ระหว่างวันที่ 12 – 13 มีนาคม 2563 นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล ผู้อำนวยการสำนักงานภาคฯ หรือประธานคณะทำงานพัฒนาและกลั่นกรองโครงการบ้านมั่นคงชนบท นำคณะทำงาน เจ้าหน้าที่สำนักบ้านมั่นคงและที่ดิน และสำนักงานภาคส่วนต่างๆ ลงพื้นที่จังหวัดเลย เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยในเขตป่าฯ อุทยาน ก่อนการประชุมพิจารณาโครงการ ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน
โดยวันที่ 12 มี.ค. เริ่มต้นลงพื้นที่ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชภูหลวง ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานที่ดินในเขตป่าฯ โดยตำบลท่าศาลาประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน บนเนื้อที่ 8 หมื่นกว่าไร่ 600 กว่าครัวเรือน ซึ่งกำลังประสบปัญหาของการรุกคืบเข้ามาของการประกาศพรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยทุกพื้นที่ต้องเร่งรัดส่งผลการสำรวจข้อมูล เพื่อเสนอคณะทำงานฯภายใน 240 วัน (วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 หลังจากนั้นจะไม่ให้มีการสำรวจอีก) และปัญหาการบุกรุกทำลายพื้นที่ทำกินของชุมชนจากช้างป่า ส่งผลต่อพืชผลทาการเกษตร ซึ่งเคยมีแนวพื้นที่นำร่องในการปลูกไผ่กันช้างแต่ก็หายไป ทางคณะจึงได้แลกเปลี่ยนแนวการทำงานกับเจ้าหน้าที่ คนทำงานในพื้นที่ ถึงกระบวนการสำรวจข้อมูล รับรองข้อมูล ที่จะทำให้ “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้” กระบวนการนำส่งข้อมูลที่จะให้ทันภายใน 240 วัน การจัดทำรายละเอียดข้อมูล/แผนที่/แผนผัง โดยเฉพาะ “ผังชีวิต แผนตำบล การพัฒนาทุกมิติ” ได้ โดยไม่ต้องรีรอให้มีมติคำสั่งประกาศใช้ โดยเสนอให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างในการนำเสนอทางออก “การรักษาป่า ดิน น้ำ และช้างป่าให้กับประเทศชาติ โดยชุมชนคนท่าศาลา” เพื่อเจรจาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
หลังจากนั้น คณะได้เดินทางไปเรียนรู้ต่อที่ตำบลด่านซ้าย โดยมีนางสนอง รวยสูงเนิน ขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน นายชัยวิภณท์ ตังกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคอีสาน นำคณะลงพื้นที่พบปะกับพี่น้องตำบลด่านซ้าย เพื่อเติมเต็มความเข้าใจการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งคนตำบลด่านซ้าย ถือเป็นกลุ่มคนที่รวมกลุ่มลุกขึ้นมาขับเคลื่อนนงานที่ดิน ที่อยู่อาศัยทั้งตำบล โดยที่มาที่ไปของการรวมกลุ่มลุกขึ้นมาเกิดจากการส่งเสริมจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน เมื่อช่วงปี 2552/52 เพื่อลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับคนยากจน ไร้เอกสารสิทธิ์ในการยืนยันตนเอง และสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งบริบทพื้นที่ดังกล่าว นอกจากเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินรัฐ ได้แก่ ป่าสงวน ส.ป.ก. ฯลฯ (รอการสำรวจข้อมูล/ลงผังตำบล) แล้ว ยังเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังประจำทุกปี มีกลุ่มบ้านเช่า ครอบครัวขยาย และที่สำคัญคือบ้านหลุดจำนองหลายหลัง จากการสำรวจข้อมูล 15 ชุมชน ในพื้นที่ 2 เขตอปท. นั้น มีการตั้งกลไกในการสำรวจข้อมูลรายครัวเรือนไปแล้ว 12 ชุมชน พบผู้เดือนร้อนด้านที่อยู่อาศัยเบื้องต้น 98 ครัวเรือน เสนอเข้าแผนท้องถิ่นแล้วบางส่วน โดยคณะทำงานได้เน้นย้ำเรื่อง “การรวมกลุ่มชุมชน/พื้นที่” ที่นอกจากความร่วมใจ ต้องร่วมแรง สร้างความร่วมมือกับท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งในการรับรู้ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาตนเอง ตั้งแต่การสำรวจข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน การทำแผนที่ จนกระทั่งการรวมกลุ่มเพื่อออมทรัพย์ทุนชุมชน … จนการขยับก้าวเพื่อพัฒนาสร้างความมั่นคง
ช่วงเย็นทางคณะได้เดินทางเข้าพบนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยตามแนวโครงการบ้านมั่นคงชนบท โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ส.ป.ก. ธนารักษ์ อบจ. ทสจ. และหัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เข้าร่วมด้วย โดยนายสุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางคณะได้เข้าร่วมหารือ นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยจังหวัดเลย โดยจะใช้พื้นที่ตำบลท่าศาลานำร่องการแก้ไขปัญหาที่ดิน ทั้งนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการภายใต้อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน
ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2563 คณะทำงานพัฒนาและกลั่นกรองโครงการบ้านมั่นคงชนบท ได้ประชุมพิจารณาโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มจังหวัด จำนวน 9 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 กลุ่มจังหวัด ภาคกลางและตะวันตก 2 กลุ่มจังหวัด ภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก 2 กลุ่มจังหวัด เพื่อให้การเสริมเสริมความเข้มแข็งระดับกลุ่มจังหวัดในครั้งนี้ ได้สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงาน ที่เกิดคนทำงาน เกิดฐานระบบข้อมูล เกิดการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย ที่ตรงกับสภาพบริบทพื้นที่และแนวยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มจังหวัด สุดท้ายได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเพื่อรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนในเขตป่าฯ อุทยาน ที่จะต้องให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน (วันที่ 23 กรกฎาคม 2563) ที่จะถึงนี้ด้วย