วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวนริศา อดิเทพวรพันธุ์ ประจำสำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายปฎิภาณ จุมผา รักษาการผู้อำนวยการ พอช. นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. และนายสยาม นนท์คำจันทร์ โฆษก พอช. จัดเวทีสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย และแลกเปลี่ยนประเด็นความห่วงกังวลของพี่น้องประชาชนชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐในที่ดินการรถไฟ โดยมีผู้แทนองค์กรชุมชนและเครือข่ายต่างๆ ได้แก่ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่าย ชมฟ. เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม เครือข่ายเมืองราชบุรี เครือข่ายสันรางภาคใต้ เครือข่ายริมรางภาคเหนือ เครือข่ายพัฒนาสิทธิชุมชนภาคใต้ เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ เข้าร่วมกว่า 40 คน ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ชั้น 1 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)
นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. กล่าวว่า วันนี้อยากมานั่งรับฟังปัญหาและผลกระทบจริงๆ ในพื้นที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีแนวทางในการทำงานดังนี้ 1) นโยบายการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบในที่ดินการรถไฟฯ มีที่อยู่อาศัยในรูปแบบที่หลากหลาย มีความหยืดหยุ่นตามศักยภาพของชุมชน โดยร่วมดำเนินการผ่าน การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือหน่วยอื่นๆ 2) ดำเนินการในรูปแบบการแก้ไข มีลักษณะที่หลากหลาย เช่น การเช่าระยะยาวหรือเช่าซื้อ และโครงการบ้านมั่นคง ผ่านนิติบุคคล ฝ่ายสหกรณ์เคหสถานและหน่วยอื่นๆ 3) เน้นชุมชนเป็นแกนหลักในการร่วมออกแบบที่อยู่อาศัย ให้สัมพันธ์กับการอยู่อาศัย รายได้ ค่าใช้จ่ายและอาชีพ 4) บูรณาการการทำงานทั้งภายในกระทรวง พม. และภายนอก เช่น การเคหะแห่งชาติ ธอส. หรือ ภาคเอกชนฯลฯ
นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์
นาวาตรีสุธรรม ย้ำว่า “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่หลากหลาย และรัฐบาลให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมกับพี่น้องชุมชน อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังคงต้องประสานความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไป”
นางนุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ร่วมกับภาคประชาชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องด้วยข้อกังวลต่อนโยบายของ รมว.พม. ในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้อง และมีความกังวลในการดำเนินการสร้างที่อยู่อาศัยที่จะให้คนจนที่อยู่แนวราบขึ้นบนตึกหรือแฟลต และไม่ได้มีการออกแบบแผนการดำเนินการที่มาจากความเดือดร้อนและความต้องการของพี่น้องคนจน
นางนุชนารถ แท่นทอง
“การสร้างที่อยู่อาศัยของรัฐบาล จะต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นแฟลตหรือพื้นที่ราบก็ตาม และดูความสอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่และความต้องการของพี่น้องประชาชน บางครอบครัวทำอาชีพค้าขายต้องการพื้นที่ในการประกอบอาชีพ หากให้ขึ้นแฟลตก็ไม่สามารถที่จะประกอบอาหารหรือทำอาชีพได้อย่างสะดวก คนจนมีหัวใจ อยากมีบ้านที่มั่นคง และมาจากการมีส่วนร่วมของพวกเรา”
นางกาญจนา ศรีสำอางค์ จากชุมชนพญาเสือ จังหวัดพิษณุโลก จากเครือข่ายริมรางภาคเหนือ กล่าวเสริมว่า ตอนนี้พี่น้องจังหวัดพิษณุโลกเดือดร้อนทั้งเมือง รวม 4 ชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากที่ดินรถไฟ พวกเรามีอาชีพทำมาค้าขาย มีทั้งคนแก่คนชรา ถ้าจะให้ขึ้นไปอยู่บนที่สูงหรือแฟลต พวกเราอยู่ไม่ได้ อยากจะให้ลงพื้นที่ไปสำรวจความต้องการหรือฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อนที่จะมีการทำที่อยู่อาศัย ไปดูความเป็นอยู่ของพวกเราว่าเป็นอย่างไร
ด้านนายปฏิภาณ จุมผา รักษาการ ผอ.พอช. กล่าวว่า รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสัคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ลงพื้นที่รับฟังข้อคิดเห็น เครือข่ายภาคประชาชน พร้อมสร้างความเข้าใจชุมชนที่ได้รับผลกระทบในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามนโยบายการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 10 พื้นที่ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร , จังหวัดนครราชสีมา , จังหวัดขอนแก่น , จังหวัดพิษณุโลก , จังหวัดเชียงใหม่ , จังหวัดลำปาง , จังหวัดราชบุรี , จังหวัดสุราษฎร์ธานี , จังหวัดตรัง และจังหวัดสงขลา และได้มีการสำรวจข้อมูลข้อมูล เมื่อเดือน สิงหาคม 2564 ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้ง 5 ภาค พบว่า มีผู้เดือนร้อนที่อาศัยอยู่ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 36 จังหวัด 394 ชุมชน 38,907 ครัวเรือน แบ่งเป็น 1) ภาคเหนือ จำนวน 8 จังหวัด 77 ชุมชน 6,883 หลังคาเรือน 2) ภาคกลางและตะวันตก จำนวน 9 จังหวัด 60 ชุมชน 2,761 หลังคาเรือน 3) ภาคใต้ จำนวน 10 จังหวัด 157 ชุมชน 20,310 หลังคาเรือน 4) ภาคกรุงเทพฯและตะวันออก จำนวน 4 จังหวัด 44 ชุมชน 5,994 หลังคาเรือน และ 5) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 จังหวัด 56 ชุมชน 3,899 หลังคาเรือน ซึ่งผู้เดือดร้อนที่กระจายอยู่เกือบครอบคลุมทั่วประเทศนั้น พอช.ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการโดยคัดเลือกจากพื้นที่จังหวัดที่มีความเดือดร้อนเร่งด่วนต้องรีบแก้ไขปัญหา และชุมชนมีความพร้อมจะแก้ไขปัญหาในปี 2564
นายปฏิภาณ จุมผา
“ปัจจุบัน พอช. ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 7 จังหวัด 38 ชุมชน 7,383 หลังคาเรือน มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบในที่ดินการรถไฟฯ มีที่อยู่อาศัยในรูปแบบที่หลากหลาย มีความหยืดหยุ่นตามศักยภาพของชุมชน โดยร่วมดำเนินการผ่านการเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รวมถึงรูปแบบการแก้ไข มีลักษณะที่หลากหลาย เช่น การเช่าระยะยาวหรือเช่าซื้อ และโครงการบ้านมั่นคง ผ่านนิติบุคคล และสหกรณ์เคหสถาน”
จากการหารือและแลกเปลี่ยน เคือข่ายยภาคประชาชนได้มีข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ดังนี้ 1. ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ขอให้ชุมชนมีส่วนร่วมออกแบบและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา 2. มีรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย ที่คำนึงถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ อาชีพ รายได้ การทำมาหากิน กลุ่มเปราะบาง และความต้องการ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยในแนวราบเป็นลำดับแรก 3. การใช้ที่ดินการรถไฟฯ ที่ดินของหน่วยงานรัฐ เพื่อรองรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้เดือดร้อน โดยไม่ได้มุ่งเน้นการแสวงหาผลกำไร แต่คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้เดือดร้อนคนจน 4. ขอให้ขยายแนวทางตามมติบอร์ดการรถไฟฯ ปี 2543 ให้ครอบคลุมผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั้งประเทศ 5. ขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้เดือดร้อนที่ชุมชนเป็นแกนหลัก โดยประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยการแถลงข่าวตอบข้อสงสัยแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย 6. ผลักดันให้การแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐ โดยเสนอแผนงานและงบประมาณต่อ ครม. เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ และ 7. ข้อเสนออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามที่ดินการรถไฟฯ ที่ชุมชนยังไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ การติดตามสัญญาเช่าที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ให้มีการกำหนดการประชุมของคณะอนุกรรมการที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ ก่อนวันที่ 8 ธ.ค. 2564 การติดตามการประชุม 4 ฝ่าย (พม. คค. รฟท. และประชาชน) เพื่อคลี่คลายปัญหาการดำเนินคดี และการเปิดเผยบันทึกความร่วมมือระหว่าง กระทรวง พม. การเคหะแห่งชาติ(กคช.) และการรถไฟฯ เนื่องจากกังวลข้อเรียกร้องจะไม่ได้รับการตอบสนอง