คนมีก็มีเอา .. และมีเอา ส่วนคนไม่มีก็ไร้แม้แต่เงา จะหาบ้านซุกหัวนอนสักหลังก็ไม่มี และที่แย่กว่านั้นคือที่ดินซึ่งควรจะเป็นทรัพยากรร่วมที่ทุกคนควรได้ ก็ไม่มีให้สำหรับทุกคน ทั้งที่พวกเขาควรจะได้
ชุมชนหาดสวนสุข ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองวาริน เป็นชุมชนริมแม่น้ำมูน ที่ผู้คนอาศัยมาตั้งแต่เมืองอุบลอยู่ในยุคก่อร่างสร้างตัว ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าบรรพบุรุษพวกเขาอพยพมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2411 ซึ่งถ้าเป็นจริงดังว่ามันก็นานมาก นานพอที่รัฐจะมอบเอกสารสิทธิ์ใดๆในอันที่ชาวบ้านผู้ถือครองที่ดินควรได้ แต่กับที่นี่ไม่ใช่อย่างนั้น แม้พวกเขาจะได้ชื่อว่าเป็นชุมชนทำอิฐที่เก่าแก่และอยู่คู่เมืองอุบล แม้ในสมัยเกิดภัยไฟไหม้ใหญ่เมืองอุบลและมีการฟื้นฟูได้รวดเร็วก็ด้วยมือดำๆเล็บแตกๆของพวกเขานี่แหละที่ช่วยสร้าง และถ้าบอกว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ทำไมไปอยู่ใต้สะพานมูน แต่อย่าลืมว่าสะพานมูนเพิ่งสร้างเมื่อปี พ.ศ.2479 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่หลังการอพยพของชาวบ้านหลายสิบปี ความจริงที่สุดกระทั่งวันนี้ พวกเขาก็ยังเป็นชุมชน “บ้านไร้เสียง” แม้พวกเขาจะตะโกนให้ดังแค่ไหนแต่เสียงก็ยังไปไม่ไกลเนื่องจากผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ยอมรับฟัง หรือแม้จะได้ยินแต่ก็ทำเป็นหูทวนลม

ในขณะที่โรงแรมหรู ห้างสรรพสินค้า และอาคารพาณิชย์ ต่างทยอยเกิดขึ้นมากมายจนทับถมพื้นที่เดิม และทำให้น้ำท่วมหนักเพิ่มขึ้นทุกปี คำถามคือกิจการเหล่านั้นเกิดได้อย่างไรมากมาย แต่กับชาวบ้านผู้บุกเบิกป่าดงในแถบนี้ ทำไมกลับยังไร้เสียง และไร้วี่แววแห่งความมั่นคงในที่ดิน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่มีกระจิตกระใจจะหาเงินมาสร้างบ้าน เพราะจะโดนไล่รื้อเมื่อไหร่ก็ไม่แน่

นี่จึงเป็นที่มาของการนิยาม “บ้านไร้เสียง” ที่วันนี้มีความจำเป็นต้องส่งเสียงให้ดังและไกล เพื่อให้เรื่องที่อยู่อาศัยของคนไม่ใช่เรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะในขณะที่คนบางกลุ่มมีคฤหาสน์หรูหลายหลัง แต่อย่าลืมว่ามีคนอีกหลายล้านที่ไม่มีบ้านสักหลัง และไม่มีแม้ความมั่นคงในที่ดิน อันเป็นที่ซึ่งพวกเขาควรได้ตามสิทธิ์ที่พึงเป็น
