สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ปัจจุบันบางชุมชนได้ก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ หลายชุมชนอยู่ระหว่างการก่อสร้างบ้าน บางชุมชนเริ่มมีแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ ตามเป้าหมายการพัฒนา “บ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน” ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สนับสนุนการพัฒนาตนเองของชุมชนริมคลองน่าอยู่ อาทิ การทำข้อมูลอย่างเป็นระบบ การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต การเสริมสร้างสุขภาวะของคนในชุมชน ปรับแนวคิดและมุมองของคนชุมชนริมคลอง มาร่วมกันสร้างคลองสะอาด พัฒนาพื้นที่ริมคลองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งสาธารณะประโยชน์ร่วมกัน จนคลองกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ให้สมกับคำว่า “บ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน” กับ “คลองที่มากกว่าคลอง”
วันนี้(19 ตุลาคม 63) พอช. สสส. และ มรภ.พระนคร ร่วมมือกันจัดเวที เวทีประมวลผลโครงการชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่ ปี 2563 เพื่อเป็นการสรุปผลการดำเนินงานในการสนับสนุนระบบการจัดการชุมชนและสร้างเครือข่ายชุมชนริมคลองในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การออกแบบระบบจัดการชุมชนโดยการนำใช้องค์ความรู้จากสหวิทยาการและภูมิปัญญาของชุมชน รวมไปถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศและมีการนำใช้ข้อมูลในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนและการออกแบบระบบการจัดการของชุมชน เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาชุมชนโดยความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และเครือข่ายขององค์กรชุมชน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนริมคลอง ภายใต้โครงการ “ชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่” โดยได้รับเกียรติจาก นายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการเครือข่ายโครงการชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่ นายวิชล มนัสเอื้อศิริ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารเครือข่ายโครงการฯ นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. นางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รอง ผอ.พอช. นายธนัช นฤพรพงศ์ ผู้ช่วย ผอ.พอช. ตัวแทนจากหน่วยงานภาคีจาก มรภ.พระนคร สสส. กทม. และ แกนนำเครือข่ายชุมชนริมคลองลาดพร้าว เปรมประชากร คลอง10 จาก 17 ชุมชน เข้าร่วมจำนวน กว่า 100 คน ณ โรงแรมมารวยการ์เด้นส์ แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
นายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการบริหารฯ กล่าวว่า “ดีใจที่ได้เห็นพี่น้องมีบ้านเป็นของตัวเอง” การดำเนินโครงการทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เห็นพี่น้องได้มีบ้านเป็นของตนเองไปจนชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งโครงการใกล้หมดระยะเวลาโครงการตามการลงนามความร่วมมือระหว่าง ๓ หน่วยงาน บทบาทของ สสส.เป็นหน่วยงานที่จะต่อเชื่อมการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยการสนับสนุนงบประมาณ โดยมุ่งหวังจะเห็นต้นแบบชุมชนริมคลองที่นอกเหนือจากบ้านและคุณภาพชีวิต คาดหวังที่จะเห็นการบริหารจัดการชุมชนให้มีความเข้มแข็งด้วยชุมชนเอง จากความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กทม. ภาคเอกชน ฯลฯ การพัฒนาชุมชนริมคลอง ยึดศาสตร์ของพระราชา ร.๙ เรื่อง การระเบิดจากข้างใน (การใช้ทุนจากภายใน) หรือ พอช. เรียกว่า การจัดการตนเอง และการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา โดยมีมรภ.พระนครสนับสนุนเรื่องการจัดการข้อมูลและความต้องการของชุมชน นำมาสู่การคิดวิเคราะห์ การมีส่วนร่วม และกำหนดมาเป็นแผนการพัฒนาชุมชน การดำเนินงานจึงสามารถปรับตัวได้ และหากชุมชนมีความเข้มแข็งจะสามารถทำให้การพัฒนาสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง ทันต่อสถานการณ์ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมของชุมชนสามารถพัฒนาปรับตัวได้ทันตามการเปลี่ยนที่เกิดขึ้น เป็นการทำเพื่อชุมชนและทำเพื่อพี่น้องชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณหน่วยงาน สสส. มรภ.พระนคร พอช. และทีมสำนักพัฒนาชุมชนริมคลอง ที่สนับสนุนการทางน และขอขอบคุณพี่น้องชุมชนริมคลองลาดพร้าว ๑๗ ชุมชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ฝากถึงพี่น้องชุมชนริมคลองให้ช่วยพิจารณาประโยชน์ของโครงการและศึกษาแนวทางที่ดีของโครงการเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชนของตนเองต่อไปในอนาคต นายสมพร กล่าวในตอนท้าย
นายธนัช นฤพรพงศ์ ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าวว่า โครงการชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่ เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. มรภ.พระนคร และ พอช. โดยเห็นความสำคัญของการพัฒนาที่มากกว่าบ้าน เริ่มต้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ มุ่งหวังให้พี่น้องต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นแกนหลักในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง โดยโครงการมีกิจกรรมหลัก ๔ กิจกรรม ได้แก่ ๑. การดำเนินงานของชุมชนริมคลองเป็นกลไกของโครงการ ในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ๒. การจัดทำข้อมูล และออกแบบชุมชน UD ให้เหมาะสมกับชุมชน ๓. การจัดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพชุมชน ๔. การสร้างความร่วมมือ (บูรณาการ) และการสื่อสาร เวทีประมวลผลโครงการนี้ เป็นการคืนข้อมูลที่ดำเนินการมากลับสู่ชุมชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งเป้าหมายไว้ว่า ถึงแม้ว่าโครงการจะสิ้นสุดไปตามระยะเวลา แต่ชุมชนริมคลองจะสามารถบริหารชุมชนของตนเองต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง
นางปราณี ชวนสวนแพร ผู้แทนชุมชนกสบ.พัฒนา เขตสายไหม กล่าวว่า เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว ใช้พื้นที่ส่วนกลางนำมาทำเป็นสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้ เมื่อทำบ้านเสร็จ งบประมาณหมด ทำให้พื้นที่ส่วนกลางเป็นที่รกร้าง มีการทำโครงการน่าบ้านน่ามอง แข่งขันกันปลูกต้นไม้หน้าบ้าน มีอาจารย์พี่เลี้ยงมาสอนปลูกผัก ทำสวนผักคนเมือง ทำให้ลดค่าใช้สมาชิกในชุมชน ช่วงสิ้นเดือนสมาชิกเข้าไปเก็บผักนำไปประกอบอาหารในครัวเรือน มีการแบ่งหน้าที่ การช่วยดูแลเวลาหลังเลิกงาน มีเด็กมาช่วยดูแล เด็กเข้ามาเล่นกันในสวนผัก หลังจากทำสวนผักทำให้ลดความขัดแย้งในชุมชน เมื่อเด็กมาเล่นร่วมกันพ่อแม่ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนด้วย ช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการเว้นระยะห่างทางสังคมการเดินทางไปตลาดยุ่งยาก ทำให้เกิดการแบ่งปันผักกันกินในชุมชน “การทำงานที่ผ่านมาทำด้วยใจล้วนๆ เพื่อชุมชน” ในอนาคตอยากให้ เป็นจุดเริ่มต้นของตลาดชุมชน เริ่มมีของขายในชุมชน สวนผักมีบริเวณนั่งทานอาหาร เป็นสถานที่พักผ่อน เรียนรู้การปลูกผักของชุมชนไปด้วย มีมุมถ่ายรูปจุด Check In ที่สวนงามของชุมชน
ทั้งนี้ได้มอบเกียรติบัตรให้กับชุมชนภายใต้โครงการชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่ มีผลการดำเนินงานดีเด่น 7 ด้านได้แก่ (1.) การมีส่วนร่วมดีเด่น ได้แก่ ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ ๕๔ ชุมชนสนามมวยทอ.พัฒนา และสหกรณ์เคหสถานริมคลองพัฒนา จำกัด (2.) การจัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่น ได้แก่ ชุมชนเพิ่มสินร่วมใจ (3.) การจัดสรรพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ส่วนกลางดีเด่น ได้แก่ ชุมชนกสบ.พัฒนา ชุมชนกสบ.สามัคคีร่วมใจ สหกรณ์เลียบคลองสองสามัคคี จำกัด ชุมชนบางบัวกองการภาพ ชุมชนชายคลองบางบัว และชุมชนแก้วนิมิต จ.ปทุมธานี (4.) การพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ดีเด่น ได้แก่ ชุมชนวัดบางบัว ชุมชนหลังวค.จันทรเกษม กลุ่มที่ ๑ ชุมชนหลังวค.จันทรเกษม กลุ่มที่ ๒ และชุมชนพหลโยธิน ๓๒ กลุ่มที่ ๒ (5.) การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนดีเด่น ได้แก่ ชุมชนสะพานไม ๒ (6.) การสร้างความปลอดภัยในชุมชนดีเด่น ได้แก่ ชุมชนกสบ.หมู่ ๕ (7.) การบริหารจัดการโครงการดีเด่น ได้แก่ ชุมชนรุ่นใหม่พัฒนา
ความคืบหน้าคลองลาดพร้าว ในขณะนี้ พอช.ได้สนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ พัฒนาที่อยู่อาศัยไปแล้ว 35 ชุมชน รวม 3,353 ครัวเรือน โดยสร้างบ้านเสร็จแล้ว 2,931 หลัง จากเป้าหมายทั้งหมด 50 ชุมชน รวม 7,069 ครัวเรือน สำหรับคลองเปรมประชากรนั้น มีทั้งหมด 32 ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ และอีก 6 หมู่บ้านในจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน โดย พอช.จะใช้แนวทางดำเนินงานและสนับสนุนชุมชนเช่นเดียวกับคลองลาดพร้าว เริ่มดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักรเป็นชุมชนแรก สร้างบ้านเสร็จแล้ว เกือบ 100% จากทั้งหมด 193 ครัวเรือน และกำรังรื้อย้ายชุมชน หมู่ที่ 7 ตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี จำนวน 98 หลัง และจะก่อสร้างบ้านหลังใหม่ได้ จำนวน 211 หลัง