ขอนแก่น / 11 กันยายน 2564 เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดประชุมสมัชชาสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “สวัสดิการถ้วนหน้า ร่วมพลังฝ่าโควิด 19” ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ZOOM METTING โดยมีสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนทั้งระดับตำบล จังหวัด แกนนำขบวนองค์กรชุมชนจังหวัด 20 จังหวัดภาคอีสาน, ตัวแทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายแก้ว สังข์ชู ประธานเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค, นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันฯ เข้าร่วมประชุม เพื่อระดมความเห็นการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2565-2569 การติดตามสถานการณ์สวัสดิการชุมชน 5 ภูมิภาค บทบาทและแนวทางการสนับสนุนสวัสดิการชุมขนของท้องถิ่น โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน มาปาฐกถาพิเศษ “การลดความเหลื่อมล้ำของชุมชนโดยกองทุนสวัสดิการชุมชน”
ดร.สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ดร.สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบข้อเสนอของเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน ระบุว่า การผลักดันนโยบาย 3 ขา รัฐ ชุมชน ท้องถิ่น จะช่วยผลักดันให้เกิดการสมทบอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลต้องอย่าปล่อยปละละเลย ต้องดูแลระบบกองทุนต่างๆ ที่ตั้งขึ้น และรัฐบาลต้องสนับสนุนท้องถิ่นอย่างจริงจัง มีระบบตัวชี้วัดที่ระบุบทบาทท้องถิ่นชัดเจน ไม่ใช่เอาคนป่วย มาช่วยคนไข้ ปัญหาที่ผ่านมาส่วนกลางไม่จริงใจให้ท้องถิ่นแข็งแรง การกระจายอำนาจ กระจายอำนาจหน้าที่ภารกิจแต่หลายเรื่องไม่ให้เงิน หรือให้เงินมาแต่ก็ตามมาใช้ ท้องถิ่นเองก็ลำบาก ตนมองว่าต้องอัดที่ต้นทางให้รัฐสนับสนุนให้ท้องถิ่นให้มากกว่าที่เป็นอยู่
ท้องถิ่นถูกดึงอำนาจกลับ หลังการยึดอำนาจเกิดกลับหันหลังสู่ส่วนกลางหมด ก่อนที่ทำให้ท้องถิ่นสนับสนุนกองทุนฯ แต่ต้องหนุนท้องถิ่นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วย แต่ข้อเสียของส่วนกลางและท้องถิ่น คือนโยบายที่จะดำเนินการ สัมพันธ์กับการเมืองที่เลือกแจกแบบได้คะแนน แบบจัดงบตรงไหนต้องได้เปอร์เซ็น ต้องมีระบบอื่น ต้องแก้ให้เกิดแรงจูงใจให้เขาจัดงบตรงให้ชาวบ้าน
นายวิรัตน์ สุขกุล ประธานเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการระดมความเห็นจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายวิรัตน์ สุขกุล ประธานเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้สรุปมติการหารือ ในด้านข้อเสนอเชิงนโยบาย เครือข่ายสวัสดิการชุมชนฯ เห็นร่วมกันให้ผลักดันโดยระบุว่า 1.ให้ปลดล็อคสมาชิกครบ 3 รอบให้ได้รับงบสมทบปกติ 2.ให้ปรับเกณฑ์การสมทบให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และบริบทของพื้นที่
3.ให้รัฐบาลสนับสนุน พรบ.ส่งเสริมสวัสดิการชุมชน พ.ศ….. และพรบ.สภาองค์กรชุมชน แก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 4.ให้กรมปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดตัวชี้วัด การประเมินประสิทธิภาพของท้องถิ่นที่ระบุเรื่องการสนับสนุนงบประมาณให้กับองค์กรสวัสดิการชุมชนให้อยู่ในแผนและข้อบัญญัติท้องถิ่น 5.ให้รัฐบาลส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นองค์กรกลางในการจัดสวัสดิการสังคมให้กับคนในชุมชน 6.ให้รับาลสนับสนุนกลไกและงบพัฒนากองทุนให้เกิดความยั่งยืน และ 7.ให้มหาเถระสมาคม มีมติสั่งการให้วัดทุกแห่งสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยให้คณะทำงานฯ ทำหนังสือถึงมหาเถรสมาคมเพื่อสนับสนุนกองทุนฯ
ในด้านข้อเสนอต่อกองทุนสวัสดิการชุมชนเอง 1.ให้กองทุนสวัสดิการชุมชนนำแผนของกองทุนสวัสดิการเข้าไปบรรจุในแผน ข้อบัญญัติของท้องถิ่น และจังหวัด 2.ให้กองทุนสวัสดิการชุมชนปรับระเบียบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น โรคอุบัติใหม่ ว่าด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร กองทุนสวัสิการชุมชนตำบลทุกกองทุน ต้องสร้างพื้นที่แหล่งอาหารชุมชนท้องถิ่นอย่างน้อยพื้นที่ละ 1 แห่ง 3.ให้ร่วมมือสร้างเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัด ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านสังคมจังหวัด และ 4.ให้แต่ละกองทุนเตรียมบุคคลากรในการทำงานผ่านระบบโปรแกรมการบริหารจัดการกองทุนที่ดี มีธรรมาภิบาล
เฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช.(ด้านขวา)
ด้านนางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า จากผลการสอบทานกองทุนฯกว่า 1,900 กองทุน พบว่ามีกองทุนอยู่ในระดับดีและซี รวมทั้งกองทุนฟื้นฟูฯ กว่า 30 เปอร์เซ็น ขอเสนอให้กองทุนฯ พิจารณาปรับเกณฑ์ของกองทุนฯแต่ละแห่งให้เป็นเครื่องมือให้กองทุนที่ต้องพัฒนาได้เดินต่อได้ และทำอย่างไรที่กองทุนฯ จะมีแผนด้านสังคม ระยะ 5 ปี ที่สามารถดูคนทุกกลุ่มช่วงวัยได้ โดยอิงฐานข้อมูล TPMAP
ส่วนข้อเสนอต่อเครือข่ายระดับภาค ตนเสนอว่า เครือข่ายระดับภาคต้องทำให้เกิดเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัดอย่างไร การหนุนเสริมเสริมความเขิมแข็งกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัด สร้างคนทำงานในระดับจังหวัด กระจายให้มีคนทำงานหลากหลาย เป็นกลุ่มเป็นโซนอำเภอ เพราะโจทย์ใหญ่คือเรื่องการพัฒนาคุณภาพกองทุนในภาคอีสานให้มีการบริหารแบบมีธรรมาภิบาล การรายงานปีละ2ครั้งต่อสมาชิก ต่อท้องถิ่น ต่อผู้ว่าฯ นี่เป็นโจทย์ท้าทายที่พี่น้องเครือข่ายต้องทำงานสร้างเพื่อนภาคี รัฐ เอกชน สร้างนวัตกรรมสวัสดิการชุมชนใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม การจัดสมัชชาสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนี้ จะนำผลการหารือข้อเสนอในด้านต่างๆ เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาในระดับประเทศ เพื่อสังเคราะห์เสนอต่อฝ่ายนโยบายต่อไป