สุราษฎร์ธานี / เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ณ ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารตำบลท่าเคย หมู่ที่ 6 ตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายศักดาพร รัตนสุภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานีและภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ติดตามโครงการค่าใช้จ่ายแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เพื่อส่งเสริมสร้างองค์ความรู้ ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาและยกระดับเกษตรกรไปสู่นักธุรกิจเกษตร รวมทั้งการบริหารจัดการองค์กรสู่ความยั่งยืนเกษตร
นายศักดาพร รัตนสุภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ต.ท่าเคย อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎรณ์ธานี เป็นแหล่งผลิตกะปิที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นวิถีชาวบ้าน ที่สำคัญหลัก ๆ ก็คือการทำกะปิ โดยในพื้นที่แห่งนี้นิยมทำกะปิขัดน้ำ ซึ่งเป็นวิถีของชุมชน มีภูมิปัญญาโดดเด่นด้านการผลิตกะปิ หรือที่เรียกว่าเคยขัดน้ำเป็นการนำกะปิ (เคย) โดยนำเคยมาอัดแน่นในขวดโหล ปิดทับด้วยใบไม้แล้วใช้ไม้ไผ่เหลาบาง ๆ ขัดปิดทับด้านบน หมักทิ้งไว้ประมาณ 3 – 6 เดือน จะมีน้ำขึ้นมาด้านบน เรียกน้ำเคย มีรสชาติคล้ายน้ำปลา แต่จะหอมและอร่อยกว่า สามารถนำไปปรุงอาหารได้ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของตำบลท่าเคย รวมถึงการทำประมงพื้นบ้าน สิ่งเหล่านี้ทางจังหวัดได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้นำไปเป็นแนวคิดไปต่อยอดฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ชุมชน ด้วยการพัฒนาทักษะความรู้จากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้เสริม เพิ่มความมั่งคงให้กับสินค้าประเภทอาหารและขยายช่องทางการตลาด รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายบูรณาการทำงานในชุมชนร่วมกันให้เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพัฒนากะปิด้วยการแปรรูปเป็นกะปิผงและเป็นซอสกะปิ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์อื่นๆเช่นน้ำพริก น้ำพริกเผากุ้งเป็นผลิตภัณฑ์จากทะเลเกือบทั้งหมด กุ้งฝอย กุ้งตัวใหญ่ กุ้งหวาน ถ้าพัฒนาในขั้นต่อไป ต้องนำเข้ากระบวนการพัฒนาเชิงคุณภาพ ต้อง มี อย. และส่งต่อของมาตรฐาน มสช.ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น หากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำถูกหลักอนามัย ที่มีคุณภาพ และที่สำคัญทางมหาวิทยาลัยราชภัฏมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงของกลุ่ม ส่วนการผลิตมีพลังงานจังหวัดในส่วนที่เป็นเตาและตู้อบ ซึ่งจะทำให้กระบวนผลิตมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นและสามารถผลิตได้ครั้งมาก ๆ ได้
ด้านนางวัณสุรีย์ สุวรรณรัตน์ ประธานวิสาหกิจชุมชุนแปรรูปตำบลท่าเคย กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชุนแปรรูปตำบลท่าเคย ได้มีการรวมกลุ่มชาวบ้านที่ทำกะปิโดยปัจจุบันมีสมาชิก 51 ราย ซึ่งการทำกะปิเคยหรือเคยขัดน้ำนั้น ได้ทำกันมาหลายชั่วอายุคน นับกว่า 200 ปี กะปิที่นี่จะเป็นกะปิที่มีลักษณะมีจุดเด่นเป็นกุ้งที่ได้มาจากปากน้ำท่าเคย กุ้งตัวโตๆ เนื้อเหนียวแน่น ทำกะปิแล้วกะปิก็จะหอมอร่อย เหมาะที่จะเอามาปรุงอาหาร ทำเป็นแกงหรือทำน้ำพริก พื้นที่นี่จะนำกะปิไปใส่ในโอ่งปิดด้วยใบตาลแล้วขัดด้วยไม้ไผ่ ทิ้งไว้นาน ยิ่งนานยิ่งอร่อย ส่วนจะกักน้ำไว้ 5 – 6 เดือน จึงนำมาจำหน่าย เมื่อน้ำในเนื้อกะปิขึ้นมาอยู่ในปากโอ่งหมดแล้ว จากนั้นก็จะคว่ำโอ่งเอาน้ำออก น้ำนั้นคือน้ำเคยเป็นน้ำเคยที่อร่อยมาก เพื่อนำไปปรุงอาหาร และทางวิสาหกิจอยากจะอนุรักษ์กะปิท่าเคยเอาไว้ เพื่อจะเป็นอาชีพของชาวบ้านในละแวกนี้ให้รุ่นสู่รุ่นต่อไป
