สำนักงานภาคใต้ ร่วมกับคณะทำงานพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคใต้ และสำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง จัดเวทีเรียนรู้ศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชนกับการพัฒคุณภาพชีวิตภาคใต้ ณ ศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชนจักสานต้นคลุ้มตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 7-8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา มีผู้แทนจากศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชน ผู้แทนคณะทำงานพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน ผู้นำองค์กรชุมชน ผู้แทนจากหน่วยงานภาคี (รองนายก อบต.นาทอน พัฒนาที่ดินอำเภอ วิทยาลัยชุมชนสตูล กศน.นาทอน พัฒนาชุมชนนาทอน เกษตรอำเภอ) และผู้ปฏิบัติงาน พอช. จากสำนักงานภาคและสำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชน เข้าร่วมกว่า 30 คน
แลกเปลี่ยนมุมมอง ถกประเด็นเพื่อให้เห็นทางออก
ในค่ำคืนแรกของเวทีเรียนรู้ดังกล่าว ผู้นำและผู้ปฏิบัติงาน พอช. ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดประสาคนทำงานพัฒนาในหลายประเด็น โดยในช่วงต้น นายวิริยะ แต้มแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาค (ปฏิบัติการพื้นที่) ได้ตั้งประเด็นคำถามเพื่อฉุกคิดร่วมกันว่า
“สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราเข้าถึงกลุ่มคนด้อยโอกาสในชุมชน หรือคนด้อยโอกาสได้เข้าถึงเราหรือไม่ ??? อนาคตข้างหน้าเราจะประคองตนเองให้อยู่รอดภายใต้สถานการณ์หนัก ๆ ได้อย่างไร ??? ถ้าจะเดินหน้าต่อเราจะมี Partner เข้ามาร่วมจับไม้จับมือกับเราได้อย่างไรบ้าง???”
นายนเรศ หอมหวล ประธานคณะทำงานพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคใต้ ได้กล่าวถึงสิ่งที่พบจากการทำงานตลอด 2 ปีให้หลังว่า…เนื้องานที่เกิดขึ้นล้วนจากเครือข่ายที่ก่อเกิด เกาะเกี่ยวกันขึ้นมาเอง และนั่นคือการฝึกปรือฝีมือ ทั้งการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านความคิด ทักษะ และการปฏิบัติ โดยมีแผนธุรกิจเพื่อชุมชน หรือ CBMC (Community Business Model Canvas) เป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งเครื่องมือนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกงาน ทุกครอบครัว ทุกกลุ่มองค์กร ถ้ารู้จักใช้ให้เป็นก็จะเห็นผล ในส่วนของการร่วมมือกันนั้น เราพบว่าเป็นแบบฐานความสัมพันธ์มากกว่าการเป็นกลไกเชิงโครงสร้าง ซึ่งทำให้เกิดการโยงทำงานร่วมในลักษณะเครือข่ายแบบหลวม ๆ ไม่มีใครเป็นหัว ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นใครจะอาสาขึ้นมาเป็นคนนำ รูปธรรมหนึ่งที่เราสามารถบริหารร่วมกันได้ เช่น ลงขันซื้อซูมเพื่อทำเวทีเรียนรู้ข้ามพื้นที่ในชื่อ คุณภาพชีวิตดีที่บ้านฉัน เพื่อชูรูปธรรมที่สำเร็จ รูปธรรมที่ทำได้ มาเป็นกรณีเรียนรู้มาแลกเปลี่ยนร่วมกัน…
นายสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ อดีตท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน จ.สตูล ได้แสดงความคิดเห็นว่า…จริง ๆ ต้นทุนทางวัตถุดิบของชุมชนเรามีมาก และคิดว่าสิ่งที่จะเป็นช่องทางให้พี่น้องเพิ่มรายได้ได้ในยุคนี้ คือ การตลาดออนไลน์ ที่ชุมชนทำเองได้ ขายเป็น รวมถึงความสามารถด้านอื่น ๆ ที่ชุมชนจะจัดการตนเองได้ โดยเริ่มตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน โดยใช้ทุนของชุมชนที่มีอยู่เชื่อมเพื่อนเข้ามาสนับสนุน
นายอิสมาแอ เบ็ญสะอาด หรือบังแอน ผู้นำจากเกาะลิบง จ.ตรัง กล่าวต่อว่า…เศรษฐกิจชุมชนที่เราทำอยู่คือเริ่มจากบุคคลโยงมาสู่กลุ่ม แล้วจึงโยงมาสู่การแบ่งปัน สิ่งที่จะเป็นโจทย์ของเรา คือ แล้วเราจะแบ่งปันไปยังกลุ่มคนเปราะบางอย่างไรบ้าง ซึ่งก็เป็นคำถามต่อว่า เราจะไปค้นหากลุ่มคนเหล่านั้นได้อย่างไร และเราต้องให้หาให้เจอตัวจริง แล้วค่อยมาดูกิจกรรมที่เหมาะสมอย่างเหมาะเจาะกับคนกลุ่มนั้น ที่เป็นกิจกรรมที่เหมาะสมอย่างแนบเนียน
บังแอ นายอิสมาแอ สามารถ ประธานสถาบันการเงินชุมชนตำบลกำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา แสดงความคิดเห็นสั้น ๆ ว่า…การที่จะค้นหากลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ได้มาอย่างไรนั้น คิดว่าข้อมูลจาก จปฐ. หรือ TPmap ก็สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง เราเองหรือชุมชนเองต้องกรองร่วมกันอีกชั้นหนึ่ง เพราะบางครั้งก็ยังมีคนที่เปราะบางจริง และไม่จริงอยู่ในฐาน แต่เราเองจะรู้และมองเห็นว่าคนเปราะบางที่แท้จริงอยู่ที่ไหน…
ในส่วนของงานสถาบันการเงินชุมชนตำบลกำแพงเพชร ทื่ทำงานก็มีเงินหมุนเวียนกว่า 22 ล้านบาทแล้ว นี้เพียงตัวอย่างตำบลเดียว แต่ถ้าเราจัดระบบของชุมชนดี ๆ วิเคราะห์ชุมชนของเราให้ดี ๆ แต่ละตำบลจะพบว่ามีเงินไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอกับการนำมาพัฒนาชุมชนเอง ขอให้มีทุนที่ดี มีคนพร้อมที่จะเข้ามาต่อยอดเท่านั้น และคิดว่า เราสร้างพื้นที่ต้นแบบเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศได้ โดยใช้ศูนย์บ่มเพาะฯ เป็นพื้นที่เรียนรู้กลางในการเรียนรู้
บังเยะ นายมะเยะ แดเมาะ ผู้นำจากศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชนบูนาดารา ต.ตะโละกาโปร์ จ.ปัตตานี ให้ข้อคิดเห็นว่า แผนธุรกิจเพื่อชุมชน หรือแผน 9 ข้อ 5 ช่อง เป็นเพียงกรอบหรือแนวทางเท่านั้น แต่ที่เราต้องกลับมาดู คือ ทุนในชุมชนของเราที่มีอยู่ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ สร้างอาชีพให้มีรายได้ในทุก ๆ ขั้นตอนของการทำงานได้นั้นคืออะไรบ้าง ที่ ต.ตะโละกาโปร์ ต้องบอกว่า สภาองค์กรชุมชนเกิดได้เพราะการมีศูนย์บ่มเพาะฯ เพราะศูนย์บ่มเพาะฯ สามารถรวมกลุ่มต่าง ๆ คนต่าง ๆ เข้ามาเจอกัน แล้วจึงไปจดแจ้งจัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชน แล้วเราก็ทำอาชีพผ่นกลุ่มคนต่าง ๆ นั้น เช่น ข้าวเกรียบหรือกะโป๊ะ เพ้นท์ร่ม ชาปากี ข้าวแกง ปลาแดดเดียว เพาะชำต้นกล้าไม้ เป็นต้น เหล่านี้ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาใหม่ เพียงแต่ค้นหาว่าคนของชุมชนเราทำอะไรอยู่บ้าง หรือทำอะไรได้บ้าง แล้วก็มาคิดกระบวนการพัฒนากัน คิดวิธีการขายกัน ขายได้ก็แบ่งปันผลกำไรให้เด็กกำพร้า ให้มิสยิด เวลาสมาชิกในชุมชนเสียชีวิตก็มอบข้าวสาร 1 ถุง ให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต พากันทำบ้านพอเพียงให้กับผู้มีรายได้น้อย
ที่สุดแล้วการทำงานก็ต้องมีภาคีเข้ามาช่วยหนุน ซึ่งการมีภาคีเข้ามาหนุนเสริมได้ดีนั้นเราต้องไม่หวงพื้นที่ และเราต้องบอกภาคีเราด้วยว่าอย่าหวงเราเพราะเราต้องมีภาคีอื่น ๆ ด้วย คือใช้แผนธุรกิจเพื่อชุมชน CBMC เป็นกลยุทธ์ในขับเคลื่อนงานกับภาคี และกับชุมชน
นายกูและ ต่วนจอลง รองนายกเทศมนตรีตำบลเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชนเขื่อนบางลาง กล่าวว่า การค้นหากลุ่มเปราะบางว่าเป็นกลุ่มจริง ๆ หรือไม่ เรายังต้องหา กับชื่อที่ได้มาอาจจะเป็นคนเปราะบางจริง แต่ไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ เราก็ต้องไปชวนคนในครอบครัวเขาเข้ามาทำกิจกรรมกับเราแทนเพื่อเป็นตัวแทนของครัวเรือนนั้น
อีกส่วนหนึ่งการทำการตลาดออนไลน์ ตอนแรกไปยากมาก เพราะชาวบ้านยังไม่เข้าใจว่า ชาวบ้านจะทำอย่างไรจึงได้ชวนภาคีมาช่วย ซึ่งตอนหลังมาก็สามารถพัฒนาตนเองได้ ขายเป็น เขียนเป็น
จ๊ะเซาะ นางระมิดา สารสิทธิ์ ผู้นำจากเกาะลิบง จ. ตรัง เสริมว่า การทำงานเราต้องคิดนอกกรอบ ศูนย์บ่มเพาะฯ ไม่ได้ทำงานเพียงตอบโครงการเท่านั้น แต่มองให้เห็นถึงความยั่งยืนของชุมชนด้วย ในส่วนของเรื่องการตลาดออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เราต้องหาคนทำได้มาช่วยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพื่อขายความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ให้เพิ่มมูลค่าและคุณค่า เห็นในทุกมิติ ทั้งปัจเจก กลุ่ม ชุมชน
บังศักดิ์ นายอับดุลรอซัก เหมหวัง ต.ขอนคลาน จ.สตูล ร่วมแลกเปลี่ยนด้วยว่า ขอนคลานขับเคลื่อนงานจนได้มาตรฐานอาหารแปรรูป และจับมือกันเป็นเครือข่ายภูมินิเวศน์ทวงคืนน้ำพริกปลาทู เพื่อฟื้นฟูทรัพยากร ด้วยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกกลาง ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ขยับขับเคลื่อน แล้วก็ขยับไปสู่ CBT สตูล
ปิดท้ายของค่ำคืนด้วยประโยคสั้น ๆ จาก พี่ดุลย์ นายศิลป์เรืองศักดิ์ สุขใส หัวหน้างานปฏิบัติการชุมชน ได้พูดทิ้งท้ายว่า…ที่ผ่านมาเรามีการวิเคราะห์ต้นทุนของชุมชน แล้วแปลงต้นทุนมาสู่กิจกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน สิ่งที่เราต้องเคลื่อนร่วมกันต่อ คือ การทำให้ศูนย์บ่มเพาะฯ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในเชิงนโยบาย เพื่อเสนอรูปธรรมความสำเร็จจากพื้นที่ออกสู่ภายนอก และเป็นข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยขบวนองค์กรชุมชน
เรียนรู้จากสิ่งที่ทำจริง “จากต้นคลุ้ม สู่การพัฒนาอาชีพคนในชุมชน”
วันที่สองของการเรียนรู้ เราได้ลงพื้นที่ศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชนจักสานต้นคลุ้ม ต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เพื่อไปดูของจริงจากคนทำงานจริง นำทีมโดย พี่หมู นายบรรชา ชูสังข์ ผู้นำศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชนจักสานต้นคลุ้ม ต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ได้บอกเล่าในช่วงต้นว่า
ตำบลนาทอนมีประชากรประมาณ 7,000 กว่าคน 2,000 กว่าครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีกทางเกษตร ทั้งสวนยางพารา สวนปาล์ม สวนผลไม้ ได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายกองทุนชุมชนตำบลนาทอน” โดยการผนวกรวมกลุ่ม องค์กรทางการเงินที่มีอยู่ในหมู่บ้านเข้าด้วยกัน ทั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนหมู่บ้าน โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน และกองทุนทางการเงินอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ทำทุกเรื่องให้ชุมชนเข้มแข็ง เกิดสวัสดิการแก่สมาชิกอย่างทั่วถึง พึ่งตนเองได้ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้สโลแกนว่า “ฝากเงินกับเครือข่าย สร้างรายได้ เกื้อหนุนชุมชน”
“เราได้รับการสนับสนุนจาก อบต.นาทอนในการสมทบเงินกองทุนสวัสดิการชุมชน ปีละ 200,000 บาท ทุกปี พอเราเริ่มทำเรื่องการเงิน เราก็มาคิดต่อว่า ทำอย่างไรจะให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น เพราะพี่น้องเราทำสวนยาง มีสวนยางเป็น 20 ไร่ แต่กรีดยางเท่าไรก็ไม่รวย ได้แค่ประทังชีวิต แต่ทำไมคนที่เขามีเพียงตึกสองห้อง เขาจึงรวย เขาจึงมีเงิน จึงเป็นที่มาของการจัดระบบเศรษฐกิจของชุมชน โดยจำลองเป็น…ประเทศนาทอน…และมองว่าถ้าเศรษฐกิจในประเทศดี คนของเราจะต้องมีเงินออม เราจึงให้เครื่องมือทำมาหากิน ให้วิธีคิด ให้ความรู้ ให้แล้วต้องลงมือทำ มีการค้นหาลงลึกรายบุคคล มีการพูดคุยทางความคิดกับเขาว่าถ้าอยากได้ก็ต้องออมกับเราด้วย เพราะว่าเราจะไม่ได้ให้แบบสงเคราะห์” พี่หมู บรรชา ชูสังข์ บอกเล่า
น้องแอ๊ฟ นางสาววิรัญญา จ่าวิสูตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรทักษอร และคณะทำงานศูนย์บ่มเพาะฯ บอกเล่าถึงผลงานที่ได้ดำเนินการคร่าว ๆ ว่า ในตำบลนาทอนมีกลุ่มอาชีพกว่า 21 กลุ่ม กระจายกันอยู่ทั่วทุกหมู่บ้าน ที่อยู่ภายใต้สภาองค์กรชุมชน เช่น กลุ่มจักสานต้นคลุ้ม กลุ่มสมุนไพรทักษอร กลุ่มปาล์มบาติก กลุ่มผลผลิตทางการเกษตร (ผักสลัดนอกบ้าน) กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ กลุ่มไม้กวาดดอกหญ้า กลุ่มธนาคารกีฬา กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดูแลคนทั้งตำบล
น้องแอ๊ฟ เล่าว่า “เราเน้นด้านเศรษฐกิจ เพราะเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ เพราะถ้าจะชวนคนมาร่วม เราต้องทำให้เขาเห็นรายได้ เพราะถ้ามีแต่ความฝันคนก็ถอยหนีหมด ไม่รู้เมื่อไรความฝันจะบรรลุ เราก็เลยสร้างเพจ…ซื้อค่ะ อยากขาย…ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางตลาดให้กับชุมชน ก่อนหน้านี้เราก็ได้เข้าไปเรียนรู้การทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน CBMC ออนไลน์ เพื่อที่จะเรียนรู้การทำธุรกิจในกระดาษก่อน ให้มันล้มเหลวในกระดาษก่อน ค่อยมาลงมือทำจริง พอทำแล้วยังไม่ดีพอ ไม่แข็งแรงพอ แต่เราก็ยังมีพี่เลี้ยงที่อยู่ในกลุ่มออนไลน์ที่คอยให้คำแนะนำ กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่มีอยู่ทำให้สมาชิกในกลุ่ม และกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อเดือนตั้งแต่ คนละ 3,000 จนถึง 30,000 บาท ต่อเดือน”
ในช่วงท้ายของการเรียนรู้ พี่ตู่ นายนันทพงศ์ นาคฤทธิ์ นักจัดกระบวนการเรียนรู้แผนธุรกิจเพื่อชุมชนศูนย์บ่มเพาะฯ บ้านถ้ำเสือ ต.อ่าวลึกใต้ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ได้เพิ่มเติมว่า องค์ความรู้จากการทำงานของนาทอนเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่จะตีเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ หากนาทอนสามารถเก็บข้อมูลตัวเลขรายได้ของแต่ละคนที่อยู่ในแต่ละกลุ่มว่ามีรายได้เท่าไร ประมวลรวมเป็นภาพรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งตำบล เกิดตัวเลขที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนเท่าไร และเราเองก็จะเห็นวงแหวนธุรกิจของชุมชนที่สร้างประโยชน์ให้กับสมาชิกในชุมชนได้อย่างกว้างขวาง ใครเข้ามาได้รับประโยชน์ในช่วงไหน คิดเป็นเงินเท่าไร ได้ประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อมอย่างไร คิดว่าจะเป็นภาพที่น่าสนใจต่อการเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนกับหน่วยงานในระดับจังหวัดได้เป็นอย่างดี
ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ได้ร่วมวงเรียนรู้ และลงดูพื้นที่ ทำให้ความตั้งอกตั้งใจอย่างมากของพี่น้ององค์กรชุมชน นอกจากที่จะดำเนินการตามวิถีปกติแล้ว ยังได้ร่วมกันวางแผนงานการดำเนินการ่วมกันใน 4 เรื่อง คือ 1) การทำโมเดลแผนธุรกิจเพื่อชุมชนระดับตำบล TBMC (Tumbon Business Model Canvas) เพื่อให้เป็นต้นแบบให้กลุ่มเครือข่ายนำไปขยายผล ปรับใช้ในกิจการของตนเอง 2) จดทะเบียนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนระดับตำบล เพื่อเป็นการรวมกลุ่ม เพิ่มโอกาสในการผลักดันกลุ่มองค์กรได้ขับเคลื่อนไปด้วยกันทั้งในด้านการตลาด การส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดคล้อง และเกื้อหนุนกันและกัน 3) พัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการเรียนรู้จากฐานทรักยากรชุมชนในหลายมิติ โดยใช้ฐาน Satun UNESCO Global Geopark โดยใช้ต้นทุนคน ทุนวัฒนธรรม ทุนสังคมเกษตรกรรม และ 4) พัฒนาอาชีพ พัฒนาคน สร้างสังคมสวัสดิการ ด้วยการสนับสนุนการฝึกทักษะ อาชีพเสริมให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย โดยความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงส่งเสริมสวัสดิการด้านต่าง ๆ แก่คนในชุมชนให้ครอบคลุมทุกด้านของชีวิต
“และนี่คืออีกหนึ่งรูปธรรมของการใช้ศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชน ที่ยกระดับจากงานที่ชุมชนดำเนินการอยู่ สู่การสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนให้มีกิน มีรายได้ ดูแลกันและกันได้อย่างแท้จริง”
เสาวลักษณ์ ปรปักษ์พ่าย : เล่าเรื่อง