ประจวบคีรีขันธ์ /วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการสำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมประชุมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลอ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างนิคมสร้างตนเองประจวบคีรีขันธ์กับป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานที่ประชุม มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาร่วมเรียนรู้ประมาณ 1,000 คน เพื่อนำบทเรียนการแก้ไขปัญหาของสภาองค์กรชุมชนตำบลอ่าวน้อยไปดำเนินการในพื้นที่ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน
ความเป็นมาของปัญหา
พ.ศ. 2511 ป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี กำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 325 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มีเนื้อที่จำนวน 922,951 ไร่ ต่อมาได้กำหนดพื้นที่บางส่วนเป็นอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พ.ศ. 2542
พ.ศ. 2512 นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2499 ในพื้นที่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์และอำเภอทับสะแกบางส่วน กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในท้องที่อำเภอเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และอำเภอทับสะแก พ.ศ. 2512 ออกตามความในพระราชบัญญัติ จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มีเนื้อที่จำนวน 195,625 ไร่
พ.ศ. 2536 กรมป่าไม้มอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี โซน E ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 140,675 ไร่ และส.ป.ก. ได้กันพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อ การเกษตรกรรม และพื้นที่ภาระผูกพันคืนกรมป่าไม้ จำนวน 40 แปลง เนื้อที่ 34,071 ไร่เศษ
ประเด็นปัญหาและการดำเนินการที่ผ่านมา
ปัจจุบันพื้นที่นิคมสร้างตนเองประจวบคีรีขันธ์ทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี เนื้อที่ทับซ้อนประมาณ 56,605 ไร่เศษ ประชาชนที่อยู่ภายในเขตนิคมฯ ไม่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ได้
ระหว่างปี 2544-2549 กรมป่าไม้ กรมประชาสงเคราะห์ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการสำรวจรังวัดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี ส่วนที่ทับซ้อนกับนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ยกเว้นพื้นที่ที่ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินแล้ว) เพื่อเตรียมการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ตามขั้นตอนของกฎหมาย
ปี 2556 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการประชุม ได้ผลสรุปว่า “ให้กรมป่าไม้รับไปดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 325 (พ.ศ. 2511) โดยวิธีถ่ายทอดแนวเขต โดยให้กันพื้นที่นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการส่งแผนที่แนวเขตนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ได้จัดทำไว้ให้กรมป่าไม้ดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน”
ปี 2557 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้มีคำสั่ง ที่ 627/2557 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขแผนที่ท้ายกฎกระทรวง ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี ในส่วนที่ทับซ้อนกับแผนที่นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีการประชุมและมติที่ประชุมเห็นชอบตามแผนที่ที่ได้แก้ไขโดยวิธีถ่ายทอดแนวเขต แต่ให้เพิ่มเติมในส่วนที่ยังคงมีสภาพป่าแปลงเล็กๆ ในเขตพื้นที่นิคมสร้างตนเองฯ ที่มีลักษณะเป็นป่าชุมชน ให้นิคมสร้างตนเองประจวบคีรีขันธ์ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและราษฎรในพื้นที่ร่วมกันรับผิดชอบดูแลมิให้มีการบุกรุกทำลาย และในส่วนพื้นที่ที่คณะทำงานฯ ได้กันพื้นที่คงสภาพป่ากลับคืนกรมป่าไม้
ปี 2558 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รายงานผลคณะทำงานแก้ไขแผนที่ท้ายกฎกระทรวงป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีในส่วนที่ทับซ้อนกับนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยวิธีการถ่ายทอดแนวเขต ตามคำสั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ 627/2557 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557 โดยกันพื้นที่คงสภาพป่ากลับคืนกรมป่าไม้ ส่วนพื้นที่มีสภาพป่าแปลงเล็กๆ และที่มีลักษณะเป็นป่าชุมชนให้นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและราษฎรในพื้นที่ร่วมกันดูแลรับผิดชอบมิให้มีการบุกรุกทำลาย
ปี 2560 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์รายงานผลคณะทำงานแก้ไขแผนที่ท้ายกฎกระทรวงป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีในส่วนที่ทับซ้อนกับแผนที่นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โดยวิธีถ่ายทอดแนวเขต โดยมีการประชุมเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม พื้นที่ทดแทนป่าไม้ส่วนกลาง จำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 3,527 ไร่เศษ พื้นที่มีสภาพเป็นภูเขา จำนวน 23 แปลง เนื้อที่ 3,805 ไร่เศษ รวม 7,333 ไร่เศษ
ปี 2562 กรมป่าไม้ได้แจ้งผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรีว่า ขอให้มอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี ตามโครงการปรับปรุงแก้ไขแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติตามแนวทางการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) ต่อไป
อนึ่ง ภายหลังจากการปรับปรุงกฎกระทรวงตามโครงการปรับปรุงแก้ไขแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติตามแนวทางการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) แล้ว บริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีบางส่วน มีราษฎรครอบครองและเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ให้ดำเนินการตามกระบวนการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ต่อไป
ปี 2564 กรมป่าไม้ได้มอบหมายให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี ประสานนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบและยืนยันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี ในส่วนที่ทับซ้อนกับนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และขอให้กันพื้นที่ที่มีสภาพป่าและพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ และกรมป่าไม้ได้แจ้งประสานกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเพื่อขอข้อมูลรายละเอียดข้อเท็จจริงการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อขอได้โปรดส่งรายละเอียดดังนี้
- ข้อมูลการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- มติที่ประชุมคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2504
- แผนที่พระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2512
- แผนที่จำแนกให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
- ผลการพิจารณาปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการตามมาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map)
ปี 2565 กรมป่าไม้เสนอ ทส. นำเรียน รมว. ทส. ให้ความเห็นชอบเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี บางส่วน เฉพาะพื้นที่นิคมสร้างตนเองทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติ ประมาณ 56,605 ไร่เศษ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและประกาศกฎหมายต่อไป
บทบาทสภาองค์กรชุมชนตำบลอ่าวน้อย
สภาองค์กรชุมชนตำบลอ่าวน้อยได้ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตั้งแต่ปี 2552 และผลักดันให้มีคำสั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่งตั้ง “คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี และนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์” และมีการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การประชุมในวันนี้ (24 พฤษภาคม) เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างนิคมสร้างตนเองประจวบคีรีขันธ์กับป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานที่ประชุม
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีกับนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น กรมป่าไม้จะเสนอเรื่องต่อปลัดกระทรวงฯ ภายในสัปดาห์หน้า
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ภาครัฐที่มีการกำหนดเขตที่ดินในแผนที่ และถือกฎหมายที่ต่างกัน
“วันนี้ไม่ได้มาประชุม แต่ต้องมาบอกว่า ‘เมื่อไรจะเสร็จ’ ไม่เช่นนั้นจากปัญหาที่เริ่มจากปัญหาเล็ก ๆ ในครอบครัว จากกรณีที่ไม่สามารถแบ่งพื้นที่ให้กับทายาทได้ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่เชิงนโยบายที่มีความทับซ้อน การแก้ไขปัญหาต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ หลักนิติศาสตร์ และหลักรัฐศาสตร์ เป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหา แนวเขตที่มีความทับซ้อน 56,000 กว่าไร่ ต้องมีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ จะต้องกันออก และพื้นที่ที่ไม่มีสภาพเป็นป่าให้จัดให้ประชาชน โดยหลายภาคส่วนในพื้นที่ รวมถึงการเมืองต้องช่วยกันผลักดันในเรื่องนี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน ส่วนเรื่องการดำเนินการในเรื่อง One Map ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าว
ขณะที่ นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการสำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวย้ำกับผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลอ่าวน้อยและเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่าว่า “จากความมุ่งมั่นในการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ที่ดิน (โฉนด) หากประสบความสำเร็จตามที่ได้มีการขับเคลื่อนกันแล้ว สภาองค์กรชุมชนควรมีข้อตกลงในการพัฒนา หรือการรักษาผืนดินไว้ให้กับลูกหลานในอนาคต ตามเจตนารมณ์ที่ได้มีการจัดสรรที่ดินให้กับราษฎร”
เขียนโดย วัชรา สงมา
ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก