พิธีไหว้ศาลปู่ตาที่อาศรมไทบ้านดอนแดง เพื่อรำลึก 30 ปีสมัชชาชาวนาชาวไร่อีสานที่ต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินทำกิน
มหาสารคาม / เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 09.00-14.00 น. ณ อาศรมไทบ้านดอนแดง ต.ศรีสุข อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม มีการ ‘จัดงาน 30 ปี สมัชชาชาวนาชาวไร่อีสานเพื่อการรับรองสิทธิในที่ดินทำกิน’ โดยมีผู้แทน เครือข่ายสมัชชาฯ เข้าร่วมงานจำนวน 30 คน เพื่อทบทวนและสรุปบทเรียนการต่อสู้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปีจะมีการไหว้ศาลปู่ตาที่อาศรมไทบ้านดอนแดงที่อัญเชิญมาจากอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยในปี 2535 ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ คจก. (โครงการจัดที่ทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม) ของรัฐบาลในขณะนั้นที่มีนโยบายไล่คนออกจากป่า ทำให้ประชาชนในภาคอีสานหลายจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ สกลนคร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ มาปักหลักชุมนุมที่ถนนมิตรภาพ อ.ปากช่อง เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการ คจก. จนเป็นผลสำเร็จ ชาวบ้านจึงกลับเข้าไปทำกินได้เหมือนเดิม และต่อมาได้ก่อตั้งเป็น ‘สมัชชาชาวนาชาวไร่อีสานเพื่อการรับรองสิทธิในที่ดินทำกิน’ (สดท.) และเนื่องในวาระครบรอบ 30 ปีสมัชชาชาวนาชาวไร่อีสานฯ จึงมีการจัดงานในวันนี้ โดยได้ระดมทุนทอดผ้าป่าได้เงินจำนวน 1 แสนบาท
นายอกนิษฐ์ ป้องภัย ผู้ประสานงานการจัดงานครั้งนี้ กล่าวว่า เป็นการระดมทุนจากพี่น้อง เป็นผ้าป่าฟื้นฟูอาศรมดอนแดง และโอนที่ดินให้เป็นของสมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน เพื่อจะเป็นศูนย์รวมของเครือข่ายภาคประชาชนในอีสานในการมาแลกเปลี่ยน ประชุม สัมมนา จึงขอขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยบริจาคในครั้งนี้
นายสุเมธ ปานจำลอง กล่าวว่า เดิมพวกเราที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนมีสำนักงานที่ กป.อพช. อีสาน ในตัวจังหวัดขอนแก่น ช่วงนั้นมีเครือข่ายที่ทำงานด้านต่าง ๆ เช่น ชาวนา ชาวไร่ หัตถกรรม ปศุสัตว์ เกษตรกรรมทางเลือก จากนั้นจึงมีแนวคิดร่วมกันว่าเราน่าจะมีศูนย์เป็นสถานที่ที่จะมาประชุม สัมมนาร่วมกัน จึงเลือกที่ดอนแดง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เพราะเป็นศูนย์กลางของอีสาน เจตจำนงที่หลายคนคิดร่วมกัน เช่น คุณภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ คุณวิพัฒนาชัย พิมพ์หิน คุณอรุณ หวายคำ คุณอุบล อยู่หว้า
“ที่ดอนแดงนี้ (เนื้อที่ 16 ไร่) ควรจะเป็นพิพิธภัณฑ์การต่อสู้ของชาวนาชาวไร่อีสาน ที่ไม่ยอมต่ออำนาจของการไล่คนออกจากป่า เป็นการต่อสู้เพื่อชีวิตของคนอีสาน จากนั้นทุนในการทำงานของพี่น้องก็น้อยลง ทุกคนก็กลับไปทำมาหากินในที่ของตนเอง ดอนแดงเป็นสำนักงานของเครือข่ายป่าไม้ที่ดิน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เพื่อให้มีองค์กรทางนิติบุคคลที่จะมาดูแลทรัพย์สิน จึงได้จัดตั้งเป็น ‘สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน’ ผ่านการรับรองเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2556 วันที่ก่อตั้งอาศรมดอนแดงพี่น้องจากพื้นที่ต่างๆ ในอีสานนำเอาต้นไม้มาปลูก ซึ่งขณะนี้อายุ 18 ปี ใหญ่โตเป็นร่วมเงา ก็ต้องช่วยกันคิดว่าจะไปต่ออย่างไร” นายสุเมธกล่าว
นายสวาท อุปฮาต ผู้ร่วมก่อตั้งสมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน กล่าวว่า ปี 2533 เริ่มโครงการ คจก.ในอีสาน ทำให้ชาวบ้านถูกไล่ที่ ถอนบ้าน เกิดความทุกข์ยาก มีการรวมตัวกันเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว ที่เป็นข่าวก็จะมีที่ดงใหญ่ อ.ประคำ จ.บุรีรัมย์ สระตะเคียน สีชมพู ชุมแพ ภูผาม่าน นากลาง มีการเดินขบวนชุมนุมที่อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา กดดันให้รัฐบาลมาเจรจา โดยการปิดถนนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2535 ผลการเจรจารัฐบาลยกเลิกโครงการ คจก. ชาวบ้านกลับเข้าไปทำกินในที่ดินของตนเองต่อไป
นายเหลาไท นิลนวล หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน ช่วงปี 2535 บอกว่า หลังจากคัดค้านโครงการ คจก. พี่น้องได้กลับคืนถิ่น จากนั้นเข้าร่วมกับสมัชชาคนจน 107 กรณีปัญหา ซึ่งมีเรื่องป่าไม้ที่ดิน มีเป้าหมายที่เราต้องการให้ชุมชนมีสิทธิในการจัดการทรัพยากร พวกเราต่อสู้กับรัฐบาลในระดับนโยบาย เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน ทำการผลิตที่เป็นเรื่องเกษตร ให้กำลังใจพวกเราที่ยังทำงาน แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณเรายังยืนหยัดร่วมต่อสู้กับพี่น้องต่อไป
นายเดชา เปรมฤดีเลิศ กล่าวว่า ตนเองเป็นคนคลองเตย มาทำงานที่มหาสารคามเมื่อปี 2530 และไปทำงานที่ขอนแก่นปี 2535 ซึ่งเป็นปีที่ภาคอีสานคัดค้านโครงการ คจก. เช่น ที่ขอนแก่น ตาดฟ้า ดงสะคร่าน ซำผักหนาม มีการเจรจากับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลซึ่งช่วงนั้นนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี การชุมนุมครั้งนั้นมีคนเข้าร่วมประมาณแสนคน เชื่อว่าชุมชนมีพลังจริง การเจรจาครั้งนั้นเป็นต้นแบบของการเจรจากับฝ่ายรัฐบาลที่เครือข่ายภาคประชาชนอื่นๆ นำไปใช้ เช่น สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกยอ.) สมัชชาคนจน 112 ปัญหาทั่วประเทศที่ชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบ 99 วัน มีอาจารย์จากที่ต่างๆ มาให้วิชาความรู้กับประชาชน ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานครั้งนี้
นายบำรุง บุญปัญญา ผู้ร่วมก่อตั้งสมัชชาชาวนาชาวไร่อีสาน กล่าวว่า ตนเองเป็นส่วย ลูกชาวนา พ่อเป็นกำนัน ชนเผ่าระแวเป็นชนชาติเดียวในโลกที่เลี้ยงช้าง ได้เคลื่อนไหวครั้งแรกเรื่องการเช่าที่ดิน ชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท ต่อมาเคลื่อนไหวเรื่องราคาข้าวที่แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา มีเงินมาเยียวยาพี่น้องจำนวน 200 กว่าล้านบาท และต่อมาที่สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ต่อสู้เรื่องราคามันสำปะหลัง จากนั้นมาทำงานที่อีสานเรื่องวัวพลาสติก(วัวไม่ออกลูก)
“เราพูดเรื่องประชาธิปไตย แก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่พูดเรื่องชาวนาที่ไม่มีที่ทำกิน หนี้สิน เมื่อเราเป็นชาวไร่ชาวนาต้องตอบแทนบุญคุณชาวนา และมีจิตวิญญาณของการต่อสู้กับอำนาจอธรรม” นายบำรุงกล่าว
นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กล่าวว่า ทำงานในประเด็นผู้หญิง เครือข่ายหัตถกรรม ที่ต้องการมีรายได้เสริม โดยอาศัยภูมิปัญญาปู่ย่าตายาย มีพี่น้องที่เติบโตจากงานหัตถกรรม
“30 ปีของสมัชชาชาวนาชาวไร่อีสานเพื่อการรับรองสิทธิในที่ดินทำกิน ได้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อพี่น้องภาคอีสานมากมาย ซึ่งปัญหาของพี่น้องในอีสานคือ ไม่มีที่ดินทำกิน หนี้สิน ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้ราคายังคงเป็นปัญหาที่คงอยู่ถึงทุกวันนี้ คนที่ต่อสู้คงจะอ่อนล้า หมดแรง หวังว่าคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเพื่อสานต่อช่วยกัน” นางสุนทรีกล่าว
นางสาวธีรดา นามไห นายกสมาคมไทบ้าน บอกว่า ช่วงปี 2528-2530 เกิดปัญหาลำน้ำเสียวและได้เรียนรู้การต่อสู้ และกลับไปอยู่บ้าน มีศูนย์เรียนรู้ เรื่องผ้า ข้าว มีผลิตภัณฑ์ทางอาหาร นวัตกรรมทางการเกษตร กำลังทำคลินิกแพทย์แผนไทย การอยู่กับท้องถิ่น ทำเรื่องการศึกษาทางเลือก ทำอย่างไรโรงเรียนไม่ถูกยุบ ทำงานกับเด็กนอกระบบ การสร้างอาชีพ ที่ศูนย์จึงมีหลากหลายเรื่องราว
“เชื่อว่าพลังชุมชน พาเขาทำ พาเขาเฮ็ด การทำท้องถิ่นให้ครบวงจรจะเอื้อให้เกษตรกรอยู่ได้” นางสาวธีรดากล่าวทิ้งท้าย
บริเวณพื้นที่อาศรมไทบ้านดอนแดง
มานะ เหนือโท ศูนย์ข่าวทุ่งกุลา รายงาน
นักสื่อสารชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด