บุรีรัมย์ / ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2564 ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และมหาวิทยาลัยราชภัฎจังหวัดบุรีรัมย์ จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการตำบลต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง และตำบลแผนธุรกิจชุมชนอีสาน ปี 2564 ณ ห้องประชุมสหวิทยาการจัดการ ชั้น 2 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการใช้ตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และทำความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนตำบลต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง และตำบลแผนธุรกิจชุมชน รวมทั้งให้ขบวนองค์กรชุมชนวางแผนปฏิบัติการ โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนา จากพื้นที่ต้นแบบตำบลศูนย์บ่มเพาะธุรกิจชุมชน แกนนำขบวนเศรษฐกิจชุมชนจังหวัด และกองเลขา เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานส่วนกลาง และสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอช. และคณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิสมัย ประชานันท์ ผู้ช่วยอธิการบดี กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงาน
อย่างไรก็ตามในปี 2564 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้สนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนในหลายมิติ ทั้งในด้านการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน การส่งเสริมความเข้มแข็งของสภาองค์กรชุมชนตำบล การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ผ่านโครงการบ้านพอเพียง โครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทแล้วนั้น ยังได้มีการสนับสนุนตำบลต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง จำนวน 100 ตำบล และตำบลแผนธุรกิจชุมชน จำนวน 80 ตำบล ซึ่งจะเป็นฐานการพัฒนาทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมสู่พื้นที่ต้นแบบชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในการเรียนรู้และขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ
โดยการขับเคลื่อนงานขบวนองค์กรชุมชนอีสาน จะใช้แบบประเมินความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน 4 มิติ ได้แก่ 1) คนมีแนวคิดและความสามารถเพิ่มขึ้น 2) องค์กรชุมชนเข้มแข็ง/มีความสามารถในการบริหารจัดการ 3) เกิดการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ โครงสร้าง/นโยบาย และ 4) คุณภาพชีวิตคนในชุมชน เป็นเครื่องมือในการประเมินสถานะตำบล ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินมาตั้งเป้าหมายการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นใน 3 ถึง 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร มีการพัฒนาในเรื่องใด แบบไหน อย่างไร ทั้งในด้านการพัฒนาดศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาคน/ผู้นำ การพัฒนาคุณภาพองค์กรชุมชน การพัฒนาด้านความสัมพันธ์กับภาคีท้องที่ ท้องถิ่น นโยบาย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน มีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน