ปราสาทกู่กาสิงห์
เมื่อเร็วๆ นี้ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดเวทีสรุปบทเรียน ‘การขับเคลื่อนการทำงานประชาชน การบริหารจัดการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน’ ที่วัดสว่างอารมณ์ (กู่) โดยมีเจ้าอาวาสเป็นประธาน มีผู้แทนชุมชน สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกกลุ่มโฮมสเตย์ เข้าร่วมประมาณ 15 คน มีเป้าหมายเพื่อทบทวนการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน นำข้อมูลมาวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งปรับปรุงที่พักโฮมสเตย์ให้ได้มาตรฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
การประชุมสรุปบทเรียนเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา
ตำบลกู่กาสิงห์ มีแหล่งโบราณสถานที่สำคัญ คือ ‘ปราสาทกู่กาสิงห์’ ซึ่งเป็นปราสาทหินทรายก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวปี พ.ศ.1550-1630 ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานในปี rพ.ศ. 2478 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลกู่กาสิงห์ ตั้งอยู่กึ่งกลางพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ แหล่งผลิตปลูกข้าวหอมมะลิชื่อดัง
ในปี 2547-2548 มีการศึกษาวิจัยชุมชนท้องถิ่น โดยมูลนิธิประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้เข้ามาทำการวิจัยร่วมกับชุมชน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ทำการวิจัยชุมชนท้องถิ่น สืบค้นประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน ทำให้ผู้นำและชาวบ้านเกิดความตื่นตัวที่จะร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่ เช่น การปลูกข้าวหอมมะลิ การทอผ้าไหม การตัดกระดาษเป็นลวดลายต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประดับในวันสำคัญทางพุทธศาสนา การทำเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ
นักเรียนในชุมชนได้รับการอบรมให้เป็นมุคคุเทศก์น้อยแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว
ต่อมาในปี 2558 จึงเริ่มมีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลกู่กาสิงห์ โดยนำโบราณสถาน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนมาเป็นจุดสร้างความสนใจให้แก่นักท่องเที่ยว มีการปรับปรุงบ้านพักให้เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ การอบรมเด็กนักเรียนในตำบลให้เป็น ‘มัคคุเทศก์น้อย’ เพื่อแนะนำความเป็นมาของกู่กาสิงห์ พาชมพิพิธภัณฑ์มรดกภูมิปัญญาบ้านกู่กาสิงห์ ซึ่งจัดแสดงชิ้นส่วนของปราสาทที่พังทลายลงมา เครื่องปั้น ไหใส่กระดูก ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสวนเกษตรผสมผสาน ศูนย์เรียนรู้ผ้าไหมชุมชน การอนุรักษ์การตัดลายกระดาษชุมชน การแสดงพื้นบ้าน ปราชญ์ชุมชน ฯลฯ
มานะ เหนือโท นักสื่อสารชุมชนตำบลกู่กาสิงห์ รายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวชุมชน เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาน้อยกว่าช่วงปกติ ซึ่งก่อนหน้าโควิดในปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวในตำบลกู่กาสิงห์เดือนละหลายคณะ ขณะที่ชุมชนได้ปรับตัวเพื่อป้องกันโควิด เช่น ตรวจวัดอุณหภูมินักท่องเที่ยว จัดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้นักท่องเที่ยวรักษาระยะห่าง ให้สวมหน้ากากอนามัย ฯลฯ
ส่วนการจัดเวทีสรุปบทเรียนเรื่องการจัดการท่องเที่ยวในชุมชนครั้งนี้ มานะบอกว่าได้ข้อสรุปหลายประการ เช่น ให้ปรับปรุงที่พักโฮมสเตย์ให้ได้มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ซึ่งมีทั้งหมด 10 ด้าน เช่น ลักษณะบ้านพักที่เป็นสัดส่วน ที่พัก-ห้องน้ำสะอาด ด้านอาหาร ความสะดวก ปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้มอบเงินสนับสนุนให้ชุมชนจำนวน 50,000 บาท เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโฮมสเตย์ในตำบลกู่กาสิงห์จำนวน 10 แห่งให้ได้มาตรฐาน และมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิทุกหลัง
ที่พักโฮมสเตย์ในตำบลกู่กาสิงห์
“นอกจากนี้ชุมชนจะต้องปรับปรุงและพัฒนาเรื่องผ้าไหม ผ้าพื้นเมือง เพื่อนำไปสู่การจัดงานเดินแบบผ้าไหม การอนุรักษ์ประเพณีเกี่ยวกับการทำนา เพราะกู่กาสิงห์เป็นส่วนหนึ่งของทุ่งกุลาร้องไห้ที่กว้างใหญ่ เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก เช่น พิธีผีตาแฮก การบวงสรวงเทวดาฟ้าดินก่อนทำนา การอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติ เช่น ลำน้ำเสียว การจัดเทศกาลกินปลา งานไหว้บวงสรวง ปราสาทกู่กาสิงห์ การพัฒนาคุณภาพของฝากและสินค้าชุมชน” มานะบอกสิ่งที่ชุมชนจะต้องปรับปรุง
สบู่น้ำนมข้าวหอมมะลิของดีของตำบล
เขาบอกด้วยว่า ผลสรุปจากเวทีดังกล่าวทางชุมชนจะนำไปจัดทำแผนงานเพื่อเสนอโครงการต่อทางเทศบาลตำบลกู่กาสิงห์เพื่อให้สนับสนุนงบประมาณการปรับปรุงและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลกู่กาสิงห์ในปีงบประมาณ 2565 นี้ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง