ขอนแก่น/ 25 มิถุนายน 2563 คณะอนุกรรมการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกิจกรรม “ครัวชุมชนรวมคนร่วมใจ” ให้กำลังใจพี่น้องชุมชนเมืองที่รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ณ ชุมชนเหล่านาดี 12 อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ให้เกียรติจากมาร่วมกิจกรรมครัวชุมชนรวมคนร่วมใจในครั้งนี้ด้วย
“ครัวชุมชน รวมคน ร่วมใจ” เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อขบวนองค์กรชุมชนทั้งเมืองและชนบท ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน คนจนผู้มีรายได้น้อยเดือดร้อนมากขึ้น ไม่สามารถประกอบอาชีพปกติได้ ตกงาน ถูกพักงาน ไม่มีรายได้หรือรายได้น้อยลง ไม่มีเงินซื้อข้าวใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน การชำระหนี้ รวมทั้งหนี้สินด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย ตลอดจนสุขภาพกายและใจเกิดสภาวะตึงเครียดในครัวเรือน มชนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือและรับบริการจากภาครัฐ
โดยช่วงแรกเริ่มต้นจากการใช้ทุนชุมชนหรือทุนภายในเครือข่าย แต่เนื่องจากผลกระทบค่อนข้างต่อเนื่องยาวนาน ทุนภายในอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องรับงบประมาณหนุนเสริมการทำงานของเครือข่ายองค์กรชุมชนสักระยะหนึ่งในการเตรียมความพร้อมของพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีความหนาแน่น มีปริมาณผู้เดือดร้อน ตกหล่นค่อนข้างมาก ควบคู่กับการวางแผนพัฒนาระยะต่อไป ซึ่งสอดรับนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการคลี่คลายความเดือดร้อนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
ซึ่งโครงการครัวชุมชนรวมคน ร่วมใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ให้เกิดการต่อยอดขยายผลการช่วยเหลือผู้ที่ตกขอบยากลำบาก กลุ่มเปราะบางในเมือง มีปริมาณผู้เดือดร้อนที่ยังไม่สามารถตั้งตัวได้ช่วงภายหลังวิกฤตโควิด 19 2) เพื่อเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูชุมชน/เครือข่ายองค์กรชุมชนและเตรียมความพร้อมเมืองที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยูอาศัยคนจนในการแก้ไขปัญหาระยะต่อไป 3) เพื่อสร้างการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานและภาคีในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน 4) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากผลกระทบโควิด 19
โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองทั่วประเทศ งบประมาณสนับสนุนจำนวน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินการเดือนมิถุนายน 2563 โดยมีคณะทำงานกลางทำหน้าที่พิจารณาโครงการและงบประมาณเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนาย 2563
ทั้งนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการครัวชุมชนฯ จำนวน 3 เมือง ได้แก่ 1) เครือข่ายชุมชนเมืองอุดรธานี จำนวน 337,000 บาท 2) เครือข่ายชุมชนเมืองอุบลราชนี จำนวน 225,120 บาท (นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.ลงตรวจราชการ จ.อุบลราชธานี ได้มอบงบประมาณเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563) 3) เครือข่ายชุมชนเมืองนครขอนแก่น จำนวน 450,000 บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาท)
โครงการครัวชุมชนฯ โดยเครือข่ายชุมชนเมืองขอนแก่นเราไม่ทิ้งกัน จังหวัดขอนแก่น เกิดจากความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงาน ได้แก่ สภาองค์กรชุมชนเทศบาลนครขอนแก่น มูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมขับเคลื่อนกองทุน CSR ชุมชนเมืองขอนแก่น (ช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางในขอนแก่น) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อ 1) ดูแลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในชุมชน 2) สร้างพื้นที่ความมั่นคงด้านอาหารให้ผู้ได้รับผลกระทบ 3) เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชน สภาองค์กรชุมชนและหน่วยงานภาคีภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ครอบคลุมทุกมิติและเกิดความยั่งยืน
การดำเนินงานโดยเครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองนครขอนแก่น ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 85 ชุมชน (5,000 ครัวเรือน) โดยแบ่งพื้นที่การทำครัวชุมชนเป็น 6 โซน แต่ละโซนมีคณะกรรมการบริหารจัดการ ได้แก่ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายเตรียมการและฝ่ายบริการ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. จำนวน 450,000 บาท (ฐานคิด 15,000 กล่อง x 30 บาท) (โซนละ 75,000) มูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้า สนับสนุนจำนวน 60,000 บาท (โซนละ 10,000) บริษัท CP สนับสนุนอาหารแห้งมูลค่า จำนวน 150,000 บาท และล่าสุดครัวชุมชนได้รับการสนับสนุนจาก MK จำนวน 9 แห่งทั่วประเทศ โดยภาคอีสานได้รับการสนับสนุนทั้ง 3 จังหวัด