ตราด/31สิงหาคม2565 ขบวนองค์กรชุมชนคนตราด ร่วมกับ ภาคีพัฒนา นำโดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และจังหวัดตราด จัดเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดตราด ประจำปี ๒๕๖๕“สานพลังภาคีพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ สร้างสุขภาวะ ๕ ดี วิถีตราด ช่วยชาติต้านทุจริต” ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด นางสาวศิริวรรณ บุตราช ประธานขบวนองค์กรชุมชนฅนตราด หน่วยงานภาคีภาครัฐ และผู้นำขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดตราด เข้าร่วมเวที กว่า 150 คน ณ ศาลาประชาคมจังหวัดตราด
การจัดเวทีสมัชชาครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ขบวนองค์กรชุมชนฅนตราด จะได้ผลักดันการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับจังหวัด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและขับเคลื่อน ประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญของจังหวัด ซึ่งแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ ทำให้มีการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายต่าง ๆ รวมไปถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ให้เกิดรูปธรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต 5 ดี วิถีฅนตราด พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ สร้างสุขภาพที่ดี สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างสังคมแห่งความรัก สร้างที่อยู่อาศัยที่มั่นคงให้กับประชาชนฅนตราด อย่างยั่งยืน
นางสาวศิริวรรณ บุตราช
นางสาวศิริวรรณ บุตราช ประธานขบวนองค์กรชุมชนฅนตราด กล่าวว่า ขบวนองค์กรชุมชนฅนตราด ประกอบด้วยเครือข่ายการขับเคลื่อนงานภาคประชาชนที่สำคัญ ดังนี้ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชน ศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจ เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคง บ้านพอเพียง และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ โดยขบวนองค์กรชุมชนฅนตราด มีวิสัยทัศน์ “สร้างกระบวนการเรียนรู้ สู่ชุมชน พัฒนาคนสู่การยอมรับ ปรับฐานคิด จิตมั่นคุณธรรมนำชีวิต บนฐานเศรษฐกิจพอเพียง” และมีประเด็นในการพัฒนาเชิงพื้นที่ ดังนี้ ๑)การพัฒนาผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ชุมชน สังคม แนวใหม่ ๒)การพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่ดีสู่ระบบธรรมาภิบาล ๓)การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๔)การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และสมุนไพรพื้นถิ่น ๕)การพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจฐานราก ฅนตราดอยู่ดีมีสุข ๖)การแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ภายใต้กระบวนการขับเคลื่อนงานพื้นที่เป็นตัวตั้ง องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก ผลักดันแผนพัฒนาภาคประชาชนสู่ความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีทุกระดับ
นายกฤษดา สมประสงค์
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า พอช.ดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน โดยมีหลักการทำงานสำคัญคือ การพัฒนาโดยชุมชนเป็นแกนหลัก สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้มีบทบาทหลัก ในการวางแผนและดำเนินการตามแผนพัฒนาชุมชนภายใต้การสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานกลาง ให้ขบวนชุมชนเจ้าของปัญหา มีบทบาทสำคัญในการกำหนดและวางแผนการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาของตนเอง ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่รอแต่การสนับสนุนจากภายนอกหรือรอทำตามแผนของหน่วยงาน วางแผนพัฒนาที่มีพื้นที่เป้าหมายในแต่ละเรื่อง ให้เต็มพื้นที่ทั่วประเทศ โดยชุมชน ประชาคม และท้องถิ่น ร่วมกันแก้ไขปัญหาและการพัฒนา ใช้กิจกรรมและโครงการต่างๆเป็น เครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน ให้องค์กรชุมชนสามารถจัดการตนเองอย่างยั่งยืน
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริต ร่วมกันว่า เราจะยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ ได้แก่สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เคารพและเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะประพฤติปฏิบัติตนในสัมมาอาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นธรรม สามัคคี มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ดำรงตนด้วยความมีเกียรติ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักสำคัญ คือ กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่กระทำการโกงชาติ โกงแผ่นดิน ไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ และไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์ ความทุกข์ยากของประชาชน ทั้งจะปฏิบัติตนตามมาตรฐานทางจริยธรรม ของรัฐ และจรรยาบรรณ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของประชาชน และขอถวายสัจจะวาจาว่า จะประพฤติปฏิบัติตนตามรอยพระยุคลบาท สืบสานพระราชปณิธาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์ของพระราชาผู้ทรงธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความเพียร อันบริสุทธิ์ ยืนเคียงข้างสุจริตชน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของประเทศชาติสืบไป
นอกจากนี้ยังได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือความมั่นคงทางอาหารและยา(สมุนไพรท้องถิ่น) จังหวัดตราด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ๕ ดีวิถีคนตราด โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
บันทึกความร่วมมือฉบับนี้ มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารและยา (สมุนไพรท้องถิ่น) และหน่วยงานสนับสนุน บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไข ส่งเสริม และพัฒนาปัจจัยที่กำหนดสุขภาวะทั้งทางด้านสุขภาพกาย ใจ ปัญญา สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนจังหวัดตราดมีความเป็นอยู่ที่ดีรวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง ให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ ซึ่งมีความจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเองอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตราด จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีกติกาที่เป็นเจตจํานงและพันธะร่วมของชุมชน สังคม และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ประชาชนสามารถนำพาตนเองตามวิถีชีวิต หรือเรียกว่า “การสร้างสุขภาวะที่ดี” ใน ๕ ด้าน ประกอบด้วย (๑) ด้านรายได้ (๒) ด้านสุขภาพ (๓) ด้านที่อยู่อาศัย (๔) ด้านสิ่งแวดล้อม และ (๕) ด้านสังคมดีตามเนื้อหาข้อความที่ปรากฏใน “ธรรมนูญสุขภาพ ๕ ดีวิถีคนตราด” จึงเห็นร่วมกันว่า ควรมีการกำหนดประเด็นการพัฒนาในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและยา (สมุนไพรท้องถิ่น) จังหวัดตราด สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาคุณภาพชีวิต ๕ ดี วิถีฅนตราด ร่วมกับภาคประชาชนและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
๑.๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พิจารณามอบหมาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการสานพลังภาคีเครือข่ายภาคประชาชน และสังคม หนวยงานภาคีที่เกี่ยวของทุกภาคสวนในการขยายพื้นที่ดำเนินการธรรมนูญสุขภาพ ๕ ดีวิถีฅนตราด โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ(พชอ.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนจังหวัด และสมัชชาสุขภาพจังหวัดตราดภายใต้โครงการบ้านสะอาด เมืองตราดสวยสงาด
๑.๒ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด เป็นเจ้าภาพหลัก การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจแก้ปัญหาและพัฒนาในการประสานงานจัดทำข้อมูลอาหารปลอดภัย แหล่งเพาะปลูก พืช ผัก สมุนไพร ปลอดภัยในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอาหาร สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดตราด และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เกี่ยวกับแหล่งผลิตและสถานที่จำหน่ายอาหารปลอดภัย
๑.๓ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตราด เป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องการส่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมโอกาสทางสังคมบนฐานแห่งความพอเพียง และประสานงานการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม รวมทั้งการส่งต่อให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อมโยงกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สร้างหลักประกันเพื่อความมั่นใจแก่คนในชุมชน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์/มิตรไมตรีที่ดีของคนในชุมชน รู้สึกมั่นคง ภาคภูมิใจ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และมีความสุข
๑.๔ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับสื่อต่าง ๆ จากทุกภาคส่วน ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานจังหวัดตราด เชื่อมโยงข้อมูลอาหารปลอดภัย และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้เรื่องอาหารปลอดภัย การโฆษณาที่เกินจริง สถานที่ผลิต และสถานที่จำหน่ายอาหารที่ปลอดภัย เพื่อให้ประชาชน ผู้บริโภค ได้เลือกซื้ออาหารได้อย่างปลอดภัยเผยแพร่ความรู้ภูมิปัญญาสมุนไพรท้องถิ่นจังหวัดตราด
๑.๕ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดตราด ประสานขอความร่วมมือดำเนินการกับพื้นที่ในการดำเนินงานกับสภาองค์กรชุมชนทุกพื้นที่ เพื่อเกิดผลประโยชน์ร่วมและตัวชี้วัดเดียวกัน
๑.๖ อนุกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนจังหวัดตราด สมัชชาสุขภาพจังหวัดตราด องค์กรชุมชนคนตราดประสานงาน ดำเนินการ ติดตามเสริมพลังเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารและยา(สมุนไพรท้องถิ่น) และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยธรรมนูญสุขภาพ ๕ ดีวิถีคนตราด และนำเสนอในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัด ในปี ๒๕๖๖
๑.๗ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ประสานความร่วมมือหน่วยงานภาคีภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันสนับสนุนการจัดทำแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในเมืองและชนบท เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งจากฐานราก
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป