พัทลุง / พื้นที่ศึกษาเรียนรู้กระบวนการก่อเกิดเครือข่ายสินธุ์แพรทอง และการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายฯ ที่นำไปสู่ชุมชนจัดการตนเองอย่างแท้จริงและมีรูปธรรม ของพื้นที่ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีจำนวนประชากรในตำบลกว่า 7,000 กว่าคน จำนวน 9 กลุ่มออมทรัพย์ 15 กลุ่มองค์กร
เมื่อได้เข้าไปยังพื้นที่ตำบลลำสินธุ์ ก็ได้พบกับบรรยากาศยามเช้าของการขายสินค้าของตลาดชุมชนทุกวันอาทิตย์ มีความร่มรื่นของต้นไม้ ทั้งไม้ยืนต้น และสมุนไพรนับร้อยชนิด พบกับนายอุทัย บุญดำ หรือ พี่เล็ก ประธานเครือข่ายสินธุ์แพรทอง ในวัย 62 ปี ยืนรอต้อนรับ และได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องราว ที่มา ก่อนจะมาเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในทุกวันนี้
ที่มาของชื่อเครือข่าย มาจากคำ 2 คำ มารวมกัน คือ “สินธุ์ “มาจากตำบล ลำสินธุ์ ส่วนคำว่า “แพรทอง” มาจากชื่อของ น้ำตกแพรทอง ซึ่งพี่เล็ก ประธานเครือข่ายฯ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในอดีต อันเป็นประวัติศาสตร์ของชุมชนลำสินธุ์ที่มีคุณค่าและควรที่ลูกหลานจะระลึกนึกถึง
จากเหตุการณ์ “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐกระทำต่อชาวบ้านในเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง ทำให้มีผู้เสียชีวิต จำนวนกว่า 3,000 คนด้วยวิธีการที่โหดร้ายรุนแรง นอกกฎหมาย ถีบลงเขาบ้าง ทรมานร่างกายบ้าง เผาทั้งเป็นด้วยน้ำมัน 20 ลิตรบ้าง ส่งผลให้ชาวบ้านดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบาก เกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าเข้าไปทำสวน ทำไร่ในเขตป่า ในช่วงทศวรรษ 2510 ซึ่งเหตุการณ์ได้ดำเนินมาจนนำไปสู่่นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ คำสั่งที่ 66/23 เมื่อปี 2523 และต่อมาในปี 2534. รัฐได้เข้ามาช่วยเหลือเยียวยา ด้วยการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ เช่น กรมพัฒนาชุมชนได้เข้ามาพัฒนาในชุมชน จัดตั้ง”กลุ่มออมทรัพย์”ขึ้น และกลายมาเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของชุมชนที่ต้องรักษาไว้ในเวลาต่อมา
ประกอบกับในปี 2544 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้สนับสนุนงบประมาณให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาคใต้ ขึ้น และสนับสนุนให้มีการสร้างองค์กรชุมชนในลักษณะของเครือข่าย จึงกลายมาเป็น “เครือข่ายสินธุ์แพรทอง” ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาทั้งในรูปแบบเครือข่าย โดยมีการจัดประชุมเสนอปัญหาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งการเรียนรู้กระบวนการจัดทำแผนของชุมชนเป็นปีๆ จนทำให้เกิดครื่องมือสำคัญ คือ แผนยุทธศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2544 เรื่อยมาจนถึงปี 2562 มาใช้จนทำให้ชุมชนเข้าใจถึงแก่นแท้ของความเป็นเครือข่ายฯ และเกิดความเข้มแข็งขึ้นในที่สุด
ผลที่ได้จากกระบวนการก่อนจะเกิดเป็นแผนฯ ซึ่งพี่เล็ก ประธานเครือข่ายฯ เล่าอย่างมีรอยยิ้มและภาคภูมิใจว่า ผลดี คือ ทำให้ชุมชนได้เห็นถึงแผนรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน เกิดกระบวนการที่เรียกว่า “กาวิเคราะห์ชุมชน” ซึ่งทำให้ชุมชนเองได้รู้ข้อมูลที่แท้จริงได้ว่า
1) จุดอ่อน/ปัญหาของชุมชนที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ คือ ชุมชนเป็นหนี้สิน ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนกำลังถูกทำลาย ปัญหาเรื่องสิทธิ์ที่ดินทำกิน
2) จุดแข็ง คือ ชุมชนมีทรัพยากร เช่น สวนยาง สวนกล้วยไข่ ที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมาย เช่น กล้วยไข่กรอบแก้ว กล้วยฉาบเมืองลุง กล้วยทอด ฯลฯ พืชสมุนไพรที่นำมาเป็นสินค้า เช่น นำ้ชุบพรก ซึ่งเป็นสินค้าเด่นของชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผู้นำที่เข้มแข็ง แถว 1 แถว 2 ที่ทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
3) โอกาส คือ หน่วยงานของรัฐ เช่น กรมพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ให้การสนับสนุนและพัฒนาออกแบบสินค้าชุมชน. กรมวิชาการเกษตรส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย และรับรองแปลงเกษตรกร ทำให้สินค้าชุมชนส่งออกไปขายยังไต้หวันได้
4) อุปสรรค คือ สินค้าการเกษตรขายไม่ได้ราคาและไม่มีช่องทางการตลาด
ชุมชนจึงมาตั้งธงร่วมกันว่า ชุมชนเราอยากเห็นอะไร จึงที่มาของแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่เน้นเรื่อง การสร้างความมั่งคงในชีวิตและทรัพย์สิน เครือข่ายฯ จึงสนับสนุนให้ชุมชนปลูกสมุนไพรเพื่อนำไปทำเครื่องแกง การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์และสมดุล จึงทำให้พื้นที่พบนกที่หายากหลายชนิดมากขึ้น สามารถนำไปขยายต่อสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นที่มาของคำว่า “นกเลี้ยงชุมชน” ตามคำบอกเล่าของพี่เล็ก และเกิดรูปธรรมต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ศูนย์กระจายสินค้า Farm shop กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ธารน้ำใส” การรวบรวมน้ำยางส่งขาย บางสินค้าชุมชนตั้งราคาเองได้
สุดท้ายนี้ พี่เล็ก ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงกุญแจสำคัญที่ทำให้เครือข่ายฯและชุมชนประสบผลสำเร็จของการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ว่า เมื่อพูดถึงความสำเร็จของเครือข่ายสินธุ์แพรทองอยู่ตรงไหน พี่เล็กกล่าวว่า
“ความสำเร็จ คือ ชุมชนพึ่งตนเองได้ นี่คือ ความสำเร็จ”
“การวิเคราะห์ปัญหา ต้องดูให้ครอบคลุม รอบทิศ รอบด้าน เสมือนการดูหมากรุกทั้งกระดาน รวมถึงวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย
“การผูกมิตร อย่าคิดว่าหน่วยงานรัฐเป็นศัตรู”
“รบนายไม่หายจน ( ถ้าจะรบก็ต้องรบด้วยสติปัญญา และเอาชนะที่ข้อมูล ) ถ้าจะแก้ปัญหา ไม่เข้านายก็ต้องไปหาเจ้า แทน”
“หยิ่งในศักดิ์ศรีแห่งความจน” มองว่า หน่วยงานรัฐเป็นหุ้นส่วน
จนทุกวันนี้ จึงทำให้เครือข่ายสินธุ์แพรทอง เป็นที่ประจักษ์ของคนทั่วไป รวมถึงหน่วยของรัฐ สถาบันการศึกษา มากมายสนใจมาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ถึงความเป็นเครือข่ายที่เป็นที่ยอมรับและชื่นชม จากการไม่ขอรับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ
ผู้เล่าเรื่องราว. นายอุทัย บุญดำ
ผู้เรียบเรียง สุภัคจิรา อินสว่าง
สถานที่ ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง
#เรื่องดีดีที่ชุมชน #20ปีพอชพลังองค์กรชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน #สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน