จากบันทึกความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการดำเนินตามขั้นตอนการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถยกระดับขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีศักยภาพพร้อมสำหรับภารกิจถ่ายโอน เป็นเครื่องมือไปสู่การกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไปสู่เจ้าของอำนาจ คือ ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
วันนี้ (11 มีนาคม 2564) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสัมมนาขับเคลื่อนความร่วมมือการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในระยะ 1-5 ปี พร้อมบทบาทและแผนงานของหน่วยงาน ตามบันทึกความร่วมมือในการสนับสนุนการทำงานกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมสู่ท้องถิ่น โดยมีแกนนำชุมชนจาก 35 ตำบล เข้าร่วมกว่า 150 คน ณ ห้องประชุมไพบูลย์วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)
รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า การจัดสรรหรือกระจายทรัพยากรที่ดินค่อยๆคลี่คลายมากขึ้น จนมาถึงคณะการทำงานของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน ที่กำกับ เน้นย้ำ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในการบริหารจัดการอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการทำงานมักติดขัดในด้านการปฏิบัติของการทำงานแต่ละหน่วยงาน ที่มีพรบ.หรือกฎหมายที่ยังไม่สอดคล้องกับการทำงานนโยบายใหญ่ แต่เดิมกฎหมายชี้ชัด “คนห้ามอยู่ในป่า” แต่ตั้งแต่สถานการณ์การสำรวจข้อมูลชุมชนตั้งแต่ 30 มิถุนายน ปีที่แล้ว (ปี 2563) ภายใน 240 วัน เป็นการดำเนินงานที่ส่งผลให้สถานการณ์คลี่คลายมากขึ้น ซึ่งในประเภทที่ดินที่กรมป่าไม้ยังไม่นิ่ง ระบุขอบเขตได้แน่ชัด เพราะมีที่ดินจำนวนมาก โดย อปท. ยังสามารถเข้าไปเชื่อมโยงเพื่อเป็นผู้ประสานในการสำรวจได้
นางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาพอช. ดำเนินการร่วมกับหลากหลายกระทรวงฯ เพื่อให้ชุมชนได้รับการแก้ไขปัญหา ได้แก่ สภาองค์กรชุมชน ที่ว่าด้วยเวทีกลางในการพูดคุย หารือจัดทำแผน สวัสดิการชุมชน ที่ว่าด้วยการจัดสวัสดิการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เศรษฐกิจชุมชน ที่ว่าด้วยการหนุนเสริมเศรษฐกิจชุมชนฐานราก และการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยด้วยบ้านมั่นคง ซึ่งตั้งต้นจากการแก้ไขปัญหาที่ดิน จากสถานการณ์เริ่มต้นของสถานการณ์ภัยพิบัติสึนามิ และขยับมาสู่การไขปัญหาที่ดินต่าง ๆ มีกระบวนการที่สำคัญ คือ การสำรวจข้อมูล การจับพิกัดตำแหน่ง การทำผังชุมชน และการรับรองข้อมูลร่วมกัน และในปี 2560 ที่ขยับมาสู่การทำโครงการบ้านมั่นคงทั้งในพื้นที่เมืองและตำบลในชนบท ซึ่งความสำคัญของการทำงานในชนบท พบว่าจะต้องมีการวางแผนการจัดการทรัพยากรทั้งระบบ รวมถึงการพัฒนานคุณภาพชีวิต โดยเน้นการบรูณาการจากหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดการจัดการร่วม เป็นพื้นที่ หรือการใช้ประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งการพัฒนามีหลายรูปแบบ รูปแบบที่สำคัญคือ (1) การจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินใหม่ (2) การจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม ด้วยการปรับปรุง ซ่อมแซมให้ดีและมั่นคงขึ้น ภายใต้แนวคิด “ชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง”
นายวีรยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าอย่างน้อยร้อยละ 40 (129.20 ล้านไร่) และในร้อยละ 40 ต้องมีที่สำหรับป่าอนุรักษ์ ร้อยละ 25 ป่าเศรษฐกิจ (ป่าสงวน) ร้อยละ 15 นอกจากนั้น เป็นที่ดินเพื่อทำประโยชน์อื่น ๆ ร้อยละ 60 ในส่วนของกรมอุทยาน ที่หมายรวมถึงเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าและห้ามล่าสัตว์ป่าด้วยนั้น มีการประกาศตั้งแต่ปี 2557 ที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถอยู่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีพรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ฉบับล่าสุด จากการสำรวจข้อมูลตั้งแต่ปี 2562 และอยู่ระหว่างการรับรองข้อมูลตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งการดำเนินงานอยู่ในขั้นตอนที่ 4 จาก 5 ซึ่งการสำรวจดำเนินการเป็นรายหมู่บ้าน / ชุมชน จึงลดปัญหาข้อติดขัดน้อยลงและเก็บข้อมูลได้ภายใน 240 วัน สุดท้ายกล่าวถึงกระบวนการในทางปฏิบัติ และ Timeline ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
“เป้าหมาย ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้” มีบ้าน มีที่อยู่อาศัย มีการทำกิน ที่กลมกลืนกับป่า สุดท้ายในด้านการสำรวจข้อมูลที่สามารถดำเนินการได้สำเร็จภายใน 240 วันนั้น เกิดจากปัจจัย (1) การวางแผนทรัพยากรภายใน ซึ่งต้องมีข้อมูลตั้งต้นในการดำเนินงาน เช่น Google Map / ภาพถ่ายทางอากาศปี 2554 เป็นต้น มีการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือและข้อตกลงร่วมกัน (2) การวางแผนบรูณาการใช้ทรัพยากรภายนอก ในส่วนของการลงพื้นที่มีการประสานการทำงานร่วมหลายฝ่าย และรับรองข้อมูลที่สำรวจร่วมกัน รับรองแนวเขตที่ชัดเจน ประชาชนในพื้นที่ส่วนรวมในการชี้แนวเขตของตนเอง ถือเป็นชุดข้อมูลที่สามารถทำได้ใกล้เคียงข้อเท็จจริงมากที่สุด นายวีรยุทธ กล่าวในตอนท้าย
นายโกมินทร์ อินรัสพงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการกระจายอำนาจฯ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาติดขัดในด้านข้อกฎหมายพรบ.งบประมาณ และพรบ.ถ่ายโอนภารกิจ ซึ่งบางครั้งในการถ่ายโอนยังมีความคลุมเครือของแนวทางการปฏิบัติ และงบประมาณที่สนับสนุนไม่เพียงพอต่อเป้าหมายที่ต้องการให้บรรลุ (ภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนในปัจจุบัน 680 กว่าภารกิจ) ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจึงมีการจัดลำดับความสำคัญตามความเร่งด่วนของพื้นที่ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ หลังจากนั้นมีการซักซ้อมทำความเข้าใจภารกิจการทำงาน โดยเฉพาะแผนงานว่าด้วยการควบคุมดับไฟป่า ที่ส่งเสริมให้อาสาสมัครเข้ามาทำหน้าที่ได้ ซึ่งอาสาสมัครที่เข้ามาถือเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นโดยอัตโนมัติ
นายสกุณา วิสิทธิ์รัตนกุล ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ กรมป่าไม้ กล่าวถึง การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยพื้นที่ในตำบลในความรับผิดชอบของเทศบาล หรือท้องถิ่น เราจะมาดูว่าที่ดินไหนเหมาะสมกับการทำประโยชน์แบบไหน ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ที่อนุรักษ์ (ไม่ควรทำประโยชน์เนื่องจากมีพันธ์ไม้หายาก หรือเป็นพื้นที่เสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติบ่อย) ตรงไหนที่เหมาะกับเป็นพื้นที่ป่าแต่สามารถเอื้อต่อการทำประโยชน์ชุมชนได้ ซึ่งในการเอื้อจะต้องมีส่วนร่วมในการดูแลโดยไม่สร้างผลกระทบทางลบต่อทรัพยากรป่าไม้ ในการดำเนินงานของกรมป่าไม้ แผนงานที่สำคัญคือ แผนงงานในการดูแลจัดการควบคุมไฟป่า ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องถ่ายโอนทำงานร่วมกับท้องถิ่นและภาคประชาชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้มีจำนวนน้อยที่จะสามารถเข้าไปดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงเป็นการกระจายอำนาจร่วม แผนกระจายอำนาจ กระบวนการถ่ายโอนอำนาจในการทำงานร่วมและงบประมาณ ที่ดำเนินการแล้วคือ แผนควบคุมไฟป่า และ แผนการอนุรักษ์ป่าไม้ และกฎหมายพรบ.ที่ประกาศขึ้นใหม่เร็วๆนี้ได้แก่ พรบ.ป่าชุมชน โดยให้อำนาจความรับผิดชอบอยู่ในระดับคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัด
ส่วนวัตถุประสงค์ของความร่วมมือการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพื่อ1.ส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงาน หรือการอนุรักษ์ บํารุงรักษา และฟื้นฟู อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน ที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ 2. การปรับปรุง การพัฒนา การส่งเสริมอาชีพหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลและชุมชนที่อยู่อาศัยและทํากินภายในเขตพื้นที่โครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตพื้นที่ชายฝั่งป่าชายเลน และ พ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กําหนดไว้