัมพันธ์ตามบ้าน มีการพิมพ์ใบปลิวประชาสัมพันธ์ จำนวน 700 ใบขึ้นไป ข้อเสนอ อยากให้สมาชิกชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น งบประมาณจากหน่วยงานภายนอกในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมงานสำคัญของชุมชน
มิติสภาพแวดล้อม ที่ผ่านมามีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน ปัญหาสำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ เรื่องน้ำเน่าเสียในลำคลอง 2 ลำคลอง คลองระทึก คลองเนินทราย มีการแจ้งไปยังสำนักงานเขตเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ข้อเสนอ อยากให้มีกังหันตีน้ำ เพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ และการทำทางลาดบริเวณวัดสุทธิจิตตาราม เพราะมีผู้สูงอายุไปทำบุญร่วมกิจกรรมที่วัดจำนวนมาก
การจัดเวทีครั้งนี้ ทำให้เห็นมิติใหม่ของการทำงานเรื่องผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุชุมชนเมือง ผ่านกิจกรรม 4 มิติ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเยาวชน วัยทำงาน ไม่ใช่เฉพาะเพียงผู้สูงอายุ วันนี้ ผู้เข้าร่วมเวทีส่วนใหญ่ เป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี มีความคล่องตัว อารมณ์แจ่มใส สมาธิดีมาก มีความตื่นตัวกับการเข้าร่วมกิจกรรม เป็นผู้มีจิตอาสา สังเกตได้จาก เมื่อเสร็จสิ้นเวทีมีการช่วยเหลือกัน จัดเก็บสถานที่ อุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว มีการทำงานเป็นทีมอย่างแบบธรรมชาติ ไม่ต้องบอกว่าใครทำอะไร ทุกคนรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง ประธานชุมชน (คุณชูเกียรติ) เป็นบุคคลสำคัญในการจัดทำข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ทราบจากสมาชิกว่า ประธานชุมชนเป็นผู้สรุปรายงานผลการดำเนินโครงการต่าง ๆ มีบ่อยครั้งที่นำเงินส่วนตัวมาสมทบเพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินการไปได้ไม่ติดขัด
ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมและประธานชุมชน (คุณชูเกียรติ ขวามือ)
ช่วงท้ายหลังจากจบเวที ได้พูดคุยกับประธานชุมชน มีความเห็นที่น่าสนใจเรื่องการส่งเสริมอาชีพ ว่า “ไม่ต้องการการจ้างงาน แต่ต้องการมีงานทำ” ซึ่งไม่ค่อยเข้าใจความหมายนักแต่อาจหมายถึง การที่ผู้สูงอายุมีงานทำ จะส่งผลให้สุขภาพกายใจดี ไม่เป็นโรคสมองเสื่อม ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวร่างกาย รายได้สำคัญแต่อาจเป็นเรื่องรองลงมาจากการได้มีงาน หรือกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ผู้สูงอายุหลายคนที่เข้าร่วมวันนี้ เป็นข้าราชการเกษียณอายุ ต่างมีความสุขที่ได้เจอกัน การร่วมทำกิจกรรมเล็กๆ น้อย ๆ เสียงหัวเราะที่ได้ยิน สุขภาพร่างกาย การเคลื่อนไหวที่คล่องตัวเหมาะสมกับวัย ทำให้พบว่า “สูงวัยอย่างมีพลัง พบได้ที่หมู่บ้านชุมชนร่วมเกื้อ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร”
รายงานโดย สมจิตร จันทร์เพ็ญ เจ้าหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้อาวุโส