พระนครศรีอยุธยา : วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมสมาคมศิษย์เก่าอยุธยาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่งานที่อยู่อาศัย เข้าร่วมประชุมคณะทำงานโครงการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒาระบบราง ภาคกลางและตะวันตก เพื่อออกแบบการทำงานและวางแผนการใช้งบประมาณการขับเคลื่อนงานของพื้นที่ได้รับผลกระกระทบจากการพัฒนาระบบราง พร้อมลงพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนและให้กำลังใจแก่ผู้เดือดร้อนชุมชนสุริยมุณี
ภาคกลางและตะวันตกมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางตามนโยบายของรัฐ จำนวน 9 จังหวัด 34 ตำบล/เมือง 60 ชุมชน 2,762 ครัวเรือน (ข้อมูลสำรวจสรุป ณ เดือนพฤษภาคม 2564) มีพื้นที่นำร่องโครงการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒาระบบราง จำนวน 3 จังหวัด 20 ชุมชน 1,400 ครัวเรือน เป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ภายใต้ “การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง “คืนพื้นที่สร้างราง สร้างบ้าน สร้างคน สร้างชุมชน เพื่อสังคมที่ยั่งยืน”
ในการประชุมดังกล่าว คณะทำงานได้ประชุมหารือออกแบบการทำงาน พร้อมทั้งวางแผนการใช้งบประมาณในแต่ละแผน และวางบทบาทหน้าที่การทำงานของคณะทำงาน โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง งบประมาณ 300,000 บาท พร้อมกันนี้ได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ เทศบาลเมืองบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ชุมชนเขาคูบา จังหวัดสระบุรี และชุมชนสุริยมุณี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เทศบาลเมืองบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5 ชุมชน ในการดำเนินการมีข้อติดขัดเรื่องที่ดินจึงไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งได้มีการเปิดวงพูดคุยร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น นำมาสู่การจัดตั้งคณะกรรมการเมือง และได้มีการรับรองข้อมูลร่วมกับแขวงการทางนครปฐมแล้ว ในระยะต่อไปมีแผนการเชื่อมโยงกับกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อให้ขับเคลื่อนงานได้ง่ายขึ้น พร้อมหาคนมาร่วมทำงานเพิ่มมากขึ้น
ชุมชนเขาคูบา จังหวัดสระบุรี เดิมทีมีข้อมูลผู้เดือดร้อน จำนวน 150 ครัวเรือน ภายหลังได้มีการสำรวจข้อมูลใหม่พบผู้เดือดร้อนจำนวนมาก แบ่งเป็น 7 โซน ประมาณ 1,000 กว่าครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการรับรองสิทธิ์ ทั้งนี้ จากการดำเนินงานเนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้การดำเนินการล่าช้า และพบว่าที่ดินยังไม่ได้ถอนสภาพ แผนดำเนินงานต่อจะมีการดำเนินการเรื่องที่ดินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสร้างคนจากในชุมชนให้ลุกขึ้นมาทำงาน รวมถึงการฟื้นฟูคณะกรรมการเมือง สร้างคน สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน
ชุมชนสุริยมุณี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการลงสำรวจข้อมูลร่วมกันพบผู้เดือดร้อนจำนวน 37 หลังคาเรือน ซึ่งมีความเป็นห่วงเรื่องรายได้ของผู้เดือดร้อนภายหลังการไล่รื้อ สำหรับแผนดำเนินงานต่อจากนี้จะมีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนให้ครอบคลุม พร้อมทั้งแบ่งทีมทำงานเพื่อสำรวจแบ่งที่ดินโดยรอบ และขอหนังสือรับรองกลุ่มออมทรัพย์จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ต่อมาคณะทำงานฯ พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. ได้ลงพื้นที่ชุมชนสุริยมุณี เพื่อร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานแก่ผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 37 ครัวเรือน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการ วิธีการ เครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจในการแก้ไขปัญหาด้วยพลังของคนในชุมชนเอง