จังหวัดสุราษฎร์ธานี / ตำบลน้ำพุ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นตำบลที่แยกออกจากตำบลท่าชี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอบ้านนาสารและได้มีการแบ่งการปกครองส่วนท้องที่เป็น 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 บ้านยางอุง ซึ่งมีนายสุนทร เกษมณี เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 บ้านน้ำพุ ซึ่งมีนายเจริญศักดิ์ ไทยเกิด เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 บ้านนายาว – ดอนสร้อยทอง ซึ่งมีนายศราวุธ ดอนสร้อยทอง เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 บ้านดอนทราย ซึ่งมีนายสงคราม บัวทอง เป็นกำนันตำบลน้ำพุ หมู่ที่ 5 บ้านหนองต้อ ซึ่งมีนายสุรชัย เพชรชิต เป็นผู้ใหญ่บ้าน และหมู่ที่ 6 บ้านควนใหม่ ซึ่งมีนายเสกสรร ไทยเสน เป็นผู้ใหญ่บ้าน ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ของบ้านดอนทราย โดยมีนายสงคราม บัวทอง เป็นกำนัน
นายศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ อดีตอนุกรรมการภาคและระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน ผู้ให้สัมภาษณ์และให้ข้อมูล
จากวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนในตำบลน้ำพุที่ผ่านมา มีความเป็นอยู่กับธรรมชาติ และในพื้นที่ยังมีการปลูกไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “กระท่อม” ชาวบ้านที่นี่มีความเชื่อกันว่า เมื่อรับประทานแล้วจะช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้ ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิต แก้ท้องร่วง ปวดท้อง พยาธิ โรคริดสีดวงทวารหนัก ต้านซาง ไอเรื้อรัง และบำรุงโลหิตจาง ฯลฯ อีกทั้งพืชชนิดนี้ยังช่วยรักษาแหล่งต้นน้ำ ให้คนได้อยู่ร่วมกับป่า และยังสามารถนำมาใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ ของภาคใต้ อาทิเช่น พิธีการตีเหล็ก เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงพืชชนิดนี้ไม่สามารถปลูกได้อย่างเสรี เนื่องจากผิดกฎหมายต้องรับโทษ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถปลูก ครอบครอง และจำหน่ายได้ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มองว่า พืชกระท่อม เป็นพืชที่คุณประโยชน์มากมาย จึงได้มีการหาวิธีการและแนวทางการปลดล็อกพืชกระท่อม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย กำนันผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จำนวนกว่า 15 คน จัดทำฐานข้อมูล สำรวจพื้นที่ปลูกกระท่อมตามครัวเรือนใช้แผนที่ทำมือ จัดเวทีรับฟังความเห็นร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ภาคประชาคม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สถานีตำรวจภูธร และสถาบันอุดมศึกษา ทั้งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยได้มีการทำวิจัยถึงผลกระทบ ศึกษาคุณประโยชน์ และการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม และมีการคืนข้อมูลสู่ภาคประชาชน อีกทั้งยังมีการจัดทำร่างธรรมนูญ เพื่อการควบคุมพืชกระท่อมและสร้างชุมชนเข้มแข็งปลอดยาเสพติดพืชกระท่อมพื้นที่ตำบลน้ำพุ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้น เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันในชุมชน โดยมีการประกาศเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ในเวทีประชาคมตำบลน้ำพุ โดยในหมวดที่ 4 การคงไว้ของพืชกระท่อมในพื้นที่ ตามฉันทามติที่ประชุมประชาคมของ 6 หมู่บ้านให้มีการปลูกพืชกระท่อมได้ครัวเรือนละไม่เกิน 3 ต้น หากครัวเรือนใดเกิน 3 ต้น ให้มีการโค่นให้เหลือเพียง 3 ต้น ซึ่งคณะทำงานจะพิจารณาต้นที่ควรโค่นทิ้งออกไป ส่วนครัวเรือนใดปลูกเพียง 2 ต้น ก็ให้คงไว้แค่ 2 ต้นเท่านั้น ไม่ต้องปลูกเพิ่ม เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ และต้นที่ปลูกจะมีการติด QR Code ทุกต้น ซึ่งจะมีรหัส 13 หลักติดอยู่ อาทิเช่น 8412009030246 โดยรหัสดังกล่าวจะมีความหมายตามลำดับ คือ 84120 หมายถึง เลขรหัสไปรษณีย์อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี 09 หมายถึง รหัสวิจัย 03 หมายถึง หมู่ที่ปลูกพืชกระท่อม และ 0246 หมายถึง เลขจำนวนต้นของหมู่บ้านที่ปลูกพืชกระท่อม
ต่อมา คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษคัดเลือกได้คัดเลือกให้ตำบลน้ำพุ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่นำร่องการควบคุมพืชกระท่อม ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งพืชกระท่อมในพื้นที่โครงการวิจัยยังคงมีสถานะเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แต่อนุโลมให้สามารถเคี้ยวดื่มน้ำได้เท่านั้น ห้ามปลูกเพิ่ม ห้ามมีการพกพา รวมถึงห้ามแปรรูปและจำหน่ายจ่ายแจก อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดำเนินการเพื่อกำหนดพื้นที่ประกาศอนุญาตให้ครอบครองและเสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 58/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 และเร่งเสนอร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเสพและการครอบครองพืชกระท่อมโดยไม่เป็นความผิดในพื้นที่ประกาศดังกล่าว โดยเป็นอำนาจของตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ครอบครองและใช้พืชกระท่อมได้ และในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา คณะทำงานได้เสนอแนวทางควบคุมเพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการปรับแก้กฎหมายยาเสพติด รวมทั้งพื้นที่ชุมชนตำบลน้ำพุได้มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ประการหลัก คือ 1) ให้พืชกระท่อมอยู่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นได้ 2) ให้มีการปลดล็อกพืชกระท่อม ตามวิธีบ้านดอนทรายโมเดล และ 3) ให้มีพื้นที่การปลูกพืชกระท่อมมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลพื้นที่รูปธรรมสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำพุ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในครั้งนี้ พบว่า ตำบลน้ำพุเป็นตำบลที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสูง มีพื้นที่ราบลุ่ม ดิน น้ำ อากาศดี เหมาะสมกับการทำการเกษตร ซึ่งพืชที่มีการปลูกเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคใต้ คือ ยางพารา ปาล์ม และผลไม้ต่างๆ อาทิเช่น เงาะ ซึ่งเป็นผลไม้ประจำถิ่นบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงฤดูผลไม้ออกก็จะสร้างผลผลิตทางการเกษตรให้คนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก มีการส่งออกขึ้นเหนือล่องใต้ สร้างรายได้ให้คนภายในพื้นที่ชุมชน และในอนาคตหากปลดล็อกพืชกระท่อมได้ พืชชนิดนี้อาจทำรายได้ในชุมชนท้องถิ่น และเป็นยารักษาโรคที่แพทย์หรือคนในชุมชนสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้อย่างแท้จริง
CR.ภัทรา สุขเกษม
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชน
#เรื่องดีดีที่ชุมชน #20ปีพอชพลังองค์กรชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน #สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน