เครือข่ายสวัสดิการภาคกลางและตะวันตกร่วมจัดงานสมัชชา “คนสวัสดิการจูงมือเพื่อนพ้องน้องพี่ พลิกวิถีชุมชนภาคกลาง–ตะวันตก สู่ความยั่งยืนภายใต้สถานการณ์โควิด” ผ่านระบบ Zoom Meeting เป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้พื้นที่รูปธรรมนำไปสู่การขับเคลื่อนระดับนโยบาย-การเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสสำหรับการเติบโตของกองทุนสวัสดิการชุมชนอย่างมีคุณภาพ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ร่วมเวที แนะชูหลักประกันความมั่นคงชุมชนร่วมดูแลกันต้องทำงานเข้มข้น ขยายแนวร่วมเพื่อสร้างพลังความเข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 เครือข่ายสวัสดิการภาคกลางและตะวันตกร่วมจัดงานสมัชชา “คนสวัสดิการจูงมือเพื่อนพ้องน้องพี่ พลิกวิถีชุมชนภาคกลาง-ตะวันตก สู่ความยั่งยืนภายใต้สถานการณ์โควิด” ผ่านระบบ Zoom Meeting ตามมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยมีผู้แทนและสมาชิกกองทุนสวัสดิการภาคกลางและตะวันตก ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงานจำนวน 230 คน นอกจากนี้ยังมีนางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ คณะกรรมาธิการงบประมาณปี 2565 และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีครั้งนี้
จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนแล้ว 740 กองทุน
นายศิวโรฒ จิตนิยม ผู้แทนคณะทำงานสวัสดิการภาคกลางและตะวันตก กล่าวรายงานว่า เครือข่ายภาคกลางและตะวันตก 13 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีกองทุนสวัสดิการขุมชนร่วมกันขับเคลื่อนงานทั้งสิ้นจำนวน 740 กองทุน ที่ผ่านมามีการหนุนเสริมโดยคณะทำงานของแต่ละจังหวัด ประสานการทำงานกับกองทุนในพื้นที่ ในการพัฒนาคุณภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทุน โดยมีเป้าหมายหลักให้กองทุนสวัสดิการชุมชนสามารถเป็นเครื่อมือในการดูแลพี่น้องตำบล ลดความเหลื่อมล้ำ และลดช่องว่างทางสังคมโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตรงตามเจตนารมณ์การก่อเกิดและการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนเมื่อปี 2553
นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่อบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก
นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่อบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก การจัดงานครั้งนี้นับเป็นการเริ่มต้นและต่อยอด เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของการจัดสวัสดิการชุมชนโดยขบวนองค์กรชุมชนด้วยความต่อเนื่องและความตั้งใจที่จะเป็นเจ้าของงานพัฒนา และทำให้งานสวัสดิการถูกยกระดับในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน โดยระบบสวัสดิการสามารถเป็นรูปธรรมความสำเร็จให้เห็นเชิงประจักษ์ สร้างความร่วมมือกับภาคีในทุกระดับ เพราะสวัสดิการสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องปากท้อง ปัญหามลพิษ ทรัพยากร ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ
“พี่น้องต้องมีความเชื่อมั่นในเรื่องสวัสดิการชุมชนว่าสามารถเป็นที่พึ่งในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้มากกว่าแค่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องใช้สวัสดิการให้เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต หรือแม้แต่โรคระบาด โดยร่วมกันสร้างสวัสดิการแบบเชิงรุก มุ่งเน้นสร้างการจัดการตนเอง และสนับสนุนให้สวัสดิการชุมชนมีความเข้มแข็งต่อไป” นายธีรพงศ์กล่าว
นายธนพล ศรีใส ผู้แทนคณะทำงานสวัสดิการภาคกลางและตะวันตก
นายธนพล ศรีใส ผู้แทนคณะทำงานสวัสดิการภาคกลางและตะวันตก รายงานภาพรวมผลการดำเนินงานกองทุนสวัสดิการชุมชนภาคกลางตะวันตก 13 จังหวัด จากพื้นที่เขตการปกครอง 1,128 อปท. มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนแล้ว 740 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 65.77 มีสมาชิกทั้งหมด 477,790 คน ที่มาของเงินกองทุน แบ่งออกเป็นเงินสมทบจากสมาชิก 943,055,444 บาท คิดเป็นร้อยละ 61.65 เงินสมทบจากรัฐบาลผ่าน พอช. 328,187,541 บาทคิดเป็นร้อยละ 21.46 งบประมาณสมทบจากท้องถิ่น 125,858,821 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.23 และอื่นๆ 132,469,377 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.66 โดยมีการจัดสวัสดิการให้สมาชิกและคนในชุมชนแล้วจำนวน 202,428 ครั้ง ส่วนการขับเคลื่อนงานสำคัญในปี 2564 มีการวางแนวทางและการพัฒนาระบบโปรแกรมสวัสดิการชุมชนตำบลภาคกลางตะวันตก เพื่อหนุนเสริมให้กองทุนมีฐานข้อมูลและมีการจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยคณะทำงานและผู้แทนเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนได้ลงพื้นที่ดำเนินการติดตั้งระบบการบริหารจัดการกองทุนแล้วจำนวน 390 กองทุนฯ และมีกองทุนที่ดำเนินการบันทึกปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน จำนวน 330 กองทุน
นโยบายการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนเพื่อความยั่งยืน
นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาเครือข่ายสวัสดิการชุมชน
นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาเครือข่ายสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า สวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากบทบาทของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่เข้าไปมีส่วนช่วยในสถานการณ์โควิด ที่แม้แต่ภาครัฐก็ยังไม่สามารถเท่าทันหรือและรวดเร็วเท่ากับกองทุนที่ได้มีการดำเนินการในพื้นที่ ซึ่งกระบวนการเสนองบประมาณในปี 2565 งานสวัสดิการได้รับความสนใจจากทั้งกรรมาธิการงบประมาณ หน่วยงานต่างๆ สส. และกระทรวง พม. ที่ถึงแม้จะมีข้อท้วงติงบ้าง แต่ก็ให้ความสนใจกองทุนสวัสดิการในเครื่องมือที่จะนำใช้ดูแลผู้คนในชุมชน รวมถึงกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้พยายามให้ท้องถิ่นสามารถสมทบงบประมาณได้
ส่วนภาพรวมการขับเคลื่อนกองทุนในระยะต่อไปนั้น มีพันธกิจสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. เป็นแกนหลักในการจัดสวัสดิการระดับพื้นที่ 2. พัฒนาระบบสวัสดิการให้เป็นทางเลือกในการจัดสวัสดิการสังคม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การมองไปข้างหน้า ทำให้เราต้องร่วมกันวิเคราะห์ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ชุมชนจะช่วยตนเองได้ ช่วยสังคมได้เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต้องทำอย่างไรเป็นโจทย์ที่ต้องร่วมกันคิด
ส่วนในระดับชาติได้ร่วมกันประมวลและกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาในระยะถัดไป 3 เป้าหมาย ได้แก่ 1. คุณภาพ 2.ความร่วมมือการทำงาน 3. นโยบาย โดยมีภารกิจสำคัญ 5 ด้าน เช่น 1.คุณภาพของกองทุนสวัสดิการ 2.การพัฒนากลไกและเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 3.การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม 4. การสร้างความร่วมมือและพัฒนานโยบาย 5.การพัฒนาการสื่อสาร
นายแก้ว สังข์ชู ประธานอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการไม่ได้เป็นเพียงแค่การนำเงินไปแจก แต่ต้องมองความเข้มแข็งเชิงโครงสร้างทั้งระบบ มุ่งเน้นให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเองเป็นหลัก ส่วนการสมทบงบประมาณเป็นเรื่องรอง แต่หน่วยงานเข้ามาหนุนเสริมก็มีความสำคัญโดยเฉพาะ พอช. พม. ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดที่เห็นความสำคัญและเป็นกลไกขับเคลื่อนในระดับจังหวัด
“กองทุนสวัสดิการชุมชนจะยั่งยืนได้นั้น ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างคณะทำงานทั้งในระดับตำบล/จังหวัด/ภาค พัฒนากลไกในทุกระดับให้เป็นเครื่องมือและพัฒนากองทุนในระดับพื้นได้ กลไกต้องมีความเข้าใจในหลักคิด เจตนารมณ์ การบริหารกองทุนยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อพัฒนากองทุนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่าย หน่วยงานภาคีต่างๆ สร้างความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น” นายแก้วกล่าวย้ำ
พื้นที่รูปธรรม 13 กองทุน
การจัดงานสมัชชาครั้งนี้ มีการนำเสนอพื้นที่รูปธรรมกองทุนสวัสดิการชุมชนจำนวน 13 กองทุน ส่วนใหญ่เป็นจัดงบประมาณ เน้นการดูแลช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์โควิด ในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำเจล หน้ากากอนามัยแจกจ่ายคนในตำบล การดูแลผู้กักตัว ผู้ติดเชื้อ เช่น การจัดอาหาร ถุงยังชีพ การบริการรถรับ-ส่ง การจัดทำศูนย์พักคอย ฯลฯ ประกอบด้วย 1.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทองมงคล จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังขนาย จ.กาญจนบุรี 3.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง 4.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา 5.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอำแพง(วันละบาท) จ.สมุทรสาคร 6.กองบุญสวัสดิการวันละ 1 บาทชุมชนตำบลห้วยไผ่ จ.ราชบุรี 7.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองรี จ.ลพบุรี 8.กองบุญสัจจะเงินออมวันละบาทจอมปลวก จ.สมุทรสงคราม 9.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลหาดท่าเสา จ.ชัยนาท 10.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหัวเขา จ.สุพรรณบุรี 11.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองจรเข้ จ.สระบุรี 12.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยลึก (องค์กรสวัสดิการชุมชน) จ.เพชรบุรี และ 13.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตำบลท่างาม จ.สิงห์บุรี
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
ดร.จรรยา กลัดล้อม คณะทำงานสวัสดิการชุมชนภาคกลางและตะวันตก ได้นำเสนอและชวนแลกเปลี่ยน “ทิศทางการขับเคลื่อนงานในปี 2565 ภายใต้การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งได้มีการทบทวนทิศทางการขับเคลื่อนงานปี 2564 กำหนดทิศทางการพัฒนาสวัสดิการชุมชนของภาคกลางและตะวันตก และนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย/ปฏิญาณของเครือข่ายสวัสดิการภาคกลางตะวันตก ดังนี้
ข้อเสนอต่อการดำเนินงานกองทุนสวัสดิการชุมชน มีดังนี้ 1) พัฒนาศักยภาพคณะกรรมการกองทุนฯ ตอกย้ำแนวคิด อุดมการณ์ ของกองทุนสวัสดิการชุมชน 2) ส่งเสริมให้กองทุนฯ ใช้โปรแกรมสวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน 3) ส่งเสริมการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน เพื่อความมั่นคงของกองทุนฯ 4) กองทุนสวัสดิการชุมชนต้องมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือ ต้องรายงานผลการดำเนินงานให้สมาชิกรับทราบ 5) กองทุนสวัสดิการชุมชนต้องมีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยละ 4 ครั้ง 6) พัฒนาศักยภาพ หรือ หาบุคลากรเพื่อช่วยงานกองทุนฯ ด้านเทคโนโลยี 7) ประสานความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนถิ่น เพื่อช่วยงานกองทุนฯ 8) ส่งเสริมให้กองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นทะเบียนกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และทำโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการกองทุนฯ 9) ส่งเสริมให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล รวมตัวกันเป็นเครือข่ายในระดับจังหวัด และ มีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง
ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ส่งผลต่อการดำเนินงานกองทุนฯ จำนวน 8 ข้อ ได้แก่ 1) จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานกองทุนฯ ผ่าน สื่อสิ่งพิมพ์ และ สื่อโทรทัศน์ 2) ผลักดันเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน” เพื่อให้กองทุนฯ มีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น 3) ยกเลิกการสมทบ 3 ครั้งต่อคน แต่สมทบงบประมาณ ให้ทุกคนที่ยังเป็นสมาชิก ทุกปี 4) ยกเลิกหลักเกณฑ์การเพิ่มขึ้นของสมาชิก โดยขอให้ขึ้นอยู่กับบริบทการดำเนินงานของพื้นที่ 5) สนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล 6) สนับสนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ในระดับจังหวัด 7) ให้รัฐออกพันธบัตรรัฐบาล รุ่นกองทุนสวัสดิการชุมชน (หรือออกอะไร/ชื่ออะไรก็ได้ ที่จะมากู้เงินจากกองทุนสวัสดิการชุมชนไปบริหาร ไม่ต่างอะไรกับที่รัฐออกพันธบัตรรัฐบาลมาขอกู้เงินประชาชนทั่วไป) 8) รัฐบาลกำหนดนโยบาย โดยมอบหมายให้ ท้องถิ่น ท้องที่ เข้ามามีส่วนร่วมกับการบริหารงานของกองทุนฯ โดยใช้คำว่า “หุ้นส่วนการพัฒนา” และ 9) รัฐบาลประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน
ปฏิญาณของเครือข่ายสวัสดิการภาคกลางและตะวันตก
“พวกเราเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคกลางตะวันตก จะมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน”
อภิสิทธิ์’ แนะชูหลักประกันความมั่นคงชุมชนร่วมดูแลกัน ต้องทำงานเข้มข้น ‘ผ่องศรี’ พร้อมผลักดัน
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนมีความสำคัญมากในการช่วยเหลือให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ขอแสดงความชื่นชมกับการเติบโตของหลายๆ กองทุน ขอให้มีความมั่นใจว่าสิ่งที่ทำสอดคล้องกับความต้องการของสังคมและความต้องการในอนาคต วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำ ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการ นโยบายจากส่วนกลางก็ตาม แต่ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้รวดเร็ว ตรงจุด หนีไม่พ้นต้องพึ่งพาเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ซึ่งมีความคล่องตัว ความยืดหยุ่น พร้อมกันนี้ได้แสดงถึงความมั่นใจของกองทุนสวัสดิการชุมชนจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในอนาคตข้างหน้า และให้ข้อเสนอแนะต่อการเคลื่อนงานในระยะต่อไป
“ผมมั่นใจด้วยว่าถึงแม้ในอนาคต กระแสของการผลักดันให้เกิดระบบสวัสดิการของชาติจะมีอย่างชัดเจนมากขึ้น แต่ในที่สุดก็ต้องอาศัยการเติมเต็มจากการทำงานในระดับชุมชน งานที่เราทำนั้นนับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ผมมีข้อเสนอว่า เราต้องทำเรื่องนี้ให้เข้มข้นมากขึ้น และแสวงหาแนวร่วมจากเครือข่ายการทำงาน ถ้าสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ก็จะมีพลัง ผมหวังว่าสิ่งที่เคยพยายามเริ่มต้นไว้ คือ มีกฎหมาย ทำเรื่องนี้ให้เป็นระบบ เรามีหลักประกันมั่นคงว่าจะได้รับการสมทบอย่างมีหลักเกณฑ์ทั้งรัฐบาลและท้องถิ่น รวมไปถึงการเริ่มวางมาตรฐานที่มีความยืดหยุ่นพอสมควรว่ากองทุนจะช่วยพี่น้องของเราอย่างไร ผมมั่นใจว่ามันจะเดินต่อได้ ผมยินดีจะสนับสนุนเท่าที่ทำได้ และยินดีที่จะช่วยผลักดันได้ต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ คณะกรรมาธิการฯ 2565
ด้านนางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 กล่าวว่า ตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนในช่วงปี 2553 – 2554 และจากการรับฟังข้อเสนอโดยเฉพาะข้อเสนอเชิงนโยบาย ตนเองมีความสนใจพร้อมทั้งได้ขอเอกสารการสรุปบทเรียนสมัชชาของภาคกลางและตะวันตก และภาคอื่นๆ เพื่อช่วยติดตามผลักดันเรื่องนี้ต่อไปแม้ว่าตอนนี้จะไม่ได้เป็นกรรมาธิการงบประมาณแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาเครือข่ายสวัสดิการชุมชนได้ยื่นร่าง พรบ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชน โดยตนเองร่วมรับด้วยและมีการติดตามเรื่องนี้ ในส่วนที่จะมีโอกาสอีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องกองทุนสวัสดิการของจังหวัดที่ผ่านของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พมจ.แต่ละแห่ง ตนเองจะเป็นแรงหนึ่งที่จะช่วยผลักดันการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชน
“ช่วงโควิดเห็นบทบาทของเราในหลายๆ ที่ มีจังวัดที่เข้มแข็ง ไปเชื่อมกับ อบจ. ท้องถิ่น หน่วยงาน เป็นเครือข่ายร่วมกัน มีการคิดว่าจะมีเวทีที่เชิญภาคอื่น ภาคี เครือข่ายที่ทำเรื่องสวัสดิการชุมชนมาเชื่อมกันเป็นขบวน ถ้าหากว่าอยากจะทำให้เป็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายก็ยินดีปวารณาตัวไว้ว่าถ้าหากเราจะเชื่อมภาคีเครือข่ายแล้วมีเวทีอะไรซักอย่างเพื่อให้ได้ข้อเสนอขึ้นไป แล้วทำให้เป็นรูปธรรม มีโมเดลอะไรใหม่ๆ ก็ยินดี” คณะกรรมการพิจารณางบประมาณปี 2565 กล่าว
ชุมชนจัดการตนเอง ด้านสวัสดิการ