ชัยนาท : วันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2565 ณ โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดชัยนาท สำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดอบรมพัฒนาทักษะช่างชุมชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โดยมีกิจกรรมอบรมการใช้เครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อนที่อยู่อาศัย โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม 100 คน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 ซึ่งจัดในครั้งนี้ จำนวน 50 คน และรุ่นที่ 2 จำนวน 50 คน ซึ่งหลังจากจัดกิจกรรมการอบรมเรียบร้อยแล้วจะมีการจัดกิจกรรมปฏิบัติการซ่อมแซม ปรับปรุง ก่อสร้างที่อยู่อาศัยต่อไป
ดร.จรรยา กลัดล้อม คณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท กล่าวว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะองค์ความรู้และยกระดับให้ช่างชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาศักยภาพแกนนำในพื้นที่ให้มีความรู้ที่สามารถนำข้อมูลผู้เดือดร้อนไปจัดทำแผนการแก้ปัญหาร่วมกัน ตลอดจนเชื่อมโยงและสร้างพลังร่วมของประชาชน ชุมชน กลุ่มองค์กรและภาครัฐ ในการพัฒนาระบบการทำงานจากฐานรากและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาให้ชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจัดอบรมจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดชัยนาท และได้รับการสนับสนุนวิทยากรในการอบรมให้ความรู้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
นางใจย้อย เอียดขำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาท่าพระ ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งขอบคุณหน่วยงานภาคีที่เข้าร่วมดำเนินงานในพื้นที่ตำบลเขาท่าพระ และร่วมขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในเขตตำบลเขาท่าพระที่มีประชาชนเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก
ต่อมานายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก พอช.กล่าวเปิดการอบรมการใช้เครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อนที่อยู่อาศัย และบรรยายความเป็นมาของ พอช. รวมทั้งตอกย้ำแนวคิดการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน ให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และพร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยต่อไป
จากนั้นเป็นกิจกรรมการอบรม โดยนายอุกฤษ วรรณประภา อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การออกแบบตาม “หลักแนวคิดเพื่อทุกคน” และหลักการ Universal Design เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจและทำความรู้จักกับ Universal Design แนวคิดการออกแบบทั้ง 7+1 และการประเมินสภาพการซ่อมสร้างที่อยู่อาศัย รวมถึงมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือจัดเก็บข้อมูลความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย โดยนายอนันต์ แสงงาม สถาปนิกอาวุโส ของ พอช. ได้ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจพร้อมทั้งจัดทำแบบสำรวจข้อมูลและภาพถ่ายด้านที่อยู่อาศัย การจับพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS) แบบจุด แบบขอบเขต และการบันทึกข้อมูลทางภูมิศาสตร์ (GIS) และนายธันวนนท์ ศักดิ์สิทธิ์ วิศวกร พอช. ได้บรรยายในส่วนของการรังวัดบ้านและขอบเขตที่อยู่อาศัย การถอดราคาใบแสดงรายการวัสดุและค่าใช้จ่าย (BOQ) การประเมินราคาวัสดุ การถ่ายภาพที่อยู่อาศัยแบบระบุตำแหน่งที่จะซ่อมสร้าง การวิเคราะห์สภาพที่อยู่อาศัย และรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และสุดท้ายได้ร่วมกันสรุปข้อมูลกิจกรรมการอบรมและแลกเปลี่ยนแนวคิดการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อนำไปเป็นแนวทางการจัดอบรมในครั้งต่อไป
เบญจวรรณ มุสิด รายงาน