ตำบลโพนทอง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 11,038 ไร่ มี 9 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 2,000 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา เกษตรกรรม และรับจ้าง
ส่วนที่มาของชื่อตำบล มีเรื่องเล่าว่า สมัยก่อนมีจอมปลวกใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน และมีชาวบ้านไปพบทองที่จอมปลวกใหญ่นั้น จึงตั้งชื่อตำบลว่า “ตำบลโพนทอง”
สภาองค์กรชุมชนร่วมวางแผนพัฒนาตำบล
สภาองค์กรชุมชนตำบลโพนทอง จัดตั้งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2561 มีกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมจัดตั้งทั้ง 9 หมู่บ้าน คณะทำงานประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. กลุ่มสตรี เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า ฯลฯ
ในปี 2563 สภาองค์กรชุมชนตำบลโพนทองได้ร่วมจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นระดับตำบล โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน มีผู้นำ กลุ่มองค์กร และหน่วยงานภาคี เช่น อบต.โพนทอง การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตำบลโพนทอง และนำไปสู่การขับเคลื่อนและบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาคีในท้องถิ่น
เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชนให้การส่งเสริมการพัฒนาสัมมาชีพครัวเรือน สำนักงานเกษตรให้การส่งเสริมการสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน( องค์การมหาชน ) สนับสนุนงบประมาณการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้เดือดร้อน ผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการบ้านพอเพียงชนบท เป็นต้น
ใช้วัตถุดิบในตำบลรวมกลุ่มทำ “ขนมไทยบ้านกลางนา”
จากผลกระทบด้านเศรษฐกิจและรายได้อันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหนองแคจึงทำโครงการสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่คนในชุมชน ชาวบ้าน ผู้ที่ว่างงานจากปัญหาโควิด -19 และผู้สูงอายุ โดยจัดเวทีประชุมประชาคมเพื่อเสนอว่าจุดเด่นของชุมชนคืออะไร ? จะสร้างรายได้เสริมจากการทำอะไร ? ที่ประชุมจึงเสนอความคิดเห็นเรื่องการสร้างกลุ่มอาชีพทำขนมไทย เพราะในตำบลมีวัตถุดิบอยู่แล้ว ไม่ต้องซื้อหาจากภายนอก เช่น มะพร้าว กล้วย ฟักทอง เผือก ฯลฯ
โดยมีคนในชุมชนที่สนใจเข้าร่วมกลุ่มจำนวน 20 คน มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน เช่น อบต.โพนทองให้ใช้สถานที่ฝึกอบรมทำขนม พัฒนาชุมชนอำเภอหนองแคสนับสนุนงบประมาณการฝึกอบรบและจัดซื้อวัตถุดิบ นำมาทำขนมไทย เช่น ขนมกล้วย โดยนำกล้วยน้ำว้าสุกมาบดผสมกับแป้ง น้ำตาล น้ำมะพร้าวอ่อนและเนื้อมะพร้าว นำไปใส่ถ้วยตะไลเพื่อนึ่งให้สุก จะได้ขนมกล้วยที่หอมนุ่มหวานมัน
ส่วนขนมฟักทองจะนำฟักทองมาหั่นเป็นชิ้นนำไปนึ่งให้สุกก่อน จากนั้นจึงนำฟักทองมาบดผสมกับแป้งและน้ำตาลจนได้ที่ นำมาใส่ถ้วยตะไล โรยหน้าด้วยเนื้อมะพร้าว แล้วนำไปนึ่งจนสุก จะได้ขนมฟักทองแสนอร่อย สีเหลืองสวย เนื้อเหนียวนุ่ม รสชาติหวานมัน หอมกลิ่นมะพร้าวอ่อน นำมาใส่กล่องขาย กล่องละ 20 บาท นำไปขายที่ตลาดน้ำต้นตาล หรือตลาดใกล้เคียง และมีบริการส่งถึงบ้านลูกค้าที่อยู่ในชุมชนและชุมชนใกล้ๆ สั่งจำนวน 5 กล่องขึ้นไปส่งฟรี และรับสั่งขนมทาง facebook ด้วย
ส่วนการทำขนมแต่ละครั้ง กลุ่มจะทำตามจำนวนที่ลูกค้าสั่ง ประมาณ 100 – 150 กล่อง เมื่อขายหมดแล้วกลุ่มจะหักต้นทุนและแบ่งผลกำไรเฉลี่ยต่อครั้งให้กับสมาชิกเลย รายได้จะขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกที่มาร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้ง และจำนวนขนมที่ขายได้ เฉลี่ยคนละ100-200 บาทต่อครั้ง หรือประมาณคนละ 500-1,000 บาทต่อสัปดาห์ ช่วยให้สมาชิกมีรายได้เอาเงินไปใช้จ่ายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในช่วงโควิดได้
จุดเด่นของขนมไทยบ้านกลางนาคือ รสชาติหวานหอม ปลอดภัยจากสารปรุงแต่ง เพราะวัตถุดิบที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตในชุมชนที่ปลูกไว้กินในครัวเรือน เมื่อเหลือก็นำมาขายให้กลุ่มทำขนมไทย เช่น มะพร้าวน้ำหอม กล้วยน้ำว้า ลูกตาลสุก ฟักทอง ทำให้คนปลูกมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนในอนาคตทางกลุ่มมีแผนที่จะพัฒนากลุ่มขนมไทยต่อไป เช่น สร้างช่องทางการขายสินค้าผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น จัดบูธสินค้าชุมชน รวมถึงการเชื่อมโยงกับกลุ่มองค์กรอื่นๆ เพื่อมาหนุนเสริม จัดทำแผนพัฒนาธุรกิจเพื่อชุมชน เพื่อสร้างการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ พัฒนาปรับปรุงแพ็คเกจสินค้าให้ดูทันสมัย โดดเด่น น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ
นางสาววันวิสาข์ สายหลอด
นักสื่อสารชุมชนจังหวัดสระบุรี