ชุมชนชาวไทยวน (ไท-ยวน) ที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี มีเชื้อสายเป็นชาวเมืองเชียงแสน (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดเชียงราย) ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในภาคกลางและภาคอื่นๆ ในสมัยสงครามต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีหลายชุมชนมีชื่อเรียกกับตามชื่อของหมู่บ้าน เช่น ชุมชนบ้านสวนดอกไม้ ชุมชนบ้านต้นตาล ชุมชนบ้านป่าสัก ชุมชนบ้านพระยาทด ฯลฯ
สมัยก่อนตัวเมืองสระบุรีอยู่ในท้องที่อำเภอเสาไห้ มีชุมชนชาวยวนมาตั้งบ้านเรือน ปลูกเรือนอยู่สองฝั่งริมแม่น้ำป่าสักซึ่งเป็นที่ลุ่มอุดมสมบูรณ์ ใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางสัญจร หันหน้าบ้านออกสู่แม่น้ำ หลังบ้านเป็นทุ่งนา การปลูกสร้างบ้านเรือนยึดแบบแผนดั้งเดิมจากบรรพชน
“สวนดอกไม้” ชื่อของหมู่บ้านที่อยู่ตั้งริมแม่น้ำป่าสัก มีชาวไทยวนมาตั้งรกรากอาศัยอยู่ เดิมมีชื่อว่าบ้าน “สิบต๊ะ” (ชื่อของหนานต๊ะผู้นำชาวยวน) มีการปลูกดอกไม้สวยงามตลอดเส้นทางริมแม่น้ำป่าสัก ผู้เดินทางโดยเรือผ่านมาเห็นหมู่บ้านนี้ปลูกดอกไม้สวยงามจึงเรียกชื่อว่า “บ้านสวนดอกไม้” และมีวัดสมุหะประดิษฐ์และวัดไผ่ล้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของตำบลสวนดอกไม้ และจังหวัดสระบุรี
ตำบลสวนดอกไม้ อยู่ห่างจากจังหวัดสระบุรีไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร มีแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสายหลัก แบ่งออกเป็น 11 หมู่บ้าน พื้นที่ทั่วไปเป็นพื้นที่ราบซึ่งเกิดจากตะกอนลำน้ำเหมาะสำหรับการประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป
กิจกรรมล่องแพ และลานวัฒนธรรมตำบลสวนดอกไม้
จุดเริ่มของการเปิดตลาดบ้านสวนดอก
นายธัชพล บุณยาภรณ์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลสวนดอกไม้และประธานเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชน เล่าว่า พื้นที่ของตำบลสวนดอกไม้ มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน สองฟากฝั่งมีความสวยงามตามธรรมชาติ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำเนื่อง นอกจากนี้ยังมีวัดสมุหประดิษฐารามเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
ในวัดยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาลแห่งแรกของจังหวัดสระบุรี เคยใช้เป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการในจังหวัดสระบุรี มีจิตกรรมฝาผนัง ตุ๊กตาจีน และยังมีตลาดนัดพระเครื่อง พระบรมธาตุเจดีย์ ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่วัดไผ่ล้อมซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย
นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตร มีกลุ่มอาชีพที่ความสามารถในการทำอาหาร ทำขนม มีจุดเด่นด้านวัฒนธรรมของชาวไทยวน โดยเฉพาะด้านการแต่งกาย ภาษา และอาหาร จึงเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ถือเป็นต้นทุนที่ดีที่จะพัฒนาต่อยอดของดีเหล่านี้นำไปสู่การจัดการท่องเที่ยวชุมชน
การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวตลาดบ้านสวนดอก
จากการเริ่มต้นโครงการหมู่บ้านนวัตวิถีของพัฒนาชุมชนอำเภอเสาไห้ที่ได้สนับสนุนให้มีการฝึกอบรมอาชีพให้กับคนในชุมชน ร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ภูมิปัญญาท้องถิ่นวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงการแต่งกายด้วยผ้าไทยวน ส่งเสริมการท่องเที่ยว การประชาคมกับคนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินการจัดทำแผนท่องเที่ยวชุมชนขึ้น โดยเชื่อมเส้นทางไปยังจุดต่างๆ ในหมู่บ้าน ชุมชน และตำบล นำสินค้าชุมชนมาจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน ผู้สูงอายุ
โดยใช้สถานที่บริเวณวัดสมุหประดิษฐารามเป็นที่ตั้งของ “ตลาดบ้านสวนดอก” เนื่องจากทำเลที่ตั้งของวัดมีการคมนาคมสะดวก มีถนนผ่านไปเที่ยวชมจุดต่างๆ ข้างเคียงได้ง่าย อยู่ใกล้สี่แยกเสาไห้ ติดสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก เป็นวัดที่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุน่าสนใจ มีท่าน้ำสำหรับคนชอบตกปลา และมีท่าเรือสำหรับพานักท่องเที่ยวนั่งชมบรรยากาศริมสองฝั่งของแม่น้ำป่าสัก การขับเคลื่อนงานของตลาดนวัตวิถี กลุ่มอาชีพต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความสามารถในการทำอาหาร ทำขนม เช่น ขนมเทียนแก้ว ขนมกง ขนมไทยประดิษฐ์สินค้าพื้นเมืองมาสอนนักท่องเที่ยว มีสินค้าเกษตร เช่น ปลาแม่น้ำ กุ้งแม่น้ำ เอามาทำอาหารต่างๆ มีเครื่องจักสาน ผ้าทอไทยวน จำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว มีการแสดงวัฒนธรรมไทยวน ผู้สูงอายุได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม มาเรียนรู้
ส่งเสริมให้กลุ่มเด็กเยาวชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสดง สร้างมัคคุเทศก์น้อยแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว เล่าประวัติความเป็นมาภายในวัด และนำเที่ยววัดต่างๆ ตามเส้นทางท่องเที่ยวได้ทั้งทางเรือและทางรถ สามารถท่องเที่ยวชมวัดที่อยู่ใกล้เคียง เช่น วัดไผ่ล้อม วัดท่าช้าง วัดพระเยาว์ (พระพุทธรูปทองคำ) วัดอัมพวัน (หลวงพ่อย้อย) ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์บ้านท่าราบ ตลาดน้ำต้นตาล ตลาดน้ำพระยาทด วัดเขาแก้ววรวิหาร หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน เสาร้องไห้ ตลาดร้อยปีเสาไห้ กำหนดการเปิดตลาดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ
ตลาดบ้านสวนดอก
โดย สิณินญากร แพรประณีต
นักสื่อสารชุมชนจังหวัดสระบุรี