หากกล่าวถึงการบูรณาการงานพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมแล้ว เรื่องที่ขาดไม่ได้ คือ สภาองค์กรชุมชนตำบล ที่เป็นเครื่องมือให้ชุมชนท้องถิ่นได้ใช้เป็นพื้นที่กลาง เป็นเวทีปรึกษาหารือ ได้ร่วมกันออกแบบการขับเคลื่อนขบวนองค์กรชุมชนในแนวใหม่ ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมที่เรียกว่า “หุ้นส่วนการพัฒนา” เพื่อการออกแบบระบบการบริหารจัดการขบวนภายใต้ยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ซึ่งจะยึดถือเป็นการปฏิบัติร่วมกันทั้งเรื่องการจัดความสัมพันธ์ จัดระบบการทำงานร่วมกับ พอช. รวมถึงหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง
วันนี้(25 กรกฎาคม 2563) สภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดให้มี “เวทีโรมแรงใจ๋..ให่..โคราชหนึ่งเดี๋ยว และกิจกรรมมอบบ้านพอเพียงยุคโควิด-19 การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาและประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับจังหวัด” ทั้ง 32 อำเภอ วัตถุประสงค์หลักๆ เพื่อให้เกิดการสรุปบทเรียนในงานของขบวนองค์กรชุมชน และเป็นการวางทิศทางการขับเคลื่อนงานปี 2563 ของจังหวัดนครราชสีมา โดยใช้หลักการวิเคราะห์สถานการณ์ “การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมาและทิศทาง แนวทางการจัดรูปขบวนไปสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยคณะยุทธศาสตร์จังหวัด ผู้แทนประเด็นงานระดับจังหวัดที่มีสถานะระดับภาค อาทิ กองทุนสวัสดิการชุมชน การจัดการที่ดินแนวใหม่ บ้านมั่นคง เศรษฐกิจและทุนชุมชน ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ที่ปรึกษา นักวิชาการ กองเลขาฯ ผู้แทนภาคประชาสังคม และคณะเจ้าหน้าที่จาก พอช.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำโดยนายสุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการภาคฯ ซึงได้รับเกียรติจาก นายพัลลภ สิงห์ทอง นายอำเภอคง เป็นประธานในพิธี มีผู้เข้าร่วมจำนวนกว่า 800 คน ณ วัดปอบิด ต.คูขาด อ.คง จ.นครราชสีมา
อย่างไรก็ตามความจริงที่ว่านี้ ต้องมองไปให้ลึกสุดซอยว่า “ในท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกใบเดิมแต่ไม่เหมือนเก่านี้ โดยเฉพาะสถานการณ์โรคโควิด-19 การจะรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าวได้ชุมชนต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างพื้นที่ที่ขบวนองค์กรชุมชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาของตนเอง
ส่วนงานที่ประชาชนที่ได้ร่วมมือกันสร้างสรรค์ให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ ทั้งเรื่องการจัดการที่ดิน การใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (อีสานครัวไทย อีสานครัวโลก)ฯลฯ ซึ่งในอนาคตอาจเกิดการแย่งชิงอาหารและทรัพยากรมากขึ้น โดยหลายประเทศต้องการเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนท้องถิ่นจะต้องลุกขึ้นมาจัดการตนเอง โดยใช้ระบบข้อมูลที่เป็นจริงเป็นเครื่องมือสร้างองค์ความรู้เพื่อการจัดการต่างๆ ชุมชนต้องเปิดพื้นที่สร้างการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ในส่วนของ พอช. ก็จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโดยการกระจายการบริหาร เพื่อให้เกิดการกระจายอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันขบวนชุมชนต้องร่วมกันคิดรูปธรรมการกระจายที่เป็นจริง นำสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจอย่างที่แท้จริง”ทั้งหมดนี้จะเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะนำไปสู่ จังหวัดยุทธศาสตร์ “นครราชสีมา”
ที่กล่าวมาข้างต้น “สภาองค์กรชุมชนตำบล เป็นเครื่องมือที่สำคัญ” เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมที่เกิดจากการประสานความร่วมมือ ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานต่างๆ ได้เป็นพื้นที่กลางระบบความคิดเห็น หาทางออกของชุมชนให้ก้าวพ้นความทุกข์ยาก ความยากจน ตลอดจนเป็นเวทีการจัดระบบการจัดการตนเอง ตามเป้าหมายการกระจายอำนาจลงสู่พื้นที่ พร้อมทั้งผนึกพลัง สร้างกลไกที่มาจากหลากหลายเข้ามาหนุนเสริมการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในปี 2563 จังหวัดนครราชสีมาจึงเป็นปีที่มีการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนอย่างแท้จริง