วันที่ 25 สิงหาคม 2565 สำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนกลุ่มจังหวัดกลางล่าง 1 ประกอบบด้วยจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และราชบุรี จัดเวที “พัฒนาศักยภาพแกนนำตำบล ในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ” เป้าหมายส่งเสริมให้แกนนำสภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถจัดทำแผนพัฒนาตำบล เพื่อสร้างพื้นที่จัดการตนเองในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสามารถเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาทุกระดับ มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 60 คน มีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.ภาคกลางและตะวันตก พมจ.กาญจบุรีเข้าร่วม โดยมีผู้แทน คปอ.จังหวัดกาญจนบุรีและผู้บริหาร มรภ.กาญจบุรีให้การต้อนรับ
ในเวทีดังกล่าวนายพิพัฒน์ แก้วจิตคงทอง ประธานคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี และ ผศ.สุทัศน์ กำมณี ผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ในฐานะเจ้าบ้าน ร่วมกล่าวต้อนรับ โดยมีใจความโดยสรุปว่า จังหวัดกาญจนบุรีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับผู้แทนสภาองค์กรชุมชน กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 คาดหวังจะให้ผู้นำที่ได้เข้าร่วมนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาในพื้นที่ให้เกิดรูปธรรม การจัดเวทีพัฒนาศักยภาพในครั้งนี้ สถาบันการศึกษาพร้อมหนุนเสริมพื้นที่ในการขับเคลื่อนงานพัฒนา พร้อมกันนี้ นายเนตร ปิ่นแก้ว ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนกลุ่มจังหวัดกลางล่าง 1 ได้กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ในการจัดเวทีครั้งนี้ว่า เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแกนนำระดับตำบล (ครู ก) ให้ตระหนักถึงความสำคัญ สร้างความเข้าใจในการจัดทำแผนพัฒนาตำบล และเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ สถานการณ์ในการขับเคลื่อนงาน แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่มีความสอดคล้องกับพื้นที่
นายบรรณรัตน์ เก่งกสิกิจ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวเปิดเวทีว่า “เห็นความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานพัฒนาช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนด้อยโอกาสของสภาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นผู้นำฐานล่างที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา โดยการพัฒนาศักยภาพเป็นการสร้างแนวคิดทางปัญญา สร้างนวัตกรรมใหม่ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ โดยเน้นย้ำการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ”
นายทองใบ สิงสีทา หัวหน้าสำนักประสานงานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้บรรยายให้ความรู้ในเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการ ยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน หมุดหมายภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนปฏิบัติการ พอช. ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) และการจัดทำแผนชุมชนท้องถิ่นแบบบูรณาการระดับจังหวัดและตำบล
นายพิพัฒน์ แก้วจิตคงทอง ร่วมสร้างแรงจูงใจความสำคัญของการจัดทำแผนพัฒนาว่า สภาองค์กรชุมชนมีแผนพัฒนาซึ่งเป็นแผนของสภาองค์กรชุมชนเอง โดยแผนของท้องถิ่นนั้นส่วนใหญ่ไม่ครอบคลุมความต้องการในการแก้ไขปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ เพราะเน้นการพัฒนาไปยังโครงสร้างพื้นฐาน โดยการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน จะต้องดำเนินการจัดทำแผนของภาคประชาชนที่มาจากปัญหาความต้องการของคนในตำบล ที่ครอบคลุมการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีที่มาตั้งแต่ในระดับหมู่บ้านเชื่อมโยงเป็นแผนระดับตำบล เชื่อมโยงจัดทำแผนในระดับจังหวัด นำไปสู่การบูรณาการภาคีพัฒนา ทั้งภาครัฐ เอกชน สู่ระดับนโยบายด้วยพลังของสภาองค์กรชุมชน
เวลาต่อมามีการแบ่งกลุ่มย่อยระดับจังหวัด ในการวิเคราะห์ออกแบบแผนการพัฒนาระดับจังหวัด และกลุ่มผู้นำยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด เพื่อวิเคราะห์การต่อยอดในการนำแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติและเชื่อมโยงภาคี พร้อมนำเสนอและแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างจังหวัด
ช่วงสุดท้าย นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก กล่าวให้กำลังใจสภาองค์กรชุมชนที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตว่า “การเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงแนวคิดการพัฒนา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า ซึ่งผู้นำรุ่นหลังสามารถนำไปสร้างการเปลี่ยนแปลงตนเองให้รู้เท่าทันสถานการณ์ โดยเวทีการพัฒนาศักยภาพคณะทำงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่มีเป้าหมายสำคัญในการมีแผนพัฒนาที่แท้จริง ที่มาจากชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของปัญหา ซึ่งในการดำเนินการจะต้องมีความชัดเจน และมีเป้าหมายในการสร้างงานพัฒนาที่เป็นรูปธรรม สร้างชุมชนเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้ โดยในการทำแผนพัฒนาจะต้องครอบคลุมการแก้ไขปัญหาทุกมิติ เพราะแผนชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาในรูปแบบใหม่ ใช้แผนพัฒนาในการยึดโยงคนในพื้นที่ ยึดโยงภูมิศาสตร์ของพื้นที่โดยการทำผังชุมชน ผังตำบล ไปพร้อมกับการทำแผน ซึ่งพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้จะเป็นพื้นที่ที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ และยึดระบบการพัฒนา วิถีวัฒนธรรม กฎกติกา ข้อปฏิบัติของชุมชน ยกระดับการทำแผนพัฒนาไปสู่เชิงยุทธศาสตร์”
วิไลวรรณ บุญตาระวะ รายงาน