เมื่อปี 2560 สภาองค์กรชุมชนตำบลชะอวด ได้ร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช จนเกิดเป็นกลุ่ม เครือข่ายจิตอาสา ในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ปี 2561 ที่ผ่านมา ปรากฎว่าฝนตกทิ้งช่วง เกิดภัยแล้งหนัก น้ำเกือบไม่พอใช้ น้ำไม่ได้รับการถ่ายเท น้ำในคลองที่เคยใช้ได้กลับใช้ไม่ได้เพราะมีค่าความเป็นกรดสูง ค่าออกซิเจนไม่ถึง 0.2 กรณีป่าพรุ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เมื่อภัยแล้งเกิดขึ้น น้ำในป่าพรุถูกนำไปใช้ในการทำนาจนหมด เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ป่าพรุจึงทำให้ไม่สามารถนำน้ำไปดับไฟได้ทันท่วงที
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลชะอวด ได้ประชุมหารือร่วมกันดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมอาชีพ การดูแลรักษาป่าพรุ รวมถึงการศึกษาเรียนรู้ เรื่องธนาคารน้ำใต้ดิน ผ่านช่องทาง social media google ได้เชิญวิทยากรมาให้ความรู้กับพี่น้องในตำบลชะอวด ตกลงร่วมกันว่าจะทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง
นายบุญโชค นิ่มหนู ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า หลักการของธนาคารน้ำใต้ดิน คือ การกักเก็บน้ำไว้ใต้ดินและนำกลับมาใช้เมื่อเกิดภัยแล้ง เป็นที่ทราบกันว่าน้ำฝนจำนวนมหาศาลเมื่อตกลงมาจะไหลลงทะเลจนหมด พอฝนทิ้งช่วงหนักๆ ทำให้เกิดความแห้งแล้ง หากนำน้ำฝนที่ตกลงมากักเก็บไว้ใต้พื้นดินจะเป็นการคืนน้ำให้กับธรรมชาติ ส่วนมากเราจะนำน้ำจากธรรมชาติมาใช้ เราต้องคืนน้ำให้กับธรรมชาติก่อน ก่อนที่จะนำน้ำจากธรรมชาติมาใช้
ธนาคารน้ำใต้ดินมี 2 แบบ ได้แก่ 1) แบบปิด สามารถทำได้ในบ้าน ตามชายคาบ้าน เวลาฝนตกลงมาน้ำจะซึมลงไปในดินเลย ขนาดของบ่อ กว้างยาว 1 เมตร x 1 เมตร X ลึก 1.50 เมตร 50 ใช้เศษวัสดุ หิน เศษอิฐ ใส่ท่อเพื่อให้มีอากาศต้องมีท่อให้มีอากาศด้วย เพราะน้ำจะลงไปแทนที่อากาศ และความชุ่มชื้นจะเกิดขึ้น
2) แบบเปิด ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก ขนาดเล็กสุด ประมาณ 8 เมตร X 20 เมตร ขุดลึกประมาณ 7-10 เมตร ให้ถึงชั้นหินดินดาน หินซับน้ำ (ซึ่งแถวบ้านพักอาศัยจะไม่มี) ต้องขุดให้เจอหินทรายหยาบ ใช้พื้นที่เยอะเพื่อนำน้ำจากด้านบนเติมลงไปข้างล่าง หินชั้นทรายหยาบน้ำจะซึมลงไปได้
ทั้งนี้ ทางศูนย์แพทย์วิถีธรรม (ดร.ใจเพชร กล้าจน หมอเขียว) ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการและใช้พื้นที่จัดทำเป็นพื้นที่เรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน ได้อธิบายเกี่ยวกับการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน “บารายคัลเจอร์” Baray Culture ทำเป็นการทำจุดปลูกพืชที่รดน้ำครั้งเดียวอยู่ได้ 1-4 สัปดาห์ ประหยัดน้ำได้มาก วิธีทำ บารายคัลเจอร์ (แบบง่าย) มี 14 ขั้นตอน ดังนี้ (ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก YouTube ธนาคารน้ำใต้ดิน ศูนย์แพทย์วิถีธรรม)
1) ขุดหลุมทรงกระบอกกว้าง 2-3 ฟุต ลึก 1-2 ฟุต (สามารถปรับได้ตามที่ต้องการ)
2) รองก้นหลุม ด้วยหิน กรวด หรือเศษอิฐ เพื่อกันทรุดและเก็บน้ำหนาราว 1 คืบ
3) นำภาชนะที่รองรับน้ำได้ เช่น ขวด ขัน กะละมะพร้าว โอ่งแตก จานชามที่แตก (ให้หงายขึ้น)
*หากเป็นขวดให้ตัดเป็น 2 ท่อนจากนั้นใส่อินทรียวัตถุ (ใช้ได้ทั้งอินทรียวัตถุแบบแห้งแบบสด) เข้าไปในขวด ให้อินทรียวัตถุล้นออกมานอกขวด เพื่อจะเป็นตัว ซับน้ำ อุ้มน้ำ ดูดน้ำ (เปรียบเหมือนไส้ตะเกียงไปเลี้ยงต้นไม้) หากมีหิน ก็ให้ใส่แทรกลงไป หินช่วยเก็บน้ำ (อาจรดน้ำในตอนนี้ก็ได้) *ถ้าไม่มีไม่ต้องใช้ หากมีจะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ
4) ใส่อินทรียวัตถุ ใช้ได้ทั้งแบบแห้งและแบบสด)หนา 1-2 ฟุต
5) ใส่ดินดีหนาราว 1 คืบ
6) ปลูกต้นไม้ได้ทันที (ปกติการหมักขยะ พืชสด ต้องใช้เวลา 1 เดือนขึ้นไป จนกว่าดินจะเย็นจึงจะปลูกพืชได้โดยที่พืชไม่ตาย)
7) หากมีหินให้วางหินลงบนดิน วางให้ทั่วๆ หิน ทำให้ร้อนเย็นสมดุล ทำให้น้ำและอากาศไหลขึ้นลงได้ดี และป้องกันการพังทลายของดิน กลางคืนหินจะระบายความร้อนออกมา ดินจะอุ่น พืชจะงามเร็วกว่าปกติ การใส่หินแทรกกับดิน วัตถุต่างๆ หากได้ร้อนเย็นพอเหมาะจะไม่พังง่าย
8) หากมีกิ่งไม้ให้ปักลงไปตรงกลาง และรอบๆกองฯ ราว 4-5 กิ่ง จากนั้นควงไม้เพื่อให้ดินโปร่ง (ทำครั้งเดียวตอนปลูกครั้งแรก)
9) หากมีอินทรียวัตถุให้ใส่คลุมดิน (ห่มดินให้ชุ่มชื้น) แล้วแหวกปลูกได้เลย แต่หากไม่มีก็ไม่ต้องใส่สามารถปลูกได้ทันที
10) รอบๆ กองภูเขาน้อย ขุดเป็นร่อง และใส่หิน เศษอิฐ กะละมะพร้าว ขอนไม้ เพื่อโอบ-พยุงภูเขาไม่ให้ทรุด และเป็นทางให้น้ำไหลลงหลุมได้สะดวก
11) ตรงทางเดินให้ทำเป็นหลังเต่าเพื่อน้ำจะได้ไม่ขังทางเดินและทำเป็นสโลบ คือ ลาดเอียงมาทางหลุม เพื่อให้น้ำไหลลงหลุมได้สะดวก
12) หากมีวัชพืชขึ้น เช่น หญ้า ก็ถอนแล้วนำมาใส่เป็นปุ๋ยบนได้เลย
13) สามารถใส่เศษอาหารต่างๆ หรือ ปุ๋ยอินทรีย์ หรือจุลินทรีย์ หรือปุ๋ยยูเรีย ได้ตามต้องการ
14) รดน้ำให้ทั่ว ๆ ให้ชุ่มชื้นที่สุด พืชจะงอกงามดีอีกนาน ราว 1-4 สัปดาห์ (ตามสภาพของพืช) จึงรดน้ำใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ สภาองค์กรชุมชนตำบลระโนด องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์แพทย์วิถีธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน แบบปิดจำนวน 100 จุด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลชะอวด และแบบเปิดอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้แก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยใช้นวัตกรรมชุมชน ธนาคารน้ำใต้ดิน บารายคัลเจอร์ Baray Culture นั่นเอง
ผู้เขียน สมจิตร จันทร์เพ็ญ