
แม่ฮ่องสอน /สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันจัดงานสมัชชา”การจัดการไฟป่าและหมอกควันแบบมีส่วนร่วม จ.แม่ฮ่องสอน” และยกร่างข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนในการแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน โดยต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีจำนวน hotspots มากกว่า 600 จุด/ วัน พุ่งขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ ขณะที่ค่ามลพิษก็สูงกว่าจังหวัดอื่นโดยเฉลี่ยเกินมาตรฐานแทบตลอดทั้งเดือน เหมือนที่เคยเป็นมาทุกปี แม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษฝุ่นควันสูงสุดของภาคเหนือเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นเขตป่ามากกว่า 85% ของพื้นที่ทั้งหมด และส่วนใหญ่ก็เป็นป่าเต็งรังผลัดใบ ซึ่งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ในฤดูแล้ง แต่ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังมีชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าเนื่องจากถูกประกาศเขตป่าของรัฐซ้อนทับมากกว่า 84% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อาศัย ทำกินและพึ่งอยู่กับป่าเป็นหลัก การออกมาตรการต่างๆที่ผ่านมาของภาครัฐไม่ได้สามารถแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันได้เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทของพื้นทที่และวิถีชีวิตของคนในชุมชน ดังนั้นภาคประชาชน 7 หน่วยงาน ได้แก่ สภาพลเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน สมาคมสถาบันปัญญาวิถี เครือข่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องงสอน ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน และภาคีสภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันพัฒนายกร่างข้อมเสนอต่อหน่วยงานในการจัดการแกไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดังนี้

1. ปรับทัศนคติเรื่องหมอกควัน ไฟป่าทั้งด้าน
– ความเชื่อเกี่ยวกับไฟป่าและการเผา
– ความรู้วิชาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
– ทัศนคติต่อการเผา หรือไม่เผา
– แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อรับฟังความเห็นที่แตกต่าง
– สื่อสารกับชุมชนโดยมีการใช้ภาษาชาติพันธุ์ต่างๆ
2. การกำหนดแนวทางและมาตรการประจำปีของหน่วยงานให้ยึดเอาชุมชนเป็นศูนย์กลาง
– ก่อนการประกาศใช้มาตรการให้หน่วยงานภาครัฐเปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล เสนอแผนการจัดการไฟป่าหมอกควันและแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน
– รัฐต้องกำหนดมาตรการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทของชุมชนท้องถิ่น
– ให้มีการสรุปบทเรียน การถอดบทเรียนการจัดการไฟป่าหมอกควันเพื่อยกระดับให้เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ
3. การบริหารจัดการงบประมาณ
– ให้มีการจัดตั้งกองทุนจัดการไฟป่าหมอกควันทุกหมู่บ้าน
– ยึดหลักธรรมาภิบาล 6 ข้อ ในการบริหารจัดการ ได้แก่ การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส ความคุ้มค่า มีความรับผิดชอบ มีหลักคุณธรรม และหลักนิติธรรม
4. สื่อสารข้อมูลความรู้ที่จำเป็นผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เสียงตามสายของหมู่บ้าน สื่อออนไลน์ในกลุ่มพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์
5. สร้างกลไกการทำงานให้ครอบคลุมทุกระดับ (ชุมชน – ตำบล – จังหวัด) มีสัดส่วนภาคประชาชนเข้าร่วมและมีอำนาจในการตัดสินใจร่วม
6. มีการจัดการไฟป่าแบบยั่งยืน
– มีฐานข้อมูล
– ชุมชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากป่าและการดูแลรักษา
– ให้คนรุ่นใหม่ เด็ก เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมและใช้ศักยภาพในการหนุนเสริมขบวน เช่น การออกแบบการสื่อสาร
7. แก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยภาครัฐเหนือภาคประชาสังคมจัดเวทีเพื่อจัดทำข้อตกลงกับชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่แนวชายแดน