นครสวรรค์/ เมืองปากน้ำโพประกาศวาระจังหวัด “นครสวรรค์คนธรรมดี มีวัฒนธรรมสุจริต ใช้ชีวิตพอเพียง” เพื่อร่วมกันต่อต้านการทุจริตป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
นครสวรรค์/วันนี้(3พ.ค.2565) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ (พอช.) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนนครสวรรค์ ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีลงนามในประกาศวาระจังหวัด“นครสวรรค์คนธรรมดี มีวัฒนธรรมสุจริต ใช้ชีวิตพอเพียง” โดยมีนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานในพิธี ซึ่ง ได้รับเกียรติจาก นายประชา เตรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการสร้างความเข้มแข็งและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม นายวิชัย นะสุวรรณโณ ผู้อำนวยการ พอช. ภาคเหนือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายประชาชน ประชาสังคม ร่วมเป็นสักขีพยาน กว่า 200 คน ณ ที่ทำการแหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด ตำบลแควใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
นายประชา เตรัตน์
นายประชา เตรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการสร้างความเข้มแข็งและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม กล่าวว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวให้บรรเทาลง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด และต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้ แก่ประชาชนถึงภัยที่เกิดจากการทุจริต ตลอดจนจัดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพและกลไกในการส่งเสริม การรวมตัวและมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสอดส่องและป้องกันการทุจริต ซึ่งจากรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงมี การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้น เพื่อจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นไปตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง และได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชน อย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) จำนวน ๕ กิจกรรม ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนใน การต่อต้านการทุจริต (๒) การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและพัฒนาระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส การทุจริตที่มีประสิทธิภาพ (๓) การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ในการดำเนินคดีทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (๔) การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ ผลประโยชน์ และ (๕) การพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่
นายชยันต์ ศิริมาศ
นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ของจังหวัดนครสวรรค์ ทุกภาคส่วนต้องดำเนินการร่วมกัน โดยประสานระดมสมองเชื่อมโยงกับกลไกในระดับพื้นที่ เพื่อเร่งการพัฒนาระบบธรรมาภิบาลของชุมชน การรณรงค์จิตสำนึกต้านโกงโดยประชาชนระดับพื้นที่อย่างจริงจัง การพัฒนากลไกการตรวจสอบใน พื้นที่ที่เข้มแข็ง รวมทั้งการกำหนดภาระหน้าที่ของเครือข่ายองค์กรชุมชนที่จำเป็น อาทิ การร่วมตรวจสอบ ความโปร่งใสของโครงการระดับพื้นที่ และการแจ้งเบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ยังต้องหารือ ในการประสานงานกลไกภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมูลนิธิฯ ที่มีเจตนาและเป้าหมายในการทำงานที่ สอดคล้องต่อการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบผ่านการบูรณาการเครือข่ายการมีส่วนร่วม ให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
นายวิชัย นะสุวรรณโณ
นายวิชัย นะสุวรรณโณ ผู้อำนวยการ พอช. ภาคเหนือ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ ได้ขับเคลื่อนงานฯ จำนวน 19 ตำบล ในการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ สภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายชุมชนต้องมีความเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ของแนวทางกิจกรรมการปฏิรูปประเทศที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ในการสนับสนุนบทบาทเครือข่ายองค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชน และกลุ่มชุมชนแกนนำฯ ควบคู่ไปกับ การบูรณาการการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่องค์การสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ ได้ดำเนินการให้มี ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนประโยชน์อื่นที่ได้รับ กิจกรรมการร่วมต่อต้านการทุจริตจะเป็นผลประโยชน์อันพึงได้ของ ประชาชน และชาวชุมชนเอง จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้อาจรวมถึงการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนที่เหมาะสม เพื่อเร่งประสาน การดำเนินงานตามบทบาทของเครือข่ายที่มีองค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชน และประชาชนเป็นแกนนำ โดยอาจพิจารณาการคัดสรรโครงการหรือมาตรการที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการข่ายการทำงาน กิจกรรมเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสาธารณะในครอบครองของรัฐ รวมทั้งข้อมูลงบประมาณและค่าใช้จ่ายให้สาธารณะชนทราบ การมีระบบข้อตกลงคุณธรรม การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ สำหรับโครงการในระดับพื้นที่อย่างทั่วถึง เพื่อเสริมสร้างและปกป้องผลประโยชน์ของชุมชน
ในปี 2565 จังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดเป้าหมายนำร่องในการขับเคลื่อนงานการต่อต้านและป้องกันการทุจริตในภาครัฐ มีวัตถุประสงค์สำคัญไว้ 2 ประการ คือ 1. การขับเคลื่อนเพื่อสร้างวัฒนธรรมสุจริตให้เกิดเป็นวาระร่วมกันในระดับจังหวัด และ 2. การพัฒนาและเสริมสร้างให้เกิดชุมชนสุจริตระดับตำบล มีเป้าหมายทั้งสิ้น 19 ตำบล กระจายครบทุกอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ส่วนในการทำงาน ได้วางกรอบการทำงาน ไว้ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 คือ ป้องกัน : มุ่งเน้นในการสร้างจิตสำนึกในการสร้างวัฒนธรรมสุจริตให้กับกลุ่มเป้าหมาย มุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อจะได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีต่อไป มิติที่ ที่ 2 คือ ป้องปราม : มุ่งเน้นให้เกิดเครือข่ายสร้างวัฒนธรรมสุจริตและเฝ้าระวังการป้องกันการทุจริตทั้งในระดับตำบล อำเภอและระดับจังหวัด มิติที่ 3 คือ ปราบปราม : มุ่งเน้นไปที่การกลไกชี้เบาะแสและร้องเรียนผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในกรณีที่พบสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร มิติที่ 4 คือ ประชาสัมพันธ์ : มุ่งเน้นไปที่การสร้างการรับรู้ของสาธารณะ รณรงค์สร้างกระแสเพื่อให้ประชาชนตระหนัก เข้ามาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมสุจริตและเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังในแต่ละพื้นที่