อำนาจเจริญ / เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564 หารือ โมเดลแก้จน “ห่วงโซ่การผลิตและคุณค่าทางสมุนไพร” บ้านโนนธาตุ ต.พนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ โดยมี นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รอง ผอ.พอช., น.ส.จันทนา เบ็ญจทรัพย์ ผช.ผอ., คณะอาจารย์วิจัยแก้จนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, นายอำเภอพนา, ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.อำนาจเจริญ, ประธานบริษัทประชารัฐรักสามัคคี อำนาจเจริญ, วิสาหกิจเพื่อสังคม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ, เกษตรอำเภอชานุมาน, เกษตรอำเภอพนา, ผู้แทน พมจ.อำนาจเจริญ, หอการค้าจังหวัดอำนาจเจริญ, YEC อำนาจเจริญ, เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน นายก อบต.พนา, ผู้แทนจากโรงพยาบาลลืออำนาจ รอง ผอ.โรงพยาบาลพนา และสมาชิกเครือข่ายสมุนไพรบ้านโนนธาตุ
จากที่ ม.อุบลราชธานี ที่ได้สำรวจข้อมูลจากโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในอำเภอพนา มีกลุ่มเป้าหมายจากการสำรวจ จำนวน 199 ครัวเรือน เพื่อยกระดับสมุนไพร ขึ้นโต๊ะอาหาร กินได้ และให้ขายผลเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ผลิต-ใช้-หมุนเวียน สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างตลาด ขยายขนาดและห่วงโซ่การผลิตให้กับสมุนไพร อำนาจเจริญเมืองธรรมเกษตร
จาก world cafe’ สู่แผนการสร้างคุณค่า (value proposition canvas) ทุกภาคส่วนออกแบบ “อำนาจเจริญเมืองสมุนไพร” สู่โมเดลแก้จน ห่วงโซ่การผลิตและคุณค่าสมุนไพร อำนาจเจริญก่อน (Amnatcharoen first) คือการทำให้สมุนไพรอยู่ในวิถีชีวิตคนอำนาจเจริญ ทั้งการกิน การใช้ และเพื่อสุขภาพ สร้างรูปธรรมของ “อำนาจเจริญเมืองธรรมเกษตร”
อ.พนา จ.อำนาจเจริญ มีแปลงสมุนไพรใหญ่อยู่ 2 แปลง ติดปัญหาเรื่องการตลาด หากมีแปลงจำหน่ายแหล่งแปรรูป หรือสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้หลากหลายยิ่งขึ้น ก็จะสามารถช่วยชาวบ้านได้เยอะ เพราะชาวบ้านที่นี่มีความพร้อม มีแปลง มีแหล่งเรียนรู้ และมีหน่วยงานต่าง ๆ มาสนับสนุนสมุนไพรในพื้นที่เยอะ และอ.พนา เป็นพื้นที่ดอนเหมาะกับการปลูกสมุนไพรที่มีคุณภาพอยู่แล้ว และสินค้าของกลุ่มสมุนไพรบ้านโนนธาตุ มีหลากหลาย เช่น สบู่ เซรั่ม ครีมกันแดด ซึ่งเริ่มทำมาได้ยังไม่นาน สรรพคุณ ของสบู่ มีกลิ่นหอม ทำให้ผิวสดชื่น เปล่งปลั่งอีกด้วย
ในวันนี้เรามีคนที่เข้ามาร่วมองค์ประกอบค่อนข้างครบ เรื่องกลไกคงไม่ต้องกังวล เราควรจะมีแผนรองรับ การขับเคลื่อนเรื่องสมุนไพร โมเดลแก้จน สร้างห่วงโซ่การผลิตและคุณค่าสมุนไพร อยู่อย่างน้อย 2 เรื่อง คือ 1.การสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุม 2.ใช้การขับเคลื่อนสมุนไพรมาช่วยเหลือคนจน คนเปราะบาง จากการสำรวจข้อมูลวิจัยแก้จนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำที่เรามี จำนวน 3,663 ครัวเรือน ทั้งจังหวัดอำนาจเจริญ และเรื่องอื่น ๆ ที่จะมีเพิ่มเติมในอนาคต ก็จะเป็นทิศทางที่ดีในการขับเคลื่อนเมืองธรรมเกษตร
สุดท้าย หากสามารถกำหนดเป็นยุทธศาตร์ด้านสมุนไพรจังหวัดอำนาจเจริญ ให้กับขบวนองค์กรชุมชน ที่มีสภาองค์กรชุมชนและกองทุนสวัสดิการเดินนำไปพร้อมกัน และสามารถดูแลคนจนในจังหวัดได้ พอช. ก็ยินดีให้การสนับสนุน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนเช่นเคย
Cr.บัฟ PharoaH