สถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรก ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 หลังการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมากในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต โดยทางจังหวัดมีประกาศให้ปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และสถานที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งจังหวัด เพื่อไม่ให้ประชาชนออกมารับเชื้อและแพร่เชื้อ ส่งผลกระทบทำให้สถานบริการ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าต้องปิดตัว รวมถึงตลาดราไวย์ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายปลาและอาหารทะเลของชาวเลชุมชนราไวย์ ทำให้พวกเขาไม่สามารถขายอาหารทะเลได้จึงได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่มีเงินที่จะไปซื้อข้าวสารมาหุงหากิน
ชาวเลหาดราไวย์เป็นกลุ่มชาติพันธ์ชาวอูรักลาโว้ย มีประชากรประมาณ 1,300 คน มีอาชีพหลัก คือการทำประมงพื้นบ้าน ออกทะเลหาปลาและสัตว์ทะเลต่างๆ และสิ่งที่ชาวอูรักลาโว้ยทำได้ก็คือ ปลาเค็ม และปลาหวาน ปัญหาของชาวอูรักลาโวยที่ต้องการเพียงข้าวสาร เพราะอาหารทะเลมีเพียงพอสำหรับชาวเลหาดราไวย์
ด้วยความร่วมมือและการประสานงานจากภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิชุมชนไท ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และตัวแทนสมาคมชาวยโสธร โดยมีโจทย์คำถาม คือ “การแลกเปลี่ยนอาหารทะเลกับข้าวสาร จะเป็นไปได้ไหม ?”
เพียงไม่กี่นาทีก็ได้รับคำตอบ…เสียงตอบกลับจากจังหวัดยโสธร แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์ ยืนยันว่า ข้าวยโสธรพร้อม !! และภายใน 1 วัน การแลกเปลี่ยนอาหารในภาวะวิกฤต COVID – 19 จึงเป็นรูปเป็นร่างอย่างรวดเร็ว คือฝ่ายหนึ่งจะออกหาปลา ฝ่ายหนึ่งจะออกไปรวบรวมข้าว
ชาวเลมีปลา ชาวนามีข้าว” ข้าวสารจากจังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ถึงหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต จึงไม่ใช่เรื่องยาก ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 กองทัพอากาศได้สนับสนุนยานพาหนะในการขนส่ง ตามโครงการนำร่อง “ทัพฟ้าช่วยไทย ต้านภัย COVID – 19 ขนข้าวชาวนา เปลี่ยนปลาชาวเล” เพื่อช่วยเหลือชาวอูรักลาโวยที่กำลังเดือดร้อน โดยการขนส่งข้าวสารจากเครือข่ายชาวนาภาคอีสานจังหวัดยโสธร จำนวน 4,500 กิโลกรัมไปแลกเปลี่ยนปลาแห้ง จำนวน 1,000 กิโลกรัมกับเครือข่ายชาวเลอันดามันจังหวัดภูเก็ต
นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอญอ หรือชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก ซึ่งมีความเชื่อว่า “ข้าว คือ หัวใจ ชีวิต ลมหายใจ พร และบุญที่ยิ่งใหญ่” จึงพร้อมที่จะแบ่งปันข้าวตามโครงการ “ข้าวแลกปลา ชาวเล – ชาวดอย สู้ภัย COVID – 19”
โดยพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงภาคเหนือตั้งใจระดมข้าวสารประมาณ 8,000 กิโลกรัมไปแลกปลากับพี่น้องชาวเล จังหวัดภูเก็ต เป็นการสะท้อนถึงน้ำใจ การช่วยเหลือกันในยากทุกข์ยากของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สังคมภายนอกอาจจะมองว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ล้าหลัง ไม่มีความเจริญ ไม่มีความทันสมัย
นอกจากข้าวสารจากที่เดินทางมาจากภาคอีสานและภาคเหนือแล้ว ยังมีพริกแห้ง หัวหอม และกระเทียม ที่พี่น้องชาวนาส่งมาให้ชาวเลอูรักลาโว้ยหาดราไวย์ นำไปแบ่งปันให้กับชาวเลในจังหวัดอื่นๆ ด้วย เช่น ชาวเลบ้านแหลมตง เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ชาวมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ฯลฯ
เป็นการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ จากชาวนา ชาวดอย สู่ชาวเล โดยไม่มีอะไรขวางกั้น มีเพียงหัวใจเท่านั้นที่นำทาง…!!
จัดทำโดย
นางสาวทิพวดี มะฮง
นักสื่อสารชุมชนจังหวัดสุราษฏร์ธานี