พอช. : วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ประชุมหารือแผนบูรณาการด้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประจำปีงบประมาณ 2565 และติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ที่ให้ขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนบูรณาการฯ ดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงาน ป.ป.ช. ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน ผู้บริหาร สถาบันพัฒนาองต์กรชุมชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มเเข็ง และสำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เข้าร่วมประชุม จำนวน 20 คน ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และ การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์(ระบบ ZOOM)
นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวต้อนรับผู้แทนจากหน่วยงาน และกล่าวแสดงความยินดีที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้มีบทบาทภารกิจหนุนเสริมขับเคลื่อนงานป้องกันและต่อต้านการทุจริต โดยประสานความร่วมมือ และทำงานร่วมกับหน่วยงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่หนุนเสริมบูรณาการและเชื่อมโยงการทำงาน ในการบูรณาการด้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมีภาคประชาชนเป็นส่วนสำคัญเป็นแรงผลักดัน ขับเคลื่อนปฏิบัติการป้องกันและต่อต้านการทุจริตในระดับพื้นที่
ด้านนายแก้ว สังข์ชู ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน กล่าวว่า ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนเป็นเจ้าของ และเป็นผู้ดำเนินการ อีกทั้งเป็นเรื่องสำคัญที่ พอช. ควรให้การหนุนเสริม รวมถึงสนับสนุนกระบวนการต่างๆ หรือสร้างวัฒนธรรมองค์กรธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีเครื่องมือ แผนการดำเนินงาน ที่จะเป็นแนวทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ในการประชุมดังกล่าว สถาบันพัฒนาองค์รชุมชน ได้นำเสนอผลการดำเนินงานารขับเคลื่อนงานด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ผ่านมา ดังนี้
1. แนวทางการทำงาน / บูรณาการของสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีระบบการติดตาม รายงานผลทุกไตรมาส เสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ติดตามแผนปฏิรูป , มีรูปแบบการรายงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรายงานความก้าวหน้าของหน่วยงานจากในระบบโปรแกรม , ลงพื้นที่ติดตาม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่ รวมไปถึงระบบการประเมินผล ITA แบบออนไลน์ รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลพื้นที่ ร่วมกับจังหวัด และเครือข่าย ทำให้เกิดการรวบรวมผลการดำเนินงานจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งต่อยอด เผยแพร่สื่อสารสาธารณะให้รับทราบ และเปิดศูนย์การเฝ้าระวังแห่งชาติ / แจ้งข่าวสาร ประชาชนได้รับข่าวสาร หรือร้องเรียนทันที โดยการเฝ้าระวังและให้ความรู้ คำแนะนำแก่ประชาชน
2. แนวทางการทำงาน / บูรณาการของ พอช. ซึ่งมีระบบและกลไกการทำงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 – 2565 ในการหนุนเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการหนุนเสริมติดตาม และทำงานร่วมกับพื้นที่และผู้นำชุมชนใน 5 ภาค ทั้ง 77จังหวัด รวมถึงเข้าไปมีส่วนร่วมประสานความร่วมมือ เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมสร้างจิตสำนึกประชนในพื้นที่/จัดทำชุดความรู้ รวมทั้งสร้างระบบพื้นที่เปิดเผยโปร่งใส สร้างธรรมาภิบาลชุมชน ปฏิบัติการทุจริตโดยประชาชนเป็นผู้แจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนให้หน่วยงานรับรู้ ตลอดจนมีการจัดตั้งกลไกคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ และมีพื้นที่ปฏิบัติการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดและในระดับตำบล ปี 2564 – 2565 เป็นพื้นที่นำร่องปฏิบัติการขับเคลื่อนงานในส่วนนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ในช่วงท้าย ได้มีการแสดงความคิดเห็นและสร้างแนวทางการทำงาน และบูรณาการร่วมกนระหว่าง 2 หน่วยงาน โดยมีแนวทางที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานต่อไป ดังนี้ 1) ให้มีกลไกในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงประสานการทำงาน ทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด เปิดเผยข้อมูลที่รับงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในพื้นที่อย่างเปิดเผยโปร่งใส พื้นที่สามารถแสดงเจตนารมณ์ที่เด่นชัดในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต ขยายผลไปยังตำบลอื่น ๆ ให้ครอบคุลม โดยเริ่มจากการสร้างความเข้าใจ รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง 2) รวบรวมปัญหาร่วมในพื้นที่ ที่ใช้จากการประเมินผล ITA นำไปสู่การแก้ปัญหาในระดับจังหวัดหรือตำบล ต่อไป 3) ให้มีหน่วยงานร่วมจากส่วนกลาง ช่วยหนุนเสริมการขับเคลื่อนป้องกันและปราบปรามการทุจริตในพื้นที่ สร้างแผนปฏิบัติการ หรือแนวทางการทำงานร่วมกับพื้นที่อย่างเข้มข้น 4)ให้มีการผลักดันและหนุนเสริมให้ภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมต่อกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตลอดจนให้เกิดการบูรณาการทำงานในพื้นที่ โดยพัฒนาจากสมาชิกแกนนำชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ร่วมกัน 5) ส่งเสริมการบริหารจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องขององค์กร ที่จะส่งผลต่อการประเมินผล และการนำข้อมูลต่าง ๆ ไปใช้ดำเนินงานสำหรับพื้นที่หรือหน่วยงาน และ 6) ให้มีระบบการทำงานแบบลักษณะยืดหยุ่น ส่งเสริมการบริหารจัดการองค์กรที่ดี พร้อมทั้งช่วยหนุนเสริมให้พื้นที่ให้มีความสามารถในการขับเคลื่อนงานได้ด้วยตนเอง เพื่อให้การดำเนินงานทั้งในระดับพื้นที่ ส่่วนกลาง ตลอดจนเชื่อมประสานการทำงานกับหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างตรงจุด