ศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านเชียงใหม่
“คนไร้บ้าน” หรือ “คนเร่ร่อน” เป็นกลุ่มคนที่ถือว่ามีชีวิตยากลำบากที่สุดในสังคม เพราะไร้บ้านและขาดความมั่นคง ในชีวิต อยู่อาศัยไม่เป็นหลักแหล่ง เช่น สวนสาธารณะ ริมทางเดิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่งผู้โดยสาร ใต้สะพานลอย อาคารร้าง ตามที่สาธารณะต่างๆ ดำรงชีพด้วยอาหารแจกตามมูลนิธิ และสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ บางคนก็จะมีอาชีพเก็บของเก่าขายเป็นรายได้ เหล่านี้คือสิ่งที่พอจะนึกได้หากนึกถึงเรื่องราวของคนไร้บ้าน
วันนี้/(24 ก.ค 63) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ร่วมกับ ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรม Hand to Hand | Music for Social Movements ครั้งที่ 3 ภายใต้ชื่อ จากมือถึงมือ : ชีวิตใหม่ของคนไร้บ้าน (Homeless New Life New Live)” โดย มีผู้เข้าร่วมจากเครือข่ายคนไร้บ้าน เครือข่ายบ้านมั่นคง เครือข่ายชุมชนริมคลองลาดร้าว และผู้นำชุมชน จำนวนกว่า 200 คน ซึ่งในงานมีการจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ “จากมือถึงมือ : ชีวิตใหม่ของคนไร้บ้าน (Homeless New Life New Live)” พร้อมกับมีการแสดงดนตรี จากวงนั่งเล่น การแสดงนิททรศการการจัดทำครัวและธนาคารอาหารชุมชน ตลาดนัดสินชุมชนจากบ้านจำรุง และคลองลาดพร้าว ณ ลานชั้น 1 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.
นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นองค์กรของรัฐที่รับใช้พี่น้องประชาชน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีรูปแบบการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง “องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง”
นายปฏิภาณ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทารพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 118.6 ล้านบาท ผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจำนวน 3 แห่ง คือที่ จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพฯ-ปทุมธานี โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม รวมถึงกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวได้ การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ คนไร้บ้านขึ้นมาถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้คนไร้บ้านมีที่พักพิง ไม่ต้องร่อนเร่ หรือไปอาศัยหลับนอนตามใต้สะพานหรือตามที่สาธารณะ เป็นสถานที่ตั้งหลักชีวิต ไม่ว่ามาจากที่ไหน ศูนย์ฟื้นฟูฯ จะทำให้เรามีที่อยู่อาศัย มีข้าวกิน เมื่อท้องอิ่ม ได้หลับนอนอย่างเต็มที่ ก็จะมีพลังความคิดที่จะแก้ไขปัญหา หรือทำมาหากินต่างๆ เพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงดูตัวเอง ไม่ต้องเร่ร่อนอีกต่อไป
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงคนไร้บ้านว่า คือกลุ่มประชากรที่มีสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมอยู่ต่ำสุดของสังคม เป็นกลุ่มคนที่ขาดแคลนปัจจัย 4 โดยเฉพาะในด้านที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกัน ก็ขาดแคลนความมั่นคงทางชีวิตและรายได้ และการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมเหมาะสม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจคือสาเหตุสำคัญหนึ่งในการเข้าสู่ภาวะคนไร้บ้าน ทั้งในแง่ความยากจน ความไม่มั่นคงทางรายได้และการทำงาน รวมถึงการขาดสวัสดิภาพจากการว่างงาน รวมถึงปัจจัยที่เอื้อให้เกิดสภาพไม่เท่าเทียมในสังคม “อย่างประเด็นเรื่องการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยก็มีที่มา ในเมืองมีที่อยู่อาศัย แต่เมื่อเวลาผ่านไปที่อยู่อาศัยมีราคาสูงขึ้น คนจนในเมืองที่ต้องอยู่ในเมืองเพื่อหางานทำก็จ่ายค่าเช่าบ้านไม่ไหว พอจ่ายไม่ได้ส่วนหนึ่งก็เริ่มเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน” คนไร้บ้านใน กทม. ร้อยละ 50 ย้ายถิ่นฐานมาจากต่างจังหวัดเพื่อเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานคร เพราะ กทม.เป็นพื้นที่แห่งโอกาสและมีตำแหน่งงานจำนวนมากเมื่อเทียบกับต่างจังหวัด หากโชคดีก็จะได้งานที่สามารถขยับคุณภาพชีวิตได้ แต่หลายคนอาจประสบกับปัญหาและข้อจำกัดจนไม่สามารถเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยอันมั่นคงได้
นายอนรรฆ กล่าววต่อ มีข้อเสนอหลายประการที่ต้องการช่วยเหลือและแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านถาวรของคนไร้บ้านหน้าใหม่และกลุ่มเปราะบาง เช่น บ้านพักที่เอาไว้รองรับกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มคนที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่พักพิง เป็นบ้านพักที่มีความเหมาะสม เอื้อต่อการยกระดับชีวิต ภายใต้การสนับสนุนในการยกระดับความมั่นคงทางชีวิต เช่น การพัฒนาทักษะด้านแรงงานที่เหมาะสม หรือ การจัดหางานที่เหมาะกับทักษะในรูปแบบต่างๆ
นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน
นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ หรือ ลุงดำ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่า โดยธรรมชาติของคนที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะจะไม่ไว้ใจกันง่ายๆ เพราะพวกเขาต้องป้องกันความเสี่ยงที่จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม หรือคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักมาขโมยของ ส่วนสาเหตุการออกมาเร่ร่อนกลายเป็นคนไร้บ้านนั้น มีหลายสาเหตุ เช่น มีปัญหากับครอบครัว มีโรคประจำตัว ครอบครัวรังเกียจ ตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน ฯลฯ จึงต้องมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ส่วนใหญ่มีรายได้จากการเก็บขยะรีไซเคิลขาย มีปัญหาด้านสุขอนามัย บางคนไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล ฯลฯ
ศูนย์คนไร้บ้านถือว่าเป็นที่ตั้งหลักชีวิต เพราะไม่ว่าเราจะล้มเหลวมาจากที่ไหน แต่ที่นี่ทำให้เรามีที่พักพิง ไม่ต้องเร่ร่อน มีที่ตั้งหลัก ได้คิดทบทวน เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างอนาคตใหม่ มีกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน มีการออมเงินทุกเดือนเพื่อเป็นสวัสดิการเอาไว้ช่วยเหลือกันในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งตอนนี้มีเงินหมื่นกว่าบาท มีการฝึกอาชีพเพื่อให้ทุกคนมีงานทำ เช่น งานก่อสร้าง งานฝีมือ และมีการจัดตั้ง ‘ห้างหุ้นส่วน จำกัด คนไร้บ้าน’ ขึ้นมา เพื่อรับงานต่างๆ เช่น ตัดแต่งต้นไม้ ขนย้ายของ ก่อสร้างบ้าน นอกจากนี้พวกเรายังใช้ศูนย์คนไร้บ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปว่า คนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้”
นายสมพร หารพรม หรือ โด่ง เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.)
นายสมพร หารพรม หรือ โด่ง เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) เล่าว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยเริ่มทำงานเพื่อช่วยเหลือคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน โดยเริ่มต้นตั้งแต่การลงพื้นที่พูดคุยความเป็นอยู่กับคนที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ งานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะเป็นการเข้าไปคุยเพื่อช่วยเหลือ เสียงตอบรับจากคนไร้บ้านกลับมีไม่มากนัก “ตอนที่ลงไปใหม่ๆ เราไม่มีอุปกรณ์อะไรเป็นตัวช่วยเลย เราเข้าไปถามเขามีอาชีพอะไร อยู่ยังไง มาจากไหน เขาก็ไม่ค่อยคุยกับเรา เพราะเขาไม่ไว้ใจ”
การเข้าถึงคนไร้บ้านก็ดีขึ้นตามลำดับๆ การเดินกาแฟมันเป็นตัวกลางที่ให้เรากับคนไร้บ้านได้เปิดใจคุยกัน เราได้ถามไถ่ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน พอเราทำบ่อยๆ เขาก็รู้แล้วว่าเป็นกลุ่มเดินกาแฟ เริ่มติดปาก เพราะเวลาเราลงไปเขาก็จะเห็นพวกเราแล้ว อ๋อ มีกาน้ำร้อน เขาต้องมียา มีกาแฟ มีโอวัลตินให้กิน เขาจะลงมาช่วยเหลือเรานะ ไม่ต้องกลัวเขาหรอก มันก็เลยสื่อสารปากต่อปากจากพี่น้องกลุ่มคนไร้บ้าน” ในตอนหลังการเดินกาแฟของเครือข่ายที่เข้าช่วยเหลือคนไร้บ้าน ไม่ได้มีเพียงเครื่องดื่มหรือยาสามัญเพียงอย่างเดียว แต่มีอาหาร ของใช้ในยามจำเป็นประกอบด้วย แต่คำว่าเดินกาแฟยังคงเป็นสิ่งที่คนไร้บ้านเข้าใจตรงกันในรูปแบบของการเข้ามาช่วยเหลือของเครือข่ายต่างๆ
สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่มีนโยบายสนับสนุนให้คนกักตัวอยู่บ้านและมีมาตรการเคอร์ฟิวเช่นนี้ คนไร้บ้านย่อมได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน “อย่างพี่น้องคนไร้บ้านที่มาอยู่ศูนย์คนไร้บ้านก็ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ โดยปกติเขาไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำกันอยู่แล้ว มีรายได้วันต่อวัน พอเจอสถานการณ์โควิดและมาตรการเคอร์ฟิวของรัฐ ทำให้เขาขาดรายได้ แต่เขายังต้องใช้ชีวิตประจำวันเหมือนเดิม
ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์-วัดหนู ได้จัดทำครัวกลางแจกผู้พักอาศัยภายในและภายนอกศูนย์ แจกวันละ 2 มื้อ มื้อเช้า มื้อเย็น มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนแจกอาหาร หากเหลือจากแจกในศูนย์ก็นำไปแจกในชุมชน ที่ผ่านมามีคนนำอาหาร ผลไม้ ของใช้มาบริจาคที่ศูนย์คนไร้บ้าน
กลุ่มคนไร้บ้านอีกจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามสถานที่สาธารณะ กระจายอยู่ทั่วประเทศ หลายคนไม่มีบัตรประชาชน หรือบัตรประชาชนหาย ทำให้เข้าไม่ถึงบริการจากรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล พอช. จึงได้ร่วมกับสมาคมคนไร้บ้าน สำรวจข้อมูลประชากรคนไร้บ้านในเขตเทศบาลทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 45 จังหวัด ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า มีคนไร้บ้านทั่วประเทศจำนวน 2,669 คน ซึ่งข้อมูลที่ได้นี้จะนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหากลุ่มคนไร้บ้านต่อไป นายสมพร กล่าวในตอนท้าย
วงนั่งเล่น
หลังจากเวทีสานเสวนาฯได้จบลง ได้มีการแสดงดนตรี จากวงนั่งเล่น ซึ่งเป็นวงดนตรีที่เกิดขึ้นมาจากการชวนกันมาทำเพลงเล่นๆ เอาสนุกของสมาชิกวง แต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือ บรรดาสมาชิกทั้งหมดของวง ล้วนเป็นบุคคลที่คนในวงการดนตรีต่างยกให้เป็นครู เพราะทุกคนในวงนั่งเล่นเป็นบุคคลสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลัง และสร้างสรรค์บทเพลงอมตะจำนวนมากตั้งแต่ยุค 80 เป็นต้นมา โดยที่เรายังคงได้ยิน และร้องตามได้ถึงวันนี้ สำหรับกิจกรรม “จากมือถึงมือ ครั้งที่3 : ชีวิตใหม่ของคนไร้บ้าน (Homeless New Life New Live) ในครั้งนี้ได้ ถ่ายทอดสดผ่าน FB live The Active ของ ThaiPBS