วันที่ 29 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบึงกาสาม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นำโดย นายยุทธพงษ์ เขื่อนเมือง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก และเจ้าหน้าที่ ร่วมกับนายธนชัย อาจหาญ เลขานุการปลัด พม. หน่วยงานในสังกัด ONE HOME และหัวหน้าส่วนพร้อมเจ้าหน้าที่ 5 หน่วยงาน ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัดปทุมธานี
ได้จัดประชุมเพื่อออกแบบและวางแผนปฏิบัติการศูนย์เรียนรู้ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล ตามนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ และนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ เพื่อให้ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลเป็นหน่วยบริการและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในระดับพื้นที่ทุกเรื่องครบจบที่ตำบล ตามภารกิจของกระทรวงฯ
นายทองสุข สีสิด กำนันตำบลหนองเสือ กล่าวต้อนรับและกล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมที่มีความสำคัญในการจัดตั้งเพื่อให้ตำบล หรือชุมชนมีการจัดการตนเอง โดยเป็นเจ้าของปัญหาเพื่อนำไปสู่ TPMAP ที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานเพื่อกำหนดทิศทางของพื้นที่ต่อไป
นายธนชัย อาจหาญ เลขานุการปลัด พม. กล่าวว่า ปฏิบัติการที่จะดำเนินการเพื่อจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลบึงกาสาม จำนวนกลุ่มเปราะบาง 587 คน โดยมีขั้นตอนดำเนินการ 7 กิจกรรม 3 เรื่อง มีองค์ประกอบดังนี้ 1.การประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง 2.สถานที่จัดตั้งศูนย์ 3.คณะทำงาน พร้อมเสนอรายชื่อแต่งตั้ง โดยผู้ว่าราชการจังหวัด 4.เปิดรับคำปรึกษา/รับเรื่องร้องทุกข์ 5.แผนกิจกรรมแต่ละวัน/แผนพัฒนาศักยภาพ/เครื่องมือ ระบบ IT 6.เปิดศูนย์ 7.กลั่นกรองรายชื่อกลุ่มเปราะบาง/สมุดพกครอบครัว/วิเคราะห์แผนพัฒนา/ 8.การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนกลุ่มเปราะบาง/บุคคลทั่วไป 9.ระบบรายงานผู้เดือดร้อน/การคีย์ข้อมูล 10.สรุปบทเรียน 11.จัดทำแผนงาน3 และ 5 ปี ในการดำเนินงาน เสนอสู่ข้อบัญญัติท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นไปที่ 5 มิติหลัก ได้แก่ สวัสดิการชุมชน การศึกษา ที่อยู่อาศัย สุขภาพ รายได้/อาชีพ
หลังจากนั้น ได้ชวนคิดชวนทำ กับความคาดหวังสิ่งที่คนตำบลบึงกาสาม อยากเห็นเมื่อมี ศูนย์ช่วยเหลือทางสังคมตำบล ทั้งนี้ศูนย์ช่วยเหลือทางสังคมตำบลซึ่งจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้