พอช. / วันนี้ เวลา 08.00 – 12.00 น. พอช.ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค การรถไฟแห่งประเทศไทย เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ และ สอช.จัดเวทีสาธารณะ ในหัวข้อ “การพัฒนาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทำอย่างไรถึงจะได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย” โดยวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีในครั้งนี้ เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหา และรูปธรรมการแก้ปัญหา และโครงการพัฒนาของรัฐต้องคำนึงถึงปะชาชนในพื้นที่เรื่องอะไรบ้าง ในเวทีสาธารณะครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ชั้น 1 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)
ตามที่รัฐบาลมีแผนการพัฒนาระบบขนส่งของไทย 20 ปี โดยการขยายและพัฒนาแผนขยายทางรถไฟ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รวมระยะทาง 4.077.74 กิโลเมตร และเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมสามสนามบิน โครงข่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นทั่วทุกภาค โดยจะมีการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน(Transit-Oriented Development TOD) 177 เมือง ภายใต้งบประมาณการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท การดำเนินการโครงการดังกล่าว จะเกิดผลกระทบต่อชุมชนผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยที่ปัจจุบันอยู่ในแนวทางการพัฒนาเส้นทางรถไฟ รวมถึงสถานีรถไฟ เป็นจำนวนมาก จำเป็นจะต้องมีนโยบายและแผนงานแนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบต่อชุมชนผู้อยู่อาศัยเดิมเหล่านี้ การพัฒนารถไฟสู่ความทันสมัย ควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ชุมชนริมทางรถไฟเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ยากจน ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย นอกจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟแล้วยังจะมีการก่อสร้างสถานีรถไฟทั้งเล็กใหญ่ รวม 444 สถานี กระทบต่อการไล่รื้อ ชุมชนผู้มีรายได้น้อยรวมทั้งสิ้นประมาณ 60,961 หลังคาเรือน (มากกว่า 70,000-80,000 ครัวเรือน)
การก่อสร้างเส้นทางรถไฟระยะที่ 1 รวม และถึงระยะที่สอง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วพบว่า จะมีผู้ได้รับผลกระทบรวมกว่า 24,000 หลังคาเรือน โดยเริ่มการไล่รื้อชุมชนริมทางรถไฟในภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพฯปริมณฑล และภาคใต้ ทั้งด้วยการฟ้องขับไล่การดำเนินคดี เกิดปัญหาต่อชุมชนเป็นอันมาก มีการเสนอค่ารื้อถอนให้เพียงรายละ 1-2 หมื่นบาท และไม่มีแนวทางเลือกในการจัดที่อยู่ให้ใหม่ ที่จะเป็นแนวทางที่ไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนผู้มีรายได้น้อยและมีปัญหาความยากจนเหล่านี้ อย่างใดการที่ชุมชนไม่มีทางเลือก ถูกไล่กระจัดกระจายจะนำไปสู่การบุกรุกในที่อื่นในเมือง หรือห้องเช่าตามยถากรรม และมีความมั่นคงในการอยู่อาศัยที่จะทำให้สามารถสร้างชีวิต สร้างชุมชน สร้างโอกาสในการพัฒนาได้ หากพิจารณาถึงจำนวนผู้จะได้รับผลกระทบจำนวนมาก การพัฒนาเส้นทางรถไฟที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ควรให้ความสำคัญในการสร้างโอกาสและการพัฒนาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ แทนการสร้างความทุกข์และความยากจนให้กับคนจนและชุมชนเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจพัฒนาเป็นความรุนแรงได้ในหลายพื้นที่
เวทีสาธารณะ หัวข้อการเสวนา“การพัฒนาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทำอย่างไรจะได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย”
คุณพรลภัส บัวคลี่ เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.)
คุณพรลภัส บัวคลี่ เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) กล่าวว่า “ตอนนี้ชาวบ้านทุกๆท่าน ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนจากการถูกไล่รื้อ จากการถูกพ่นสี และการขอบัตรประชาชนจากชาวบ้านไป ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำมาหากินในพื้นที่ ชาวบ้านมีความวิตกกังวลว่าถ้าถูกไล่รื้อแล้วตนจะไปอาศัยอยู่ที่ไหน ทำมาหากินอะไร ผลกระทบจากการพัฒนาคมนาคมระบบราง การขยายเขตสนามบิน และการพัฒนาแหล่งธุรกิจ ซึ่งตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ถูกไล่รื้อออกจากที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากิน โดยปัจจุบันได้รับผลกระทบ 3 เขตพื้นที่ ได้แก่ เขตราชเทวี เขตจตุจักร เขตดอนเมือง รวมแล้วเป็น 14 ชุมชน 3,000 กว่าครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเคยมีการเจรจาระหว่างชุมมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดประโยชน์ มีการทำข้อตกลงร่วม โดยเสนอขอแบ่งปันที่ดินและร่วมมกันพัฒนาพื้นที่เพื่อไม่ให้เป็นนแหล่งเสื่อมโทรม ซึ่งแต่ละชุมชนได้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อที่จะพัฒนาชุมชนของตนเองให้ดีขึ้น ปัญหาของชุมชนคือยังไม่รู้ว่าจะได้อาศัยอยู่ที่เดิมหรือต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น จะสามารถขอแบ่งเช่าพื้นที่กับทางการรถไฟได้หรือไม่ ชาวบ้านทุกคนมีความหวังว่าอยากให้ได้ผลประโยชน์แบบ win win ทั้ง สองฝ่าย อย่างที่ท่านผู้ว่าฯกล่าวไว้ ทางชุมชนอยากให้มีการบันทึกข้อตกลงร่วมกัน”
ทองเชื้อ วระชุน เครือข่ายสลัม 4 ภาค “ผู้ผลักดันเพื่อขอเช่าที่ดินการรถไฟฯอย่างถูกต้องตามกฎหมาย”
ทองเชื้อ วระชุน เครือข่ายสลัม 4 ภาค “ผู้ผลักดันเพื่อขอเช่าที่ดินการรถไฟฯอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” “กลุ่มคนจนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาบุกรุกเพื่อทำมาหากินและบุกรุกอยู่ในที่ดินการรถไฟฯเพื่อให้มีกินไปวันต่อวัน ค่าเช่าราคาถูก กับค่าแรงต่อวันที่ได้เพียงวันละ 8 บาท ก็พอที่จะอยู่ได้ และเมื่อมีคนมาอยู่มากขึ้นเรา บางส่วนยังไม่ได้ขอเช่าที่อย่าถูกต้องทางกฎหมายและบุกรุกอยู่อย่างไร้ระเบียบ กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ทางเราจึงรวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และสร้างบ้านในบริเวณที่ดินเดิม แต่มีความสวยงาม มีการขอเช่าที่ดินที่ถูกต้อง ได้รับผลประโยชน์กันทุกฝ่ายจากการกำหนดกติการ่วมกัน สร้างทางเลือก และหาทางออกร่วมกัน เพราะถ้ากระทบกันสถานการณ์จะยืดเยื้อและหาทางออกไม่ได้ อยากให้ชุมชนที่ประสบปัญหาใช้แนวทางเดียวกันกับตนที่เคยผ่านมา”
มณเฑียร อัตถจรรยา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารทรัพย์สิน 2 ผู้แทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
มณเฑียร อัตถจรรยา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารทรัพย์สิน 2 ผู้แทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ผู้ว่าการรถไฟฯได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนในที่ดินของการรถไฟ เพื่อการแก้ไขปัญหาร่วมกันทางการรถไฟ โดย พอช. เป็นคู่สัญญา และชุมชนในนามเครือข่ายสลัม 4 ภาค สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการทำสัญญากับทาง พอช. ซึ่งสัญญาจะมีทั้งแบบสัญญาระยาวและระยะสั้น 3 ปี ซึ่งสัญญาระยะยาว 20 ปี มีผลต่อการขยายกิจการการรถไฟฯในอนาคต ปัจจุบันหลายโครงการมันติดขัดกับพื้นที่ที่เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นไปแล้ว เราต้องมาออกแบบร่วมกัน ซึ่งอัตราค่าเช่าทั้ง 64 สัญญา ตามมติ ครม. ซึ่งเป็นอัตราคนจนนั้น เป็นอัตราค่าเช่าที่ต่ำมาก ๆ ซึ่งหากจะให้กลับไปสู่ราคาค่าเช่าเดิมนั้นต้องนำเรื่องเข้ามติ ครม. ใหม่ ในส่วนของสัญญาที่ทำไปแล้วปรากฏว่า ปัจจุบันมีผู้บุกรุกในสังกัดเครือข่ายสลัม 4 ภาค อยู่ในเขต 3,800 ราย ในกรณีที่เข้าข่ายระเบียบของการรถไฟฯก็จะสามารถเช่าต่อได้”
ปฎิภาณ จุมผา “รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
นายปฎิภาณ จุมผา “รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)” กล่าวว่า พอช. เกิดมาจากโครงการพัฒนาคนจนเมือง คนกลุ่มนี้มีกระบวนการพูดคุยและปรึกษาหารือกัน คนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในเมืองเนื่องด้วยนโยบายพัฒนาประเทศ แต่ไม่มีโอกาสเข้าไปอยู่ในที่ที่มีสิทธิต่าง ๆ รองรับ จึงทำให้เกิดเป็น พชม. แล้วจึงมาเป็น พอช. ที่จะเป็นกลไกของรัฐ แต่เป็นเครื่องมือของประชาชนที่จะใช้ปรึกษาหารือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ที่ผ่านมาในระบบที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ในระบบรถไฟฯปัญหาที่เกิดขึ้นมีทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่ กลุ่มที่ต้องพูดคุยและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่กำลังได้รับผลกระทบ และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบในอนาคต ในฐานะที่ พอช. เป็นกลไกของรัฐและเครื่องมือของประชาชนก็ต้องมีแนวคิดว่าจะต้องแก้ไขปัญหานี้ยังไง เพราะฉะนั้นคนจน คนเล็กคนน้อยจะอยู่ในพื้นที่การรถไฟฯได้อย่างไรอันนี้คือภารกิจที่ต้องทำ และทำอย่างยั่งยืน ซึ่งเรามีเป้าหมายที่อยากจะเห็นคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยทุก ๆ คน ดีขึ้น โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังดังนโยบายของรัฐบาล
ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ “ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบูรณาการภาพสังคมและพื้นที่ (CISR)
ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ “ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบูรณาการภาพสังคมและพื้นที่ (CISR)” กล่าวว่า เรื่องสิทธิชุมชนมันไม่ใช่ภารกิจของการรถไฟ แต่ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการเดินรถหรือที่อยู่อาศัยมันต้องหลอมรวมกันเป็นนิเวศ นิเวศของชุมชนควบคู่กับการเดินรถมันควรจะจัดสมดุลกันยังไง อยากจะชวนมองการจัดนิเวศเรื่องของคุณภาพชีวิตคนที่อาศัยอยู่บนที่ดินรถไฟยังไง ซึ่งต้องมีการพูดคุยและข้อตกลงร่วมกัน ผมคิดว่าการทำ MOU จะทำให้ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้มีระบบการจัดการเกิดขึ้น ไม่ว่าจะปัญหาที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการร่วม ซึ่งผมมองว่า พอช. ไม่ควรจะเป็นคู่สัญญา ซึ่ง พอช. ควรจะตั้งนิติบุคคลขึ้นมา เพราะ พอช. ไม่ได้มีความคล่องตัวในการที่จะมาบริหารจัดการเรื่องนี้ได้ทั้งหมด โดยหลักการมันมี “หน้าที่” กับ “สิทธิ์” และควรที่จะมีกลไกการติดตามอย่างต่อเนื่อง
อัภยุทย์ จันทรพา “กลุ่มปฎิบัติงานคนจนเมือง”
อัภยุทย์ จันทรพา “กลุ่มปฎิบัติงานคนจนเมือง” กล่าวว่า “เรียนถึงการรถไฟฯว่า การรถไฟฯอาจจะคิดว่าภารกิจหลักของการรถไฟฯคือเดินรถทำไมต้องมานั่งแก้ไขปัญหาเรื่องการบุกรุก แต่ว่าเหมือนที่พี่ทองเชื้อพูดว่า คนจนหากอาศัยอย่างอยู่ดีมีสุขในภาคชนบท ไม่มีใครอยากจะเข้ามาลำบากใจในเมือง แล้วแรงงานที่เข้ามาในเมือง รัฐบาลก็ไม่ได้มีนโยบายรองรับเพื่อให้คุณภาพชีวิตคนเหล่านี้ดีขึ้น มันเลยมีความจำเป็นที่ต้องไปอาศัยในที่ดินรัฐต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีวิต คนจนในช่วงปี 2541-2542 จึงได้มีการรวมตัวกัน เพื่อสร้างแนวคิดเพื่อให้ได้อยู่ในพื้นที่รัฐอย่างถูกกฎหมาย และสร้างความเข้าใจร่วมกับเจ้าของที่ดิน จนได้ข้อสรุปว่าจะต้องมีข้อตกลงร่วมกัน เอาปัญหามาคุยกัน เพื่อให้มีการจัดระเบียบ ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางสังคม และปัญหาคุณภาพชีวิตคนจนเมืองได้”
คุณนุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม ๔ ภาค
คุณนุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม ๔ ภาค กล่าวว่า “อยากให้มองว่าเราไม่ใช้ผู้บุกรุก แต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการของรัฐ เพราะฉะนั้นการกระทำอะไรก็แล้วแต่ อยากให้พวกเราได้มีส่วนร่วมด้วย ควรจะกำหนดจากผู้เดือดร้อนที่อยู่ข้างล่างด้วย ไม่ใช่กำหนดแต่จากข้างบน เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อย่างน้อยประชาชนก็ควรจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินเหมือนกัน”
แถลงการณ์เจตนารมณ์ทางออกการแก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย
โดยในช่วงท้ายของเวทีสาธารณะ เครือข่ายสลัม ๔ ภาค การรถไฟแห่งประเทศไทย เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ และ สอช. แถลงการณ์เจตนารมณ์ทางออกการแก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีใจความสำคัญดังนี้ 1.)การรถไฟต้องชะลอการไล่รื้อ เนื่องจากการไล่รื้อบ้านของชาวบ้านไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง 2.)ควรใช้นโยบายตามแนวทางมติบอร์ดปี 2543 ซึ่งการทำ MOU สำคัญเพื่อให้เปิดกว้างในสิทธิการเช่าที่ดินการรถไฟฯ ประโยชน์จะได้ทั้ง 2 ฝ่าย ประชาชนก็จะได้มีที่อยู่อาศัย และรถไฟฯก็จะได้ค่าเช่าและสามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ 3.)อย่ามองคนจนที่บุกรุกว่ามาบุกรุกในพื้นที่ แต่อยากให้มองว่าคนเหล่านี้เป็นผู้บุกเบิกที่เข้ามาทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ อย่าเอาแต่คนรวย อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลังตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ว่าเอาไว้ 4.)ต้องมีการสำรวจร่วมเพื่อให้เกิดการรับรองสิทธิ หลังจากนั้นต้องสร้างกลไกการรับรองสิทธิร่วม และต้องดึงเอาทุกฝ่ายเข้ามาร่วมอยู่ในการทำงาน 5.)การติดตามเรื่องที่ดินที่จะรองรับ รายละเอียดการจัดสรรพื้นที่ให้ประชาชนอยู่อาศัย 6.)การรถไฟฯ ต้องมีเครื่องมือในการรองรับเรื่องนี้ กรณีรถไฟมีที่ดินเช่าจากเอกชน ให้ก่อตั้งกองทุนสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนในพื้นที่รถไฟฯ 7.) การจัดสรรที่ดินต้องสมดุลไปกับนโยบายการพัฒนาของภาครัฐ 8.) ควรจะฟังคนจากฐานรากบ้าง ไม่ใช่ฟังแต่คนข้างบน
ช่วงเปิดแลกเปลี่ยนซักถามจากผู้เข้าร่วมเวที